สมบัติ ภู่กาญจน์ ผมชวนท่านผู้อ่าน ‘พิจารณา’ พุทธศาสนา ด้วย ‘วิธีคิด’และ ‘มุมมอง’ ของคนไทยที่มีความรู้ความสามารถในอดีต ซึ่งพยายามวิพากษ์วิจารณ์และสร้างการเรียนรู้ด้านพุทธศาสนา ให้กับผู้คนและสังคมไทยมาตลอดชีวิต ตามกาละและเทศะอันเหมาะสมที่ควรกระทำ และสามารถที่จะทำได้ ตลอดมา การพิจารณาเริ่มตั้งแต่เข้าพรรษา มาจนถึงขณะนี้ก็ออกพรรษาไปแล้วเมื่อวันอาทิตย์ที่๑๖ ตค.ที่แล้วมา เวลาผ่านมาหนึ่งพรรษาเต็มๆแล้ว ก็เห็นทีจะต้องถึงบทสรุปกันเสียที ไม่มีอะไรที่จะอยู่ยงคงที่ได้ตลอดไปหรอกครับ ทุกสรรพสิ่งต้องมีเริ่มมีจบด้วยกันทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้แต่โลกใบนี้... นี่ก็หลักพุทธศาสนาเหมือนกัน ขอเริ่มตั้งแต่ประเด็นแรก พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่วิพากษ์วิจารณ์ได้ และต้องการคำวิพากษ์วิจารณ์ด้วย เพื่อปรับความเข้าใจของคนให้สอดรับกับหลักทางศาสนา ที่มองเห็นการเปลี่ยนแปลงว่าเป็นหนึ่งในสามของหลักธรรมชาติที่สำคัญ นั่นเป็นข้อคิดจากม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช คนไทยในอดีต ผู้จบการศึกษาระดับหนึ่งมาจากต่างประเทศ แล้วกลับมาใช้ชีวิตในประเทศ พยายามเรียนรู้เรื่องเมืองไทยจนได้ประสบการณ์ชีวิตเพิ่มขึ้นอีกในระดับหนึ่ง จากนั้นก็พยายามเรียนรู้หลักการทางพุทธศาสนา จนรู้มากพอที่จะแนะนำต่อให้กับคนที่คิดคล้ายกันได้ในอีกระดับหนึ่ง ผู้รู้ท่านนี้ ยืนยันว่า ศาสนาพุทธคือศาสนาที่ใช้หลักของเหตุและผลมากที่สุด และสามารถจะให้คำตอบที่สมเหตุสมผลได้กับปัญหาทุกปัญหา ขอแต่เพียงว่าให้ผู้ศึกษา พยายามศึกษาและทำความเข้าใจในแนวคิดหรือหลักที่แท้จริงของพระพุทธศาสนาให้ดี “แต่น่าเสียดายว่า ขณะที่พุทธศาสนากำลังได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นจากคนทั่วโลก คนไทยเราเองที่เกิดอยู่ในเมืองพุทธศาสนามาตั้งแต่บรรพบุรุษ กลับไปยึดแต่ศรัทธาคือความเชื่อซึ่งต่างจากความคิด และหลายความเชื่อเหล่านั้นก็ไม่ได้เป็นไปตามหลักของเหตุและผล นี่คือปัญหาอย่างหนึ่งของผู้คนในเมืองไทย” คำพูดเหล่านี้ ปรากฏในการให้ความรู้ต่อสาธารณชนอยู่บ่อยครั้ง ทั้งในงานพูดและงานเขียนของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ พร้อมกันนั้น ‘เวที’ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อการวิพากษ์วิจารณ์ภิกษุสงฆ์ให้ตระหนักใน‘วัตรปฏิบัติ’ของศาสนา ก็ปรากฏแจ้งชัดขึ้นในหน้าหนังสือพิมพสยามรัฐ เพื่อสื่อสารความคิดเห็นเหล่านี้ต่อมวลชนในสังคมไทย ขณะที่การวิพากษ์วิจารณ์พระ(บางรูปบางกลุ่ม)เป็นสิ่งที่กระทำอยู่ และการให้ความรู้ความเข้าใจต่อสาธารณชนในหลักทางศาสนาก็ยังดำเนินต่อเนื่อง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชก็ไม่เคยย่นย่อที่จะบอกผู้คน ‘ทุกภาคส่วน’ในสังคมไทยว่า หลักพุทธศาสนาสามารถจะใช้ในการปฏิบัติภารกิจทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับคนและสังคมได้ ถ้า ‘ผู้ใช้’จะรู้จักและเข้าใจหลักพุทธศาสนาให้ดี แม้แต่คำว่า “ธรรมะ”กับ “การเมือง” ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเป็นสิ่งที่เหมือนจะอยู่กันคนละขั้ว มาถึงยุคที่ค่ายสยามรัฐใส่ใจในการวิพากษ์วิจารณ์พุทธศาสนามากขึ้น สังคมไทยยุคนั้นก็ดูเหมือนจะมี พระภิกษุชื่อพุทธทาสภิกขุ กับฆราวาสชื่อคึกฤทธิ์ ปราโมชเท่านั้น ที่สร้างบทเด่นในการวิพากษ์พุทธศาสนาเด่นชัดกว่าคนอื่น โดยท่านแรกตั้งหัวข้อเทศนาชัดเจนว่า “การเมืองเรื่องธรรมะ” ส่วนคนที่สองเขียนและพูดบ่อยๆในหัวข้อเรื่อง “ธรรมะสำหรับนักการเมือง” ให้สาธารณชนสนใจ “เราสามารถใช้พุทธศาสนาหาประโยชน์ได้ทั้งนั้นแหละคุณสมบัติ” ผมยังจำได้ในการสนทนาวันหนึ่งกับอาจารย์คึกฤทธิ์ “ถ้าผู้ใช้จะรู้จักและเข้าใจพุทธศาสนาได้ดี ..... อยากจะบอกว่า ตั้งแต่สมัยสุโขทัยถึงอยุธยา เราใช้พุทธศาสนาเพื่อประโยชน์ทางด้านการปกครองมาตลอดจนถึงรัตนโกสินทร์ ในทางการเมืองนั้นไม่ต้องพูด เพราะอดีตนั้น การเมืองกับการปกครองคือสิ่งเดียวกัน.... มาถึงยุคคุณ ก็ยังใช้ได้นะ..... ถ้าใครจะรู้จักใช้และเข้าใจหลักทางศาสนาให้ถูกต้อง ประโยชน์ก็จะเกิดขึ้นได้ไม่ว่าจะในทางส่วนตนหรือส่วนรวมก็ตามที” จนถึงปลายพุทธทศวรรษ ๒๕๕๐ ผมเคยคิดเล็กๆกับตัวเองและลูกศิษย์บางกลุ่มว่า วิชาทรัพยากรมนุษย์กับวิชาโลจิสติกส์นั้น ทฤษฎีฝรั่งส่วนใหญ่สามารถดึงเข้ากับหลักทางพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าสอนมาแล้วนานกว่าสองพันปีได้เกือบทุกข้อ ถ้าใครจะขยันอ่านขยันคิดให้ดี ผมอยากปิดท้ายบทสรุปวันนี้ ด้วย คำสอนส่วนหนึ่งที่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์บรรยายวิชาพุทธศาสนาไว้ให้นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฟังในภาคการศึกษาปี ๒๕๑๘ (ก่อนหน้าที่จะโดดเข้าไปสนามการเมืองหลังเหตุการณ์๑๔ตุลาฯ)ว่า “อีกอย่างหนึ่งที่อยากให้ทราบคือ หลักของศาสนาพุทธนั้น เรื่องกรรมต้องถือเอาปัจจุบันเป็นสำคัญ เพราะอดีตเป็นเรื่องที่ผ่านพ้นไปแล้ว ถ้าเราไปทำกรรมดีหรือกรรมชั่วเข้าไว้ในอดีต เราก็ไม่สามารถจะกลับไปแก้ไขมันได้อีกแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าผลของกรรม ซึ่งไม่ว่าจะดีหรือชั่ว จะตกมาถึงเราในปัจจุบันก็ต้องคิดว่าเป็นธรรมดา แต่ถ้าเป็นกรรมในปัจจุบันแล้วเรากำหนดได้ เพราะฉะนั้นถ้าเราจะทำกรรมอันใดในปัจจุบันก็ควรจะต้องคิด-พิจารณาลักษณะของการกระทำนั้นๆให้แน่นอนเสียก่อน ว่าเป็นกรรมชั่วหรือกรรมดี ถ้าเรามั่นใจว่ากรรมที่เราจะทำในปัจจุบันเป็นกรรมดีแล้วเราก็ทำมันไป ไม่ต้องคอยนั่งห่วงอนาคตอีก เพราะมันยังมาไม่ถึง และเราก็ยังทำอะไรมันไม่ได้ แต่สิ่งที่เราทำได้คือปัจจุบัน ขอให้พิจารณาให้มากๆว่า กรรมดีกรรมชั่วคืออะไร กรรมที่เราจะทำในปัจจุบันนี้คือสิ่งที่จะส่งผลให้เกิดขึ้นในอนาคต พยายามทำกรรมดีกันไว้ให้มากๆ อนาคตที่ดีก็จะตามมาเอง” เราจะฉลองออกพรรษาปีนี้ ด้วยการมองกรรมดี-กรรมชั่ว ให้ถูกต้องสมหลักเหตุผล และด้วยมุมมองที่กว้างขวางหลายหลากมากขึ้น เพื่อให้สิ่งที่เราจะทำ-หรือไม่ทำในวันนี้ เกิดผลที่ดีในอนาคต ท่านผู้อ่านว่าดีไหมครับ? ***** ( หมายเหตุ: ผมเขียนบทความชิ้นนี้ล่วงหน้าไว้ตั้งแต่ก่อนที่เหตุการณ์โศกสลดของประเทศไทยจะเกิดขึ้นมา ตามคิวนั้นเรื่องนี้ต้องลงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แต่ด้วยสถานการณ์ดังกล่าว การเปลี่ยนแปลงลำดับได้เกิดขึ้น ผมจึงต้องขออนุญาตนำลงให้จบสิ้นในสัปดาห์นี้ครับ)