ต่อเนื่องจากฉบับที่แล้ว เรื่อง “ภาษาการเมือง (ที่เข้าใจว่ายังสับสนกันอยู่เกี่ยวกับอุดมคติทางการเมือง)” ตามทัศนะของ พระธรรมโกศาจารย์ พุททาสภิกขุ ที่ได้แสดงเอาไว้ในการอบรมนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มพุทธศาสตร์ เรื่อง “ภาษาเกี่ยวกับการเมือง” (https://pagoda.or.th/buddhadasa/20230330.html) ดังได้นำความมาเผยแพร่ ดังนี้

…2. ประชาธิปไตย

ทีนี้คำพูดที่สอง ก็อยากจะพูดถึงคำว่าประชาธิปไตย อย่างที่ได้กล่าวมาแล้วว่า มันเป็นภาษาไทยที่ถอดออกมาจากภาษาบาลี ประชาธิปไตยก็แปลว่ามีประชาชนเป็นใหญ่ ซึ่งหมายถึงมีพลเมืองเป็นใหญ่ มันก็ยังไม่แน่ว่าจะเป็นการเมืองชนิดสกปรก หรือว่าเป็นการเมืองศีลธรรม แล้วแต่ว่าคนแต่ละคนนั้นมันเป็นคนดีหรือเป็นคนบ้า มันเป็นคนที่มีการศึกษาหรือว่ามันเป็นคนไร้การศึกษา ถ้าประชาชนไร้การศึกษาหรือเป็นคนบ้า ระบบประชาธิปไตยมันก็บ้า ทีนี้มันก็ใช้ไม่ได้ มันจึงขึ้นอยู่กับที่ว่าประชาชนนั้นมีศีลธรรมหรือไม่ ถ้าไม่มีศีลธรรม มันก็ไม่มีการเมืองที่จะขจัดปัญหาต่างๆได้

-ประชาธิปไตยเพ้อ

เดี๋ยวนี้เราพิจารณาดูกันแล้วจะเห็นได้ว่าทั่วทั้งโลกมันมีประชาธิปไตยเพ้อ และมีประชาธิปไตยเฟ้อ คำว่าเพ้อนี่คือทำตามๆกันไปอย่างงมงาย ไม่มีเหตุผลอันแท้จริง ไม่มีรากฐานอันแท้จริง แม้จะเกิดแต่ที่จะกล่าวว่าการเมืองคือศีลธรรม น้อยคนที่จะมองเห็นว่าการเมืองนั้นคือศีลธรรม เพราะเค้าใช้การเมืองในฐานะที่เป็นเครื่องมือแสวงหาประโยชน์ หรือกอบโกยประโยชน์ให้แก่พวกตัว หรือว่าประเทศของตัว ที่ประชุมการเมืองใหญ่ของโลก ไปดูให้ดี อย่าออกชื่อเลย ถ้าไปดูให้ดี ก็จะเห็นว่า มันเป็นที่ที่ชิงหาโอกาสเพื่อกอบโกยประโยชน์ให้แก่ประเทศของตัว มากกว่าอย่างอื่น มันจึงใช้ให้กำหนดประโยชน์

ที่นี้พอว่าประชาธิปไตยมันก็เป็นความหมายที่เพ้อตามๆ กันไป เพราะว่าคนมันเอือมการที่จะมีการปกครองแบบที่บังคับบัญชาหรืออยู่ในขอบเขตหรือขอบวงของศีลธรรม พูดง่ายๆ คนมันเบื่อศาสนา เบื่อพระเจ้ามากกว่า มันก็เบื่อศีลธรรมที่จะจำกัดเขตให้คนประพฤติปฏิบัติ มันทำอะไรไม่ได้เป็นอิสระ

ถึงกระทั่งว่าเบื่อการปกครองแบบราชาธิปไตย นี้มันเพ้อ เพ้อฝัน ราชาธิปไตยถ้าประกอบไปด้วยศีลธรรมแล้วจะดีกว่าประชาธิปไตยเสียอีกเพราะมันไม่งุ่นง่าน ที่มันเพ้อต่อประชาธิปไตย มันก็ไม่เข้าใจคำว่าศีลธรรม…” (อ่านต่อฉบับหน้า)