ต่อเนื่องจากฉบับที่แล้ว เรื่อง“ภาษาการเมือง(ที่เข้าใจว่ายังสับสนกันอยู่เกี่ยวกับอุดมคติทางการเมือง)” ตามทัศนะของ พระธรรมโกศาจารย์ พุททาสภิกขุ ที่ได้แสดงเอาไว้ในการอบรมนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มพุทธศาสตร์ เรื่อง “ภาษาเกี่ยวกับการเมือง” (https://pagoda.or.th/buddhadasa/20230330.html) ดังได้นำความมาเผยแพร่ ดังนี้

“…4. เสรีนิยม สังคมนิยม

อันนี้คำที่ 4 ก็จะมาถึงว่าเสรีนิยมกับคำว่าสังคมนิยม พูดอย่างนี้ก็เข้าใจกันได้อย่างมากแล้ว เสรีนิยมก็เล็งถึงบุคคลเสรี สังคมนิยมนี้จะเสรีไปคนเดียวไม่ได้ ต้องเห็นแก่สังคมก่อน เพราะงั้นเสรีนิยมกับสังคมนิยมมันก็ผิดกันอยู่อย่างนี้ ซึ่งถ้าพูดขึ้นก็เข้าใจได้ทันที เสรีนิยมคือชั้นๆๆๆ เอาอย่างไรได้อย่างนั้น พูดได้ตามใจคือไทยแท้ ระวังนะมันจะบ้า ถ้ามันเสรีขนาดนั้นมันจะบ้า มันไม่เห็นแก่ส่วนอื่นแล้ว มันเอาแต่เห็นแต่ฉันคนเดียว เห็นแก่เสรีภาพที่เมามาย

ที่จริงคำว่าเสรีนี้เป็นคำที่ประเสริฐสูงสุดในพระพุทธศาสนา เรามาใช้กับประชาชน ปุถุชนที่มีกิเลสหนา มันก็เป็นอันตราย คำว่าเสรีจะใช้ได้กับพระอรหันต์ พระอรหันต์คือเป็นบุคคลที่เสรีที่สุดเหนืออะไรหมด เหนือกิเลส เหนืออะไรหมด หรือในวงการของพระอริยเจ้าเราจะใช้เสรีภาพ อย่างเสรีชนได้อย่างเต็มที่ ถ้ามันมีธรรมะ เป็นหัวใจ เป็นเลือด เป็นเนื้อ ทั้งหมด มันเสรี มันก็เสรีไปแต่ในทางถูก เพราะฉะนั้นปุถุชนที่เต็มไปด้วยกิเลสพอเสรี มันก็เสรีของกิเลส มันก็ลากพาไปลงนรก ไปลงเหว มันต้องยอมให้มีอะไรเป็นเครื่องควบคุม นี่ก็คำว่าเสรีโดยทั่วไป จิตมันอย่างนี้ก่อน ถ้าสังคมเหมือนสมัยก่อน มันผูกพันกันเป็นหมู่ ถ้าใครไปเปิดเสรีกัน มันก็คือยื้อแย่งกันเท่านั้นหนะ เพื่อไม่ให้ยื้อแย่งกัน ก็ต้องเห็นแก่ประโยชน์ เห็นแก่ความราบของหมู่ แล้วทำไปอย่างงั้น มันก็เป็นสังคมนิยม

-เสรีที่ไม่มีธรรมกำกับคือเห็นแก่ตัว

คือพูดถึงสังคมนิยม เสรีนิยม นี้ก็อย่าลืม อย่างที่เคยพูดกันแล้ว ว่าปัญหามันเกิดเมื่ออยู่กันเป็นสังคม ถ้าไม่เกิดไม่อยู่กันเป็นสังคม ปัญหาไม่เกิด เพราะงั้นหลักการมันก็ต้องมุ่งหมายที่จะแก้ปัญหาของสังคม เพราะงั้นจะต้องนิยมสังคมถือเรื่องของสังคมเป็นหลัก แทนที่จะเอาเรื่องของบุคคลคนเดียวเป็นหลัก เมื่อบุคคลคนเดียวทำ ก็ต้องทำเพื่อประโยชน์แก่สังคม ถ้าคนหนึ่งเป็นหน่วยหนึ่งของสังคมที่ดี มันก็กลายเป็นสังคมที่ดีขึ้นมา ถ้าปล่อยไปตามธรรมชาติของบุคคลที่มีกิเลสแล้วมันจะเสรีอย่างนั้นไม่ได้ มันต้องมีหลักเกณฑ์ มีธรรมมะ มีอะไรเข้ามาเป็นเครื่องกำกับ

ถ้าประชาธิปไตยมันจึงมีความหมายไปทางที่เห็นแก่สังคม ไม่ใช่เห็นแก่เสรีชนคนหนึ่งหนึ่ง เดี๋ยวนี้ปัญหาก็เกิดขึ้นมาก วิกฤตการณ์กำลังเกิดขึ้นมาก อาชญากรรมกำลังเกิดขึ้นมากเต็มไปหมด เพราะงั้นเป็นเสรีในส่วนบุคคลที่ยังไม่รู้อะไร มีการศึกษาไม่พอ มีธรรมะไม่พอ ถ้านิยมกันอย่างนี้ มันก็เป็นเสรีที่เป็นของเอกชนที่ยังไม่รู้อะไร มันก็จะน้อมไปในทางเห็นแก่ตัว

เพราะฉะนั้นจำคำว่าเห็นแก่ตัวไว้ด้วย คำนี้คืออันตรายสูงสุดของมนุษย์ทั้งโลกทุกโลก ความเห็นแก่ตัวเป็นเหตุให้เกิดโลภะ โทสะ โมหะ แล้วก็ทำลายตนเองและทำลายผู้อื่น ถ้าเสรีชนมันเกิดเห็นแก่ตัว มันก็ต้องมีโลภะ โทสะ โมหะ ทำลายทั้งตนเองและผู้อื่น แล้วมันก็จะมุ่งแต่กอบโกย มันก็เสรีแบบนี้ มันก็มุ่งกันแข่งขัน กอบโกย ใครแพ้ก็จนไป ใครชนะ ก็ร่ำรวยไป ถ้าเสรีแบบที่ให้กิเลสเสรีอย่างนี้ ไม่ใช่…” (อ่านต่อฉบับหน้า)