บรรยากาศที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ ย่านสามเสน ไม่คึกคัก และเงียบเหงาตั้งแต่เมื่อเย็นวันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค.66 ที่ผ่านมา ทั้งที่ แกนนำพรรค น่าจะไปปักหลักรอลุ้นผลคะแนนเลือกตั้ง แต่กลับไม่เป็นตามนั้น ล่าสุด สถานการณ์ยิ่งตกอยู่ในภาวะที่เรียกว่าเงียบสงัด สมาชิกพรรคต่างพากัน เสียกำลังใจเมื่อพรรคพ่ายแพ้ศึกเลือกตั้งครั้งนี้แทบหมดรูป 

 ผลการเลือกตั้งทยอยออกมาอย่างไม่เป็นทางการเมือง ตั้งแต่กลางดึกของวันที่ 14 พ.ค. ชี้ชัดว่า พรรคประชาธิปัตย์ ไม่สามารถกวาดส.ส.เข้าสภาผู้แทนราษฎร ได้มากกว่าเมื่อครั้งการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 โดยในรอบนนี้พรรคทำได้เพียง 25ที่นั่ง จากส.ส.เขต 22 ที่นั่ง จากส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 3 ที่นั่งเท่านั้น !

 ผลคะแนนที่ออกมา ตอกย้ำว่า พรรคประชาธิปัตย์ ไม่เพียงแต่จะตกอยู่ในที่นั่งลำบากเท่านั้น แต่ยังเป็น สัญญาณ ที่ปลุกให้แกนนำพรรคต้องเร่ง กู้วิกฤต โดยด่วน และจากผลพวงจากความพ่ายแพ้ครั้งนี้ ทำให้ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ในฐานะหัวหน้าพรรค ประกาศ ลาออก จากหัวหน้าพรรคกลางดึกในคืนเดียวกัน โดยแจ้งข้อความผ่านไลน์ของพรรค เพื่อแสดงความรับผิดชอบ

 การลาออกของจุรินทร์ กำลังจะนำไปสู่การหา กรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ตามมา โดยตามระเบียบข้อบังคับพรรคกำหนดให้ต้องเรียกประชุมใหญ่วิสามัญภายใน 60 วันนับจากวันที่หัวหน้าพรรคลาออก ความพ่ายแพ้ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ทำได้เพียง 25ที่นั่ง กำลังชี้ว่าพรรคเดินเข้าสู่ ภาวะถดถอย อีกทั้งยังบอบช้ำจากที่ก่อนหน้านี้ ได้มีแกนนำ ทยอยลาออกแล้วไปสังกัดพรรคการเมืองใหม่ ขณะที่ล่าสุดบรรดาแม่ทัพนายกองของพรรค ต่างสอบตกด้วยกันหลายคน คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช นิพนธ์ บุญญามณี องอาจ คล้ามไพบูลย์ เกียรติ สิทธีอมร  จิตภัสร์ ตั๊น กฤดากร  วทันยา บุนนาค  สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์  สามารถ ราชพลสิทธิ์

 ส่วนส.ส.คนดัง ที่เป็นดาวเด่น ก็ยังสอบตกในเขตเลือกตั้ง ชนิดที่ช็อคความรู้สึกกันไปตามๆกัน ทั้ง ชินวรณ์ บุญยเกียรติ  สาทิตย์ วงศ์หนองเตย สาธิต ปิตุเตชะ  อลงกรณ์ พลบุตร และพิมพ์ระพี พันธุ์วิชาติกุล 
 
การประชุมใหญ่ของพรรคเพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ยังไม่ได้กำหนดวัน เวลาว่าจะมีขึ้นเมื่อใด  ขณะที่การจับขั้วตั้งรัฐบาล ของพรรคในปีกเสรีประชาธิปไตย กำลังดำเนินไปอย่างคึกคัก โดยมี พรรคก้าวไกล ในฐานะพรรคที่ได้ส.ส.เป็นอันดับ 1 ทำหน้าที่เป็น แกนตั้งรัฐบาล  แต่สำหรับพรรคประชาธิปัตย์แล้ว ไม่ว่าจะเข้าร่วมรัฐบาลหรือไม่ อาจยังไม่ใช่ โจทย์ยาก นั่นคือการแก้วิกฤตภายในพรรค ด้วยการหา ผู้นำคนใหม่ เข้ามาจัดทัพใหม่ 

 ส่วนจะมีการดึง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค กลับมา กอบกู้ตามเสียงร่ำลือก่อนหน้าหรือไม่ ยังเป็นหนึ่งในประเด็นที่ยังไม่ควรตัดออกไป !