พลตรี ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช อธิบายธรรมะสำหรับผู้ปกครองไว้ดังนี้ “ทศพิธราชธรรมทั้งสิบนั้นมีอยู่ในคัมภีร์ชาดกแห่งพระพุทธศาสนา ท่านรจนาไว้เป็นคาถาว่า ทานํ สีลํ ปริจฺจาคํ อาขฺชวํ มทฺทวํ ตปํ .......
ทานํ คือการให้ สีลํ คือการตั้งสังวรก่ายและใจให้สุจริต ปริจฮจาคํ การเสียสละ อาชฺชวํ ความซื่อตรง มทฺทวํ ความอ่อนโยน ตปํ การกระทำหน้าที่ครบถ้วนไม่เกียจคร้าน อกฺโกธํ ความไม่โกรธ อวิหํสญฺจ ความไม่เบียกเบียนมนุษย์และสัตว์ ขนฺติญฺจ ความอดทนต่อสิ่งที่ควรอดทน และ อวิโรธนํ การคิดและการกระทำที่ปราศจากอารมณ์ยินดียินร้าย กุศลสิบประการนี้ขอพระเจ้าแผ่นดินจงทรงเห็นชอบให้ดำรงอยู่ในพระสันดานเป็นนิจ พระปีติและโสมนัสไม่น้อยจักเกิดมีแก่พระองค์
ธรรมทั้งสิบประการนี้เป็นธรรมที่พระพุทธศาสนาสอนให้ตนปฏิบัติอยู่เนืองนิตย์ รวมทั้งธรรมอื่น ๆ อีกมาก แต่ที่ได้มารวมกันตั้งเอาไว้เป็นทศพิธราชธรรมนี้ น่าจะเป็นเพราะเห็นว่าเป็นธรรมที่จำเป็นของผู้ครองแผ่นดินโดยเฉพาะ
ส่วนสังคหะวัตถุ 5 ประการนั้น ได้เคยกล่าวมาแล้วว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงจับเอาชื่อยัญต่าง ๆ ของศาสนาพราหมณ์ซึ่งเป็นบาปกรรม ไม่ทรงเห็นด้วย และทรงห้ามมิให้กระทำนั้นมาดัดแปลงให้เป็นกิจการ ที่พระราชาพึงปฏิบัติ เช่นเดียวกับที่พราหมณ์ถือเป็นเคร่งครัดว่าพระราชาต้องกระทำยัญนั้น ๆ สังคหะวัตถุนั้นที่แท้จริงมีอยู่สี่ เป็นผลอีกประการหนึ่ง รวมเป็นห้า ได้แก่
สสฺสเมธํ ความรู้ในการบำรุงพืชผลในประเทศให้อุดมสมบูรณ์ เทียบได้กับอัศวเมธ คือการฆ่าม้าบูชายัญของพราหมณ์ ซึ่งครั้งหนึ่งอาจมีวัตถุประสงค์ที่จะให้มีอาหารดุดมสมบูรณ์ในประเทศ
ปุริสเมธํ ความรู้จักคนและสงเคราะห์ หรือชุบเลี้ยงคนที่ควรสงเคราะห์ เทียบได้กับปุรุษมธ คือการฆ่าคนบูชายัญของพราหมณ์
สมฺมาปาสํ ความรู้ที่จะผูกใจคนให้จงรักภักดีด้วยการปกครองที่ทำให้เกิดความสุขความเจริญทั่วไป เทียบได้กับสัมยาปราสะ ของพราหมณ์ ซึ่งเป็นยัญอีกอย่างหนึ่ง แต่รายละเอียดยังค้นไม่พบ
วาจาเปยฺยํ คำพูดที่อ่อนหวานควรดื่มไว้ในใจ เทียบได้กับวาชเปยะ คือพิธีน้ำอมฤตต่ออายุพระเจ้าแผ่นดินของพราหมณ์
ประการที่ห้านั้นเป็นผลเรียกว่า นิรัคคฬะ คือความสงบเรียบร้อยในบ้านเมืองถึงกับไม่ต้องลงกลอนประตูเรือน
ส่วนจักรวรรดิวัตรนั้น มีอยู่ในพระไตรปิฏก ทีฆนิกาย จักรวัติสูต ซึ่งทรรศนะของพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับพระเจ้าจักรพรรดิ จำแนกออกได้เป็นสิบสองข้อ ดังต่อไปนี้
1. ควรอนุเคราะห์คนภายในราชสำนักและคนภายนอก คือทหาร พลเรือน ตลอดจนราษฎรให้มีความสุข ไม่ปล่อยปละละเลย
2. ควรผูกไมตรีกับประเทศอื่น
3. ควรอนุเคราะห์พระราชวงศานุวงศ์
4. ควรเกื้อกูลพราหมณ์ คฤหบดี และคฤหบดีชน
5. ควรอนุเคราะห์ประชาชนในชนบท
6. ควรอุปการะสมณะ พราหมณ์ ผู้มีศีล
7. ควรจัดรักษาฝูงเนื้อและนก ตลอดจนสัตว์ทั้งปวงมิให้สูญพันธุ์
8. ควรห้ามชนทั้งหลายมิให้ประพฤติผิดธรรม และชักนำด้วยตัวอย่างให้อยู่ในกุศลจริต
9. ควรเลี้ยงดูคนจนเพื่อมิให้ประกอบการุจริตเป็นภัยต่อสังคม
10. ควรเข้าใกล้สมณะพราหมณ์เพื่อศึกษาบุญและบาป และการกุศล อกุศล ให้ประจักษ์ชัด
11. ควรห้ามจิตมิให้ต้องการไปยังที่ที่พระเจ้าแผ่นดินไม่ควรเสด็จ
12. ความดับความโลภ มิให้ปรารถนาลาภที่พระเจ้าแผ่นดินไม่ควรจะได้
ทั้งหมดนี้ท่านเรียกว่า หน้าที่ของอริยะผู้เป็นจักรพรรดิ คือพระราชาผู้ครองโลก….
ธรรมทั้งหลายที่พระพุทธเจ้าตรัสสั่งสอนพระราชาผู้ครองแผ่นดินนั้น พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นธรรมที่ใช้ได้สำหรับผู้ครองแผ่นดินทุกยุคทุกสมัย มีวัตถุประสงค์ที่จะให้เกิดความสงบสุขและความเจริญแก่ชนทั้งประเทศ