ทวี สุรฤทธิกุล

หลายคนเบื่อการเลือกตั้งครั้งนี้ว่า “ไม่มีคนดี ๆ พรรคดี ๆ ให้เลือก” แล้วจะไปเลือกตั้งทำไม?

คาถาที่ว่า “ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยคือระบอบการปกครองที่เลวน้อยที่สุด” ยังใช้ได้เหมือนกันกับการเลือกตั้งในระบอบนี้ คือ “เลือกคนที่เลวน้อยที่สุด”

ประชาธิปไตยนั้นโดยตัวของมันก็คือการปกครองโดยพวกเสียงข้างมาก ขึ้นอยู่กับว่าเสียงข้างมากที่คนส่วนใหญ่เลือกเข้าไปนั้น เป็น “มากชั่ว” หรือ “มากดี”

“มาก” ในที่นี้หมายถึงทั้ง “ตัวคน” ที่เราเลือกเข้าไป กับ “นโยบาย” คือความคิดของนักการเมืองพวกนั้น ว่าจะมีความดีหรือความชั่วมากกว่ากัน

สมมติว่าเราจะเลือกพรรคการเมืองสักพรรคหนึ่ง เริ่มต้นเราก็ต้องดูทั้งคนและนโยบายของพรรค

พรรคการเมืองบางพรรคเมื่อมองที่ตัวคนในพรรคก็พอจะมองเห็นว่ามีคนดีหรือคนชั่วอยู่ร่วมกันมากน้อยแค่ไหน

พรรคหนึ่งมีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่เป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้วกว่า 8 ปี แต่พอจะให้เป็นผู้นำในตำแหน่งหัวหน้าพรรคก็ไม่เอา คิดเอาแต่ได้ว่าถ้าปะเหมาะเคราะห์ดี พรรคนี้มีเสียงมากพอเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้ และไปรวมกับพรรคอื่นได้เสียงอีกพอประมาณ แล้วด้วยเสียง ส.ว.ที่เขาคิดว่ายังภักดีต่อเชาอีกจำนวนมาก เขาก็สามารถกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปได้อีก แม้จะไม่ครบเทอม ก็ขอเป็นให้สะใจอีกสักหน ซึ่งคนไทยก็จะได้พบกับลีลายียวนกวนประสาท แบบโนสนโนแคร์ “แล้วไง ๆ” ต่อไปอีกระยะ

พรรคหนึ่งมี “พี่ใหญ่” ที่ว่าง่ายใจถึง ยอมทุกอย่างเพื่อหนุนลูกพรรค แม้จะเหนื่อยยากเดินกระง่อกกระแง่กแจกยิ้มเป็น “แป๊ะบ้า” อยู่ทุกวันก็ยอม ลูกพรรคนั้นก็เต็มไปด้วยเสือสิงห์กระทิงแรดยุ่บยั่บ แต่แกก็อดทนอุ้มชูยอมเป็นหัวให้ เพียงเพื่อหยัดย้ำความเป็นผู้นำตลอดกาลของตัวเอง ที่คิดว่าบนแผ่นดินนี้จะมีเพียงนายทหารกี่คนที่ทำได้ หรือได้รับการยกย่องสรรเสริญถึงเพียงนี้ ร่วมกับความเชื่อมั่นว่าตนเองก็ยังมีบารมีในหมู่ ส.ว. พอที่จะเอามาล่อพรรคการเมืองบางพรรคที่มีแต่เสียง ส.ส. ให้มาตกหลุมอุ้มตัวเองขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ตำแหน่งที่ตัวเองอยากจะได้จากน้องรัก แต่โดนหักหลังมาสองสามรอบ ทีนี้เราก็จะได้นายกรัฐมนตรีที่เอาแต่ตำแหน่งไว้ประคับประคองพรรคพวกกับบริวาร แต่ถ้าใครมาถามว่าท่านจะทำอะไรหรือมีอะไรเกิดขึ้นก็จะตอบด้วยนิสัยที่เคยชินว่า “ไม่รู้ๆ”

พรรคหนึ่งประกาศอย่างมั่นใจว่าจะแลนด์สไลด์ มีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีให้สับสน เหมือนว่าไม่ได้ตั้งใจจะให้เป็นนายกรัฐมนตรีโดยตรง เพราะต้องเอาไปประเคนให้กับนายทหารบ้ายืมนาฬิกาบางคน เพื่อแลกกับการได้เป็นรัฐบาลที่ห่างเหินมานาน แต่พอเห็นท่าว่าจะเสียศูนบ์ให้กับคู่แข่งบางพรรค ก็ให้ลูกสาวเจ้าของพรรคตัวจริงที่เพิ่งคลอดหลานคนที่ 7 ออกมาพูดว่า “ไม่จริงค่ะ คนของพรรคเราต้องเป็นนายกรัฐมนตรีเอง” จนถึงขั้นมีข่าวว่ากำลังคิดจะไปเกี้ยเซียะกับพรรคคู่แข่งพรรคนั้นหลังเลือกตั้ง เพื่อสร้างแรงบีบไปยัง ส.ว.ให้หันมาสนับสนุน “ฝ่ายประชาธิปไตย”

พรรคหนึ่งที่เป็นพรรคคู่แข่งขันในฝ่ายประชาธิปไตย ที่ในช่วง 10 วันสุดท้ายก่อนวันหย่อนบัตร มีกระแสมาแรงในด้านความนิยมทั้งของพรรคและตัวคนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี ก็กำลังหลงกระแสว่าเป็นพลังบริสุทธิ์ หรือเป็นพลังที่ต้องการขับเคลื่อนไปในทิศทางนั้นจริง ๆ ซึ่งความจริงยังคงเป็นแค่ภาพลวงตา เพราะกระแสหลักที่หนุนพรรคนี้คือพวกคนรุ่นใหม่และนิวโหวตเตอร์ที่เบื่อนักการเมืองในฝ่ายอนุรักษ์มาแต่แรก ๆ หลายปีแล้วนั้น ส่วนกระแสที่มาเกิดขึ้นในช่วงหลังนี้ เป็นพวกอนุรักษ์นั่นเองที่แยกตัวด้วยความเบื่อหน่ายในนักการเมืองฝ่ายอนุรักษ์ ที่ทำท่าเป็นไม้หลักปักเลน รวมถึงที่พวกที่นิยมฝ่ายประชาธิปไตยในอีกพรรคหนึ่ง ที่ไม่อยากให้พรรคไปหนุนนายทหารตัวป้อม ๆ จึงสร้างกระแสว่าเกิดเปลี่ยนใจมาพรรคนี้

ท่านที่ติดตามการเมืองไทยในช่วงที่กำลังจะมีการเลือกตั้งนี้ คงจะพอสังเกตได้ว่า กระแสความนิยมของพรรคการเมืองมี 2 ลักษณะ

ลักษณะแรก ขึ้นอยู่กับ “จุดยืน” ของพรรค คือผู้เลือกตั้งจะมองว่าพรรคไหนมีจุดยืนอย่างไร เข้ากับความคิดของพวกเขาหรือไม่ และหากบางพรรคมีจุดยืนเปลี่ยนไปก็มีผลต่อกระแสที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย จนถึงขั้นที่บางพรรคต้องปรับเปลี่ยนจุดยืน แต่ก็สู้พรรคที่มีจุดยืนชัดเจนไม่ได้

อีกลักษณะหนึ่ง ขึ้นอยู่กับ “การเคลื่อนไหว” ของพรรค โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวที่จะจัดตั้งรัฐบาล เพราะพรรคที่มีความชัดเจนในเรื่องนี้ดูจะได้เปรียบ เช่น พรรคที่ประกาศว่า “มีลุงไม่มีเรา” จนกระทั่งพรรคที่คิดจะเอาลุงต้องรีบถอยออกมา หรือพรรคที่ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องการเข้าร่วมรัฐบาล เช่น พรรคที่วางตัวว่าจะเป็นรัฐบาลร่วมกับใครก็ได้ ก็ไม่สามารถที่จะสร้างกระแสอะไรได้ ยิ่งไปกว่านั้นต้องคอยปกป้องตัวเองเรื่องยาเสพติดบางชนิด

ผู้เขียนยังไม่พูดถึงนโยบายพรรค เพราะไม่เชื่อว่านโยบายต่าง ๆ ที่พูดออกมาในการหาเสียงนั้น เป็นนโยบายที่แท้จริง และยังมองว่าเป็น “ลมปากที่ผ่านขี้ฟันไร้การทำความสะอาด” ของนักการเมืองเท่านั้น

มีความจริงอย่างหนึ่งในทางการเมืองก็คือ “บางคนที่ดูดีขาวสะอาด ก็ต้องมาชั่วมัวหมองสกปรกทุกคน เมื่อมาเป็นนักการเมือง” อย่างที่เขาบอกว่าถ้าอยากจะรู้ว่าเรามีความชั่วอะไรบ้างก็ขอให้มาลงเล่นการเมือง ซึ่งจากข่าวสารที่ปรากฏก็ทำให้เราแทบจะไม่อยากเลือกนักการเมืองคนใด

ความจริงนั้น ในคนทั่ว ๆ ไปก็หาคนดี 100 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้ เพราะมนุษย์นั้นชอบวิพากษ์วิจารณ์ได้ทุกแง่ทุกมุม หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “นินทา” ดังกลอนสุภาษิตที่ว่า

“อันนินทากาเลเหมือนเทน้ำ               ไม่ชอกช้ำเหมือนเอามีดไปกรีดหิน

แม้แต่พระปฏิมายังราคิน                   คนเดินดินหรือจะพ้นคนนินทา”

คนที่ถูกนินทามากใช่ว่าจะชั่วมาก        บางทีมองมุมกลับก็เพราะมีคนอิจฉามากนั่นเอง !