ดร.วิชัย พยัคฆโส [email protected] แม้ว่าพ่อหลวงของปวงชนชาวไทยได้เสด็จสู่สวรรคาลัยแล้วก็ตาม แต่ปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” จะยังคงเป็นปรัชญาแห่งความ “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” เคียงคู่กับการพัฒนาประเทศตลอดไป ความ “พอเพียง” ในความหมายลึกซึ้งและมีนัยสำคัญมากกว่า “ประหยัด” หรือ “เพียงพอ” และมิได้มีความหมายถึงการเกษตรพอเพียงเท่านั้น เพราะความพอเพียงมุ่งเน้นให้รู้จัก “พอ” ในชีวิต ของมนุษย์ในยุคของความสมานฉันท์ เอื้ออาทรให้แก่กัน พระองค์ท่านได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่พสกนิกรในถิ่นทุรกันดาร ทั้งชาวเขา ชาวป่า ชาวไร่ ชาวนา ได้มีอาชีพที่จะสร้างคุณภาพชีวิตของตนเองและครอบครัวโดยอาศัยความขยัน อดทน อดกลั้น ให้ชีวิตมีความพอเพียงตามฐานของตนเอง มิให้เกิดความโลภ ความหลงในความเพียงพอ ซึ่งไม่รู้ จักพอ จนเกิดการแย่งชิง เอาเปรียบซึ่งกันและกัน จนเกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย กรุงศรีอยุธยาแตกถูกศัตรูภายนอกเผาบ้านเผาเมืองเพราะความแตกแยก ไม่สามัคคีของผู้คนสมัยนั้น แต่บ้านเมืองเราถูกเผาทำลายด้วยคนในชาติของเราเอง เป็นเรื่องที่ไม่ควรจะเกิดกับสังคมไทย อาจอนุมานได้ว่า เป็นเพราะอยากจะได้อำนาจทางการเมืองที่เกินความพอเพียง ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ท่าน ที่มิได้มีความหมายเฉพาะด้านเศรษฐกิจเท่านั้น ความไม่พอเพียง เพื่อหวังความเพียงพอมากกว่านั้น จึงเกิดความโลภ ช่วงชิงผลประโยชน์ ลามปามไปถึงการทุจริตคอรัปชั่น เพื่อสร้างความเพียงพอของตน หรือของหมู่คณะ เป็นมะเร็งร้ายมาจนถึงปัจจุบัน ข่าวคราวของการไม่เห็นด้วยของผู้ใช้แรงงานที่จะมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำไม่เท่าเทียมกัน ทุกจังหวัด หลายจังหวัดไม่ได้รับการปรับ บางจังหวัดปรับไม่กี่บาท โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนใต้ได้รับการปรับน้อยที่สุด เพราะผู้ใช้แรงงานต้องการวันละ 360 บาท เท่ากันทุกจังหวัด เหตุผลของแต่ละฝ่ายแต่ละด้าน อาจมีเหตุผลและเป้าหมายที่แตกต่างกัน ทั้งในเชิงวิชาการและความเป็นจริง น่าจะต้องมานั่งจับเข่าพูดคุยกันให้เข้าใจของแต่ละฝ่าย ประสานรอยร้าวเล็กๆไว้ มิให้ขยาย วงกว้าง ที่อาจนำไปสู่ความร้าวฉานของสังคมไทยในยุคที่ต้องการรู้จักเติม รู้จักให้ รู้จักอาทร ซึ่งกันและกัน เพื่อผนึกกำลังสร้างชาติบ้านเมือง ด้วยยุทธศาสตร์ชาติที่ต้องการความสมดุลในการพัฒนารอบด้าน หากทุกฝ่ายยึดมั่นในปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ของพ่อหลวงเป็นเป้าหมาย จะช่วยให้ความต้องการใดๆ ได้รู้จักพอ รู้จักใช้ รู้จักการแบ่งปัน นั่นคือ ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ของประเทศไทย