ตลอดทั้งวัน เมื่อ วันที่ 7 พ.ค.66 บรรยากาศการใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า ตั้งแต่เช้าจนถึง เวลา 17.00น. เป็นไปได้ความคึกคัก ทั้งในกรุงเทพฯและในต่างจังหวัดมีผู้ออกมาลงคะแนนเลือกตั้งตลอดทั้งวัน
การออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าของประชาชน จากข้อมูลของสำนักคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุว่ามีการจัดเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตเลือกตั้ง จำนวน 477 แห่ง และในเขตเลือกตั้ง 422 แห่ง จากจำนวนผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า 2,235,830 คน
การตื่นตัวของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เฉพาะวันล่วงหน้า 7 พ.ค. ก่อนถึงวันที่ 14 พ.ค.นี้กำลังสะท้อนให้เห็นว่า การรณรงค์การเลือกตั้งรอบนี้ ทั้งทางตรงและทางอ้อม จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง ไปจนถึงความเคลื่อนไหวของ "ฝ่ายการเมือง" ของแต่ละพรรค จากทุกขั้ว ไปจนถึงการเวทีดีเบต ตลอดห้วงเดือนที่ผ่านมา ล้วนแล้วแต่มีผล ให้ผู้คนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งอย่างมาก
อย่างไรก็ดีสำหรับ "นักการเมือง" แล้วพวกเขาย่อมมองลึกลงไปมากกว่าความตื่นตัวของผู้คน ที่ออกมาเลือกตั้งล่วงหน้า 7 พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อนำไปพิจารณาถึง "กระแส" ในโค้งสุดท้ายก่อนเข้าคูหา ในวันที่ 14 พ.ค.นี้ ว่า พื้นที่ใดคือ "จุดอ่อน-จุดแข็ง"
พื้นที่ใดที่ประเมินแล้วว่า "ไม่คุ้มทุน" โอกาสได้หรือไม่ได้ ที่นั่งส.ส.อยู่ตรงไหน และจุดไหน เขตเลือกตั้งใด ที่จะมั่นใจได้ว่า "บ้านใหญ่" เอาอยู่ !
สถานการณ์การต่อสู้ทางการเมืองในห้วงหลังๆ มีความผันผวนและคาดการณ์ ไม่ง่ายนัก โดยเฉพาะบ้านใหญ่ในหลายต่อหลายจังหวัด ถูก "หน้าใหม่" บุกเข้ามาท้าทาย จนต้องลุ้นว่าจะรอดจากสนามเลือกตั้งรอบนี้ได้หรือไม่ ?
พรรคเพื่อไทย เองที่ "ฝันไกล" ประกาศตั้งรัฐบาลพรรคเดียว ประกาศกวาดส.ส.เข้าสภาฯ 310 ที่นั่ง ถูกตั้งข้อสังเกตว่า หนึ่งไม่ต้องการร่วมงานกับ "พรรคก้าวไกล" และสอง คือการการันตีว่า จะสามารถ "ปิดสวิตช์ส.ว." ได้เพราะเชื่อว่า ส.ว. จะไม่กล้า หัก พรรคเพื่อไทย ในการเสนอแคนดิเดตนายกฯ
ภาวะวิสัยทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย เวลานี้แม้ด้านหนึ่งจะดูว่า ยากลำบากก็ตาม แต่หลายคนเชื่อว่า สำหรับนักการเมืองแล้ว ไม่มีการ "เล่นแผนเดียว" โดยไม่มี "แผนสำรอง"เพราะการเป็นฝ่ายค้าน 8ปีนั้นยาวนานเกินไป !