ทองแถม นาถจำนง
เนื้อหาในภาพยนตร์เรื่อง “ราโชมอน” ของ คุโรซาว่า นั้นดัดแปลงจากเรื่องสั้นชื่อ “ในป่าละเมาะ” ส่วนชื่อเรื่องนั้นนำมาจากชื่อเรื่องสั้น “ราโชมอน” เรื่องสั้นทั้งสองเรื่องเป็นผลงานของ รีวโนะซุเกะ อะกุตะงะวะ
รีวโนะซุเกะ อะกุตะงะวะ
เรื่องสั้นชื่อ “ในป่าละเมาะ” อะกุตะงะวะ รีวโนะซุเกะ นำนิทานโบราณที่เล่าสืบต่อกันมาปากต่อปากเป็นโครงเรื่องหลัก และสอดแทรกคำสอนทางศาสนาลงไปในเรื่อง ตัวละครได้เข้ามานั่งผิงไฟหลบฝน ก่อนที่จะมีคนเปิดประเด็นชวนพูดคุยถึงคดีฆาตกรรมที่แต่ละคนได้ไปพบเห็นมาเหมือนกันเมื่อตอนกลางวัน แต่แล้วความจริงที่ควรจะมีเพียงหนึ่งจากเหตุฆาตกรรมเดียวกัน กลับกลายเป็นว่ามีถึงสามเรื่อง จนนำไปสู่การสนทนา เพื่อถกหาความจริง ซึ่งการเล่าเรื่องของตัวละครแต่ละคนก็แสดงให้เห็นถึงบทบาท หน้าที่ รวมทั้งจิตใต้สำนึกของตัวละครที่มีฐานะทางสังคมแตกต่างกัน
ส่วน “ราโชมอน” ภาษาไทยนั้นผ่านการเรียบเรียงเพิ่มเติมของ “คึกฤทธิ์ ปราโมช”
“ราโชมอน เป็นชื่อประตูเมือง เกียวโต นครหลวงของญี่ปุ่นสมัย เฮอัน ในช่วงปี ค.ศ. 789 – 1185 เป็นประตูที่มีอยู่จริง ในชื่อเดิมว่า Raseimon หรือ Rajomon นักวิชาการบอกว่า ประตูราโชมอนสร้างเลียนแบบประตูเมืองฉางอันของประเทศจีน สารานุกรมญี่ปุ่นบางเล่มกล่าวว่า ประตูนี้ถูกพายุพัดพังในปี ค.ศ. 816 แต่ได้รับการสร้างขึ้นมาใหม่ ฐานประตูยังคงมีให้ เห็นอยู่จนประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 17
นิยายเรื่องราโชมอน ของญี่ปุ่นเขียนโดย อะกุตะงะวะ รีวโนะซุเกะ (ค.ศ. 1892 – 1927) นักเขียนที่อายุสั้น ปลิดชีวิตตัวเอง ในวัย 35 ปี ด้วยปัญหาสุขภาพที่ทรุดโทรมลงเรื่อยๆ และ สภาพจิตใจที่คอยเฝ้าหวาดระแวงว่าตนจะกลายเป็นคนสติฟั่นเฟือน เหมือน ที่แม่ของเขาเคยเป็น หลังจากที่ให้กำเนิดเขาได้ไม่นานนัก แต่อะกุตะงะวะ ก็ได้สร้างผลงานฝากไว้หลายเรื่อง จากการที่เขาเป็นนักอ่านตัวยง ทั้งวรรณคดีญี่ปุ่น จีน และ ตะวันตก ดังนั้น เมื่อตอนที่ศึกษาวรรณคดีอังกฤษ อยู่ที่มหาวิทยาลัยโตเกียว เขาก็เริ่มงานเขียนเรื่องสั้นออกมาหลายเรื่อง งานจำนวนมากรวบรวมจากนิทานโบราณ โดยนำมาเขียนในภาษาที่ทันสมัยขึ้น ในยุคนั้น ด้วยลักษณะที่สละสลวย เนื้อเรื่องชวนติดตาม และให้มุมมองที่ตีแผ่ส่วนลึกในจิตใจคน
สำหรับราโชมอน ฉบับภาษาไทยนั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้แปลและดัดแปลง เป็นบทละครเวที ในปี พ.ศ. 2508 และได้มีการแสดงหน้าพระที่นั่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ ณ หอประชุมมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ในวันที่ 10 มีนาคม ในปีนั้นด้วย
…ราโชมอน เป็นเรื่องราวคดีฆาตกรรม ที่เกิดบริเวณประตูราโชมอน เริ่มต้นด้วย การเดินทางในป่าของซามูไร และ ภรรยา ในระหว่างทาง เกิดไปพบโจรในป่า โจรคนนี้ชื่อ ตาโจมารุ โจรบอกว่าเรื่องเกิดเพราะลมพัดเพียงวูบเดียว ผ้าบางเบาที่ปิดหน้า ภรรยา ของซามูไร เปิดให้เห็นใบหน้าขาว ของเจ้าหล่อนเข้า จากนั้นก็ออกอุบาย บอกกับซามูไรว่า จะมีดาบเก่า จะขายให้ในราคาถูกๆ หากสนใจให้เข้าไปดูของในป่าที่ลึกเข้าไป ซามูไร หลงกล ก็เดินเข้าด้วยกันในป่านั้น ในยามที่มิทันระวังตัวซามูไร ก็ โดนโจรจับมัดไว้ที่ต้นไม้ จากนั้นโจรก็เดินออกมาเพื่อหลอกล่อภรรยาสาวของซามูไรเข้าไปในป่านั้น….
ภริยาสาว เห็นท่าไม่ค่อยดี จึงคิดว่าเกิดเรื่องกับสามีของตัวเองแน่ จึงวิ่งร้องหาสามีเข้าไปในป่าที่เขาถูกจับมัดอยู่
… ตาโจมารุ คิดจะลวนลามเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่อาการริษยา ที่เห็น หญิงสาว เป็นห่วงสามี ดังนั้น จึงปล่อยให้เธอวิ่งเข้าไปเพื่อพบสภาพสามีที่ คิดจะหยามเกียรติซามูไร ต้องการให้ภริยาเห็นสามีของตัวถูกมัด
… ขั้นที่สอง ต้องการข่มเหงสตรี ต่อหน้าสามี เป็นการทำร้ายจิตใจ ซามูไร สรุปง่ายๆ ว่าต้องการ สร้างแผลใจให้ สามีภรรยาคู่นี้ อาจเพื่อความสะใจส่วนตัว ชดเชยสิ่งที่ตัวเองขาด ในที่สุด ตาโจมารุ ก็ทำสำเร็จ ทั้งสองอย่างค่ะ
แล้วเรื่องก็มาจบตรงที่ ซามูไรตาย ในกอไผ่ ด้วยดาบตัวเอง แต่หาตัวฆาตกรไม่พบ และ ไม่พบอาวุธในที่เกิดเหตุ
ในฉบับของ มรว.คึกฤทธิ์ บอกว่า คนที่มาพบศพคือ คนตัดฟืน แล้วก็ ไปแจ้งตำรวจ จากนั้น ผู้อยู่ในเหตุการณ์ก็ถูกเรียกมาสอบปากคำ คือ ตาโจมารุ , ภรรยาซามูไร และ นอมินีของซามูไร นั่นคือ ร่างทรงค่ะ เพราะซามูไรตายแล้ว ต้องอาศัยร่างทรงมาให้ปากคำแทนค่ะ อ้อ... มีพระญี่ปุ่นมาอีก 1 คน เพื่อเป็นพยานด้วยค่ะ ทั้งสามคนต่างให้การตรงกันว่า ตัวเองเป็นคนฆ่า ซามูไร ในหนังจบแบบนี้” (บทความเรื่อง “ราโชมอน ผีกับคนใครหลอกเก่งกว่ากัน” จาก http://nonlaw.7forum.net/t473-topic ) ส่วนเพิ่มเติมในเนื้อหา “ราโชมอน ภาษาไทย” ของ “คึกฤทธิ์ ปราโมช” ได้เล่าไปแล้วในบทความก่อนหน้านี้
เรื่องย่อของนิยาย “ในป่าละเมาะ” niranarm natanon เล่าไว้ในบทความเรื่อง บทตีความเรื่องสั้น "ในป่าละเมาะ" (ต้นเรื่องเดิมของภาพยนตร์ "ราโชมอน")ดังนี้
“ตัวเรื่องสั้นไม่ได้เล่าเรื่องในรูปแบบปกติของเรื่องสั้นทั่วไป หากดำเนินเรื่องในรูปแบบคำบอกเล่าของตัวละครจำนวนหนึ่งเกี่ยวกับคดีซามูไรคนหนึ่งตายในป่าละเมาะเมืองเกียวโต คำบอกเล่าของตัวละครกลุ่มแรกเป็น "คำให้การ" ต่อเจ้าหน้าที่พิทักษ์เมือง แต่ตัวละครกลุ่มนี้ไม่ได้เห็นเหตุการณ์สำคัญในป่าละเมาะ หากแต่เห็นผู้ตายและผู้ต้องสงสัยก่อนหน้าหรือหลังจากเหตุการณ์ในป่าละเมาะเกิดขึ้นไปแล้ว
ส่วนคำให้การของตัวละครกลุ่มหลังเป็นคำบอกเล่าของ "ผู้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์โดยตรง" ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ในป่าละเมาะขึ้นมา ได้แก่ โจรชื่อ "ทาโจมารุ" และภรรยาของซามูไรผู้ตาย ผู้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ทั้งสองคนนี้ต่างเล่าเหตุการณ์ช่วงแรกตรงกันว่า โจรได้ชวนซามูไรไปดูของมีค่าในป่าละเมาะ ภรรยาซามูไรรออยู่นอกดงไม้ จากนั้นโจรกลับออกมาคนเดียวแล้วลวงภรรยาซามูไรเข้ามาในดงไม้เพื่อข่มขืนต่อหน้าสามีที่ถูกมัดอยู่กับโคนต้นสน หลังจากนี้จะเป็นเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับผลกระทบและปฏิกริยาท่าทีของเหยื่อผู้ถูกข่มขืนกับโจรผู้ข่มขืน ซึ่งทั้งสองฝ่ายเล่าอย่างแตกต่างกันมาก โดยโจรเล่าว่าภรรยาซามูไรคลุ้มคลั่งเข้ามากอดแขนโจรและร่ำร้องว่า มีผู้ชายสองคนเห็นความอัปยศของนาง นางต้องการให้หนึ่งในสองคนตายไปเสีย แล้วนางจะอยู่กินฉันสามีภรรยากับผู้รอดชีวิต โจรอ้างว่าเป็นข้อเรียกร้องที่โดนใจ จึงแก้มัดซามูไรและดวลดาบกัน โจรดวลชนะโดยสามารถแทงอกซามูไร แต่ภรรยาของซามูไรอาศัยจังหวะที่ทั้งสองดวลดาบหนีไปจากป่าอย่างไร้ร่องรอย
แต่ภรรยาซามูไรเล่าเหตุการณ์แตกต่างออกไปว่า หลังจากตนถูกข่มขืนแล้ว โจรก็หัวเราะเย้ยหยันซามูไรผู้เป็นสามีของนาง นางมองสามีด้วยความห่วงใยอาทร แต่สามีกลับมองนางอย่างรังเกียจชิงชัง จากนั้นนางสลบไปครู่หนึ่ง เมื่อตื่นขึ้นมาก็พบว่าโจรหายไปแล้ว จึงได้เข้าไปพูดกับสามีซึ่งยังคงมองนางอย่างดูถูกเหยียดหยามว่า นางตัดสินใจที่จะตายเพื่อล้างความอัปยศ และสามีผู้ซึ่งเห็นความอัปยศของนางควรตายไปพร้อมกับนางด้วย นางใช้ดาบสั้นของตนแทงอกสามีก่อน หลังจากนั้นนางพยายามฆ่าตัวตายตามไปหลายวิธีแต่ไม่สำเร็จ
เรื่องราวเข้มข้นขึ้นเมื่อมีการเข้าทรงเรียกวิญญาณซามูไรผู้ตายออกมาเล่าเรื่องจริงๆ ที่ตนเองเสียชีวิต วิญญาณซามูไรผู้ตายเล่าเรื่องที่แตกต่างออกไปอีกโดยเล่าช่วงหลังจากโจรข่มขืนภรรยาของเขาว่า โจรเกลี้ยกล่อมให้นางมาเป็นเมียโจรโดยชี้ว่านางมีมลทินแล้วจึงไม่สามารถอยู่กินกับสามีได้อีกต่อไป ในที่สุด นางตกลงใจไปกับโจร ขณะที่ทั้งสองกำลังไปด้วยกัน นางก็คลุ้มคลั่งร้องตะโกนขึ้นมาว่า ให้ฆ่าสามีนางเสีย นางไม่สามารถร่วมชีวิตกับโจรได้ถ้าตัวข้า (ซามูไร) ยังมีชีวิตอยู่ โจรหน้าถอดสีและนิ่งจ้องนางครู่หนึ่งก่อนจะถีบนางลงไปนอนกับพื้น แล้วเข้ามาถามข้าว่า จะให้เขา (โจร) ฆ่านางหรือปล่อยไปดี แต่นางอาศัยจังหวะนี้ชิงลุกวิ่งหนีเข้าไปในป่า โจรวิ่งตามไปแต่ไม่ทัน จึงกลับมาตัดเชือกที่มัดข้า แล้วหลบฉากหนีไป ข้าใช้ดาบสั้นของภรรยาข้าที่ตกอยู่ที่พื้นแทงอกตัวเองฆ่าตัวตาย ... แล้วเรื่องสั้น "ในป่าละเมาะ" ก็จบลงตรงนี้”
คุณ niranarm natanon วิจารณ์เรื่อง “ในป่าละเมาะ” ไว้อย่างน่าคิดว่า
“"ปรากฏการณ์ราโชมอน" (หรือปรากฏการณ์ในเรื่องสั้น "ในป่าละเมาะ") เป็นเรื่องบอกเล่าที่เกิดจาก "ผู้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์" โดยตรง มิใช่เรื่องบอกเล่าจาก "ผู้สังเกตเหตุการณ์" ที่อยู่รอบนอก ผู้ตีความมองว่า อะคุตะงะวะ ตั้งใจนำเสนอ "เหตุการณ์แบบปิด" โดยตัด "ผู้สังเกตเหตุการณ์" ออก เขาจำลองสถานการณ์ชนิดหนึ่งจากสองชนิดที่มักเกิดขึ้นเสมอๆนั่นคือ เหตุการณ์แบบมีผู้สังเกตการณ์ (เหตุการณ์แบบเปิด) กับ เหตุการณ์แบบไร้ผู้สังเกตการณ์ (เหตุการณ์แบบปิด) ซึ่งเหตุการณ์ทั้งสองชนิดนี้มักจะให้ "เรื่องบอกเล่า" ที่มีคุณภาพแตกต่างกัน
เหตุการณ์ "ในป่าละเมาะ" ซึ่งเป็น "เหตุการณ์แบบปิด" มี "ผู้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์" อยู่ สามคน และสามคนนี้เท่านั้นที่จะสามารถเล่า "รายละเอียด" ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ จะว่าไปแล้ว "เหตุการณ์แบบปิด" ก็คือเหตุการณ์ที่ "ไม่มีพยานบุคคล" นั่นเองและเป็นสิ่งที่เกิดเป็นประจำทุกวี่ทุกวันในชีวิตจริง....
เรื่องสั้น "ในป่าละเมาะ" ได้ย้ำเตือน-ตอกย้ำอีกครั้งว่า สำหรับ "เหตุการณ์แบบปิด" แล้ว จะไม่มีใครสามารถบอกเล่าเหตุการณ์ได้ เว้นแต่ "ผู้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์" จะเปิดปากบอกเล่าเท่านั้น แต่แม้ว่า เขา/เธอ จะเปิดปากเล่า ก็ใช่ว่า สิ่งที่บอกเล่าออกมานั้นจะเชื่อถือได้ หรือเชื่อถือได้เต็มที่ หรือเชื่อได้ 100% เพราะอย่างดีที่สุดของที่สุดก็คือเชื่อได้ 99 % โดยอีก 1 % เป็นค่าเผื่อสำหรับความไม่นอนของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า "มนุษย์" นั่นเอง [ข้อย้ำเตือนนี้ ใช้กับ "คำบอกเล่า" ที่ถ่ายทอดออกมา มิได้ใช้แก่ "หลักฐานต่างๆ" เช่น หลักฐานเอกสาร หลักฐานทางชีวภาพ เป็นต้น เพราะ โดยทั่วไปแล้ว มันเป็นสิ่งที่โกหกไม่เป็น แต่มันสามารถเล่าเรื่องได้แคบๆหรือบางส่วนของเหตุการณ์ ตามลักษณะของมัน]
โดยปริยาย เรื่องบอกเล่าทอดถัดจากปากคำของ "ผู้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์" ทอดต่อๆมา จะยิ่งลดความน่าเชื่อถือลงไปเรื่อยๆ จนในที่สุดเมื่อเรื่องบอกเล่ามาถึงชาวบ้านร้านตลาดหรือเราๆท่านๆ เรื่องบอกเล่าเหตุการณ์ก็แทบจะยืนยันความน่าเชื่อถือไม่ได้แล้ว มันแทบจะกลายเป็นเรื่องบอกเล่าชนิด "เรื่องแต่ง" เหมือนอย่างเช่น นิทาน, เรื่องสั้น หรือนิยาย เพราะแต่ละทอดของการเล่าต่อมีโอกาสถูก 'ต่อเติมเสริมแต่ง' หรือตัดทอนโดยผู้เล่าได้ทุกทอด ถ้าเรื่องเล่าเหตุการณ์จะมีคุณค่าอยู่บ้าง ก็มิใช่เพื่อรับรู้เหตุการณ์จริงๆ หากแต่เป็นคุณค่าในเชิง 'อุทาหรณ์สอนใจ' เช่นเดียวเรื่องแต่งอย่างเช่นนิยาย-นิทาน
อาคุตะงะวะ เหมือนจะถามผู้อ่านตรงบรรทัดสุดท้ายของเรื่องสั้น "ในป่าละเมาะ" ว่า คุณสามารถทนความ "ไม่รู้" ในเหตุการณ์จำนวนมหาศาลที่คุณไม่เห็นได้ไหม? เรื่องสั้นใน "ป่าละเมาะ" เป็นเพียงแค่ตัวอย่างหนึ่งของเหตุการณ์มากมายนับไม่ถ้วนที่เกิดขึ้นทุกวี่ทุกวัน ซึ่งมีเพียงไม่กี่คนที่รู้เหตุการณ์จริงๆ ที่เหลืออีกหกพันกว่าล้านคนไม่รู้ และต่อให้คนที่อยู่ในเหตุการณ์มาเล่าเหตุการณ์ให้ฟัง คุณก็ไม่มีทางที่จะรู้เหตุการณ์จริงๆอย่างสมบูรณ์”
เหตุการณ์เล็ก ๆ มีคนเกี่ยวพันอยู่สามคน ยังสับสนหาคำตัดสินไม่ได้ แล้วยิ่งเรื่องประวัติการเมืองซึ่งมีคนเกี่ยวพันโดยตรง (ในระดับที่ต่างกัน)มากมายเป็นร้อยเป็นพันคน จะสรุปข้อเท็จจริงที่เป็นสัจจะได้อย่างไร ? หรือเอาเข้าจริง ๆ แล้ว “สัจจะ” ก็เป็นเพียงสิ่งที่ปัจเจกชนเลือกที่จะเชื่อ ไม่มี “สัจธรรมสัมบูรณ์” ?
ภาพจำลองประตูราโชมอน
ฉากประตูราโชมอน ในภพยนตร์ของ คุโรซาว่า ขอบคุณภาพจากopicstock.pantip.com/chalermthai/topicstock/2008/12/A7315579/A7315579.html