บทบาทของ ลุงป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ  ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรค ที่ชูประเด็น ก้าวข้ามความขัดแย้ง พร้อมทำหน้าที่เป็นเสมือน โซ่ข้อกลาง นักประนีประนอม ประสานได้ทุกทิศ เหมือนกับที่ บิ๊กจิ๋ว พล.อ.ชวลิตร ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี เคยดำเนินมาก่อน ในอดีต อาจมีน้ำหนักที่ลดน้อยลงไปโดยปริยายหรือไม่ ในจังหวะที่ สองขั้วการเมือง ทั้ง ฝั่งอนุรักษ์นิยม กับ เสรีประชาธิปไตย กำลังฟาดฟันกันอย่างดุเดือด


 ท่ามกลางบรรยากาศการหาเสียงในช่วงโค้งสุดท้าย ก่อนถึงวันเข้าคูหา 14 พ.ค.66 เหลือเวลาอีกเพียง 3 วัน ทุกพรรคเดินสาย รณรงค์ ขอคะแนนพี่น้องประชาชน ไปพร้อมๆกับการขึ้นเวทีปราศรัย จาก บิ๊กเนม จากแคนดิเดตนายกฯ แต่ละพรรค เพื่อหวังกวาดแต้มทั้งส.ส.เขตและส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์  


 พรรคเพื่อไทย ที่วันนี้ต้องเร่งปรับกลยุทธ์เพื่อพลิกเกมสู้ ดิ้นหนี การถูก รุก  จาก พรรคก้าวไกล ที่ไล่จี้หลังด้วยกระแสความนิยมจาก คนรุ่นใหม่ ที่กลายเป็นเอฟซีขยายแนวคิดไปสู่คนรุ่นเก่าในครอบครัว  บนความคาดหวังว่า พรรคเพื่อไทยจะสามารถทำหน้าที่ แกนนำตั้งรัฐบาล ในฟากพรรคการเมืองฝ่ายเสรีประชาธิปไตย 


 ขณะที่พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มี บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  แคนดิเดตนายกฯ กำลังเทสรรพกำลังลงไปยังพื้นที่ เป้าหมาย โดยเฉพาะในภาคใต้ และ กทม. ซึ่งคาดหวังว่า จะต้องได้ ส.ส.เป็นกอบเป็นกำ โดยมีกระแส ลุงตู่ ช่วยดึงผู้สมัคร ให้เข้าสภาฯ 


 แต่ดูเหมือน ว่า ในส่วนของ ลุงป้อม พล.อ.ประวิตร เอง ที่จะยังคงมีโปรแกรมไปหาเสียงในต่างจังหวัด และบ่อยครั้งที่บิ๊กป้อมเอง ไปเดินพบปะประชาชน ตามที่ต่างๆในกรุงเทพฯอย่างสบายใจ คล้ายกับว่าพล.อ.ประวิตร มั่นใจในกระแสและ ตัวเลขส.ส.ที่จะเข้าสภาฯ ของพรรคพลังประชารัฐแล้วว่าจะอยู่ที่เท่าใด !


 ยิ่งท่าทีของพล.อ.ประวิตร ไม่ร้อนรน หรืออยู่ในอาการร้อนใจมากเท่าใด อาจทำให้ถูกตีความว่า วันนี้พรรคพลังประชารัฐ ของบิ๊กป้อม รู้แล้วใช่หรือไม่ว่าเขาเองจะเล่นบทไหน  หมายความว่าบท ผู้จัดการรัฐบาล คือเกมที่จะเล่นเป็นภาคต่อ หลังวันเลือกตั้ง 14 พ.ค.66 นี้ผ่านพ้นไป


 การได้ตัวเลขส.ส.ไม่มากและไม่น้อยจนเกินไป อาจยังไม่เท่ากับ บทบาท ในฐานะผู้จัดการรัฐบาล ที่พาพรรค พาตัวเองเข้าไปอยู่ในทุกสูตรของการจัดตั้งรัฐบาล ไม่ว่าจะอยู่ในปีกอนุรักษ์นิยมหรือขั้วเสรีประชาธิปไตย ! 
 //////////