อุณหภูมิที่ร้อนจัดของบ้านเรา ส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาก็มีเสียงวิจจารณ์จากหลายภาคส่วนเรื่องปัญหาค่าไฟอย่างกว้างขวาง
คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2566 ได้มีมติเสนอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือกกต.พิจารณาเห็นชอบ ใช้งบฯ สำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ตามที่ รัฐธรรมนูญ มาตรา 169 (3) กำหนดเนื่องจากเป็น ช่วงยุบสภา ขอใช้วงเงิน 11,112 ล้านบาท เพื่อเยียวยาประชาชนในปัญหาค่าไฟเพียงเป็นเวลา 4 เดือนคือ เดือน พฤษภาคม-สิงหาคม 2566 แบ่งเป็น 2 มาตรการ
ได้แก่ 1.ช่วยเหลือค่าไฟฟ้าครัวเรือนที่ใช้ไม่เกิน 300 หน่วย ต่อจากเดือน ม.ค.-เม.ย.66 ไปจนถึงเดือน พ.ค.-ส.ค.66 ครอบคลุมผู้ใช้ไฟ 18.36 ล้านครัวเรือน วงเงิน 7,602 ล้านบาท โดยปรับลด ค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (ค่าเอฟที) แบ่งเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 1-150 หน่วยต่อเดือน ให้ส่วนลดค่าเอฟที 92.04 สตางค์ต่อหน่วย เหลือต้อง จ่ายค่าเอฟที 1.39 สตางค์ต่อหน่วย ส่วนผู้ที่ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 151-300 หน่วยต่อเดือน ให้ส่วนลดค่าเอฟที 67.04 สตางค์ต่อหน่วย เหลือจ่ายค่าเอฟที 26.39 สตางค์ต่อหน่วย
2.มาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าให้ประชาชนระยะเร่งด่วน จากต้นทุนราคาเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น และสภาพภูมิอากาศของ ประเทศไทยที่สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ส่งผลให้เกิด ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 6% รัฐบาลช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน เป็นเงิน 150 บาท ในส่วนของบิลค่าไฟเดือน พ.ค. เดือนเดียว ครอบคลุม 23.40 ล้านราย ใช้งบฯไม่เกิน 3,510 ล้านบาท
ขณะที่ค่าไฟได้กลายเป็นประเด็นโจมตีทางการเมือง โดยมุ่งไปที่ต้นตอของใครเป็นคนทำให้ค่าไฟแพง เรื่องนี้ มีหลักคิดพิจารณาง่ายๆ จาก ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Somchai Jitsuchon ขอหยิบยกมาเผยแพร่ดังนี้ “เรื่องค่าไฟแพงเพราะรัฐเอื้อกลุ่มทุน จริงๆการเอื้อกลุ่มทุนของภาครัฐ (นักการเมืองและข้าราชการ) มีมายาวนานหลายยุครัฐบาล แต่ถ้าจะลองเทียบดูว่ารัฐบาลยุคไหนเอื้อทุนมากกว่า ผมว่ามีสมการง่ายๆอันนึงคือ
ระดับการเอื้อกลุ่มทุน = (ผันแปรตาม) ขนาดของกำไรกลุ่มทุนผูกขาด
ถือเป็นการวัดแบบ quantitative ส่วนแบบ qualitative อาจดูจากการมีคนรวย 'รายใหม่' ที่รวยจากการผูกขาดโดยการเอื้อของรัฐ (จนบางคนขึ้นแท่นคนรวยที่สุดของประเทศภายในเวลาไม่กี่ปี) ว่าเกิดในรัฐบาลยุคไหน”
ดังนั้นเราๆท่านๆ คงพิจารณากันได้ ตามหลักการว่า ใครเป็นต้นเหตุที่ทำให้ค่าไฟแพง