ทีมข่าวคิดลึก
จังหวะเหตุการณ์บ้านเมือง ยังคงเดินหน้าไปตามกรอบและโรดแมป ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ได้วางเอาไว้ ทั้งในประเด็นเรื่องของการบริหารประเทศ ตลอดจนความคืบหน้าในเรื่องของ "ร่างรัฐธรรมนูญ" และการเขียนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นการกำหนดกติกาใหม่ รองรับการเมือง การเลือกตั้งในครั้งหน้า
แม้ท่าทีของ "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ในยามนี้จะหลีกเลี่ยงการตอบโต้เรื่องการเมือง เนื่องจากบ้านเมืองอยู่ในช่วงของการไว้ทุกข์ แสดงความไว้อาลัยแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพสกนิกรชาวไทยทั้งประเทศยังเศร้าโศกเสียใจต่อการเสด็จสวรรคตของในหลวง รัชกาลที่ 9
แต่ถึงกระนั้นการทำหน้าที่ในฐานะฝ่ายบริหารของ พล.อ.ประยุทธ์ ตลอดจน ครม. ทั้งคณะ รวมทั้ง คสช. เพื่อดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยภายในบ้านเมือง ซึ่งดูเหมือนว่าแนวรบด้านดังกล่าวกำลังถูกท้าทายจากบุคคลบางกลุ่มบางฝ่ายที่ฉกฉวยสถานการณ์ในยามที่บ้านเมืองกำลังอยู่ในระยะของการเปลี่ยนผ่านสร้างความวุ่นวาย ใช้ "สงครามข่าว"เผยแพร่ข้อมูล สร้างความเข้าใจผิดให้เกิดขึ้นในสังคมอย่างต่อเนื่อง
ทั้งการแสดงความเห็นในลักษณะพาดพิงสถาบัน การสร้างข่าวลือทั้งที่เกี่ยวข้องกับความสงบเรียบร้อย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เมื่ออาศัยความรวดเร็วของเทคโนโลยีการสื่อสารผ่านโลกโซเชียล ส่งผลให้ข้อมูลอันเป็นเท็จกระจายไปอย่างรวดเร็วสร้างความตื่นตระหนกให้เกิดขึ้นในสังคม
ล่าสุด "พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง"รองนายกรัฐมนตรีในฐานะกำกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมออกมาระบุว่า ได้หารือกับผู้บริหารกูเกิลและยูทูบ ประจำประเทศสิงคโปร์ เพื่อขอความร่วมมือและหารือถึงแนวทางการแก้ปัญหาเว็บไซต์ หรือการโพสต์ที่หมิ่นสถาบันเบื้องสูง ทั้งนี้ทางกูเกิลและยูทูบให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
นอกจากนี้ยังพบว่าการทำงานของหน่วยงานด้านความมั่นคงทั้งในส่วนของรัฐบาล และ คสช. เองที่แม้จะมีกลไกครอบคลุม และมีอำนาจในมือ แต่กลับต้องรับมือกับปัญหาความเห็นต่างของกลุ่มบุคคลที่ต่อต้าน คสช. ภายในประเทศไทย ด้วยเช่นกัน อย่างกรณีที่ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง ออกแถลงการณ์ขอให้ยุติการตรวจค้น จับกุมคุมขังนักศึกษาและเยาวชนจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยพลการ ลงวันที่ 20 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยอ้างว่าตั้งแต่ต้นเดือน ต.ค. ที่ผ่านมาได้มีการตรวจค้น จับกุม คุมขังนักศึกษาและเยาวชนจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ในเขตกรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง ในช่วงวันที่ 10-15 ต.ค. เจ้าหน้าที่ได้สนธิกำลังตรวจค้นจับกุมนักศึกษาและเยาวชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่พักอาศัยย่านมหาวิทยาลัยรามคำแหง รวม 44 คน ก่อนที่จะปล่อยตัวไปโดยไม่มีการแจ้งข้อหา จากนั้นเมื่อวันที่ 19 ต.ค. เจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจค้นและควบคุมตัวนักศึกษาและเยาวชนจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ย่านรามคำแหง 2 คนในช่วงบ่ายและ 5 คน ในช่วงค่ำ ซึ่งมีแนวโน้มจะขยายวงกว้างขึ้น
แน่นอนว่าในข้อเท็จจริงแล้วการตรวจค้นในจุดที่เครือข่ายนักวิชาการฯ ระบุถึงนั้น คือหนึ่งในเป้าหมายของหน่วยงานด้านความมั่นคง เพื่อป้องกันการก่อวินาศกรรมในโอกาสครบรอบการสลายการชุมนุมที่อำเภอตากใบในวันที่ 25 ต.ค.นี้ นั่นหมายความว่าการตรวจค้นย่อมไม่สามารถ "ยุติ" หรือ "ให้ปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข" ตามที่เครือข่ายนักวิชาการฯออกมาเรียกร้องแต่อย่างใด
ข้อเรียกร้องและการแสดงออกจากบุคคลและกลุ่มบุคคลที่มีความเห็นต่างในอุดมการณ์ทางการเมือง มีความเห็นต่างกับประชาชนในประเทศที่ว่าด้วยสถาบัน ไปจนถึงการเลือกช่วงเวลาในการตอบโต้กดดัน คสช. กำลังดำเนินไปบนความเชื่อมั่นว่า ตนเองจะเป็นฝ่ายได้แต้ม แต่อาจลืมไปว่า แท้จริงแล้วคสช. ได้กำหนดสถานการณ์และเตรียมรับมือทุกอย่างเอาไว้หมดเรียบร้อยแล้วต่างหาก !