ยูร กมลเสรีรัตน์

[email protected]

 

4.ป้าเฉลิม แม่คนที่สอง

“...เหนือจากป้าคนนี้ ก็ถึงป้าคนที่เลี้ยงฉันมา”อาจินต์  ปัญจพรรค์เล่าไว้ใน “ร่ายยาวแห่งชีวิต”ป้าไม่ได้เรียนหนังสือ เพราะสมัยนั้นไม่นิยมให้ลูกสาวเรียนหนังสือ  โดยกลัวว่าจะเขียนจดหมายติดต่อกับผู้ชายที่เรียกว่าส่ง “เพลงยาว”กัน  ส่วนน้องสาวของป้าและน้าของของฉันได้เรียนหนังสือ เพราะคตินิยมเก่านั้น ได้คลายไปตามกาลสมัย...”

ป้าที่เขาเอ่ยถึงนี้คือ พี่สาวของแม่ที่อยู่นครปฐม ซึ่งได้กล่าวถึงมาตลอดตั้งแต่ต้นคือ เฉลิม  โกมารทัต ถึงแม้ป้าเฉลิมไม่ได้เรียนหนังสือ แต่แอบเรียนเอง  โดยการฟังเรื่องจักร ๆ วงศ์ ๆ ที่แต่งเป็นนิยายคำกลอนเผยแพร่ทั่วประเทศ  เขาพูดถึงป้าคนนี้ด้วยความชื่นชมว่า...

“ป้าหัดอ่านเอง และหัดผสมตัวเขียนเอง จนอ่านออกเขียนได้อยู่ในระดับอ่านหนังสือทุกอย่างได้และเขียนจดหมายติดต่อการงานได้ เป็นผู้ที่รู้หนังสือดีคนหนึ่ง ป้าอ่านและจำเรื่องราวได้มาก จึงมีเรื่องไว้เล่าให้พวกเราฟังมากมาย ทั้งนิทานพื้นบ้าน สุภาษิต  คำพังเพย วรรณคดีและเรื่องแทรกของวรรณคดี บทเพลง คำกล่อมเด็ก นิทาน ตำนานและชอบจดจำเรื่องราวของคนต่าง ๆ ในตระกูลของเราไว้เล่าอย่างสนุกสนาน”

สำหรับผู้หญิงสมัยโบราณแล้ว  ถือได้ว่าป้าเฉลิมเป็นผู้หญิงที่เข้มแข็งและเป็นผู้หญิงที่มีความสามารถคนหนึ่งที่หาได้ยากในยุคนั้น  นอกจากรับผิดชอบงานต่าง ๆ ภายในบ้านและคอยดูแลเขาและพี่น้องแล้ว  ที่หาได้ยากก็คือเป็นนักอ่านตัวยง  แม้ว่าค่านิยมของคนสมัยก่อนจะไม่ให้ลูกสาวเรียนหนังสือ  ป้าก็เพียรพยายามขวนขวายและหาความรู้ใส่ตัว  จนสามารถอ่านและเขียนได้ดีทัดเทียมผู้ชาย หรืออาจเก่งกว่าผู้ชายที่เป็นชาวบ้านหลาย ๆ คนด้วยซ้ำ เขาเล่าไว้ใน“วัยบริสุทธิ์”ว่า...

“ ป้าให้พี่สาวฉันไปหาเช่าเรื่องจักร ๆวงศ์ ๆ ที่ร้านให้เช่าหนังสืออยู่ริมคลองเกือบถึงตลาด บอกชื่อเรื่องไปให้เสร็จสรรพ เพราะป้าเคยป่านมาแล้วตั้งแต่เป็นสาว แล้วยังอยากอ่านซ้ำ มีเรื่องปลาบู่ทอง,โสนน้อยเรือนงาม,นางสิบสอง,พระรถเมรี,แก้วหน้าม้า เป็นเรื่องที่ต้องเช่าอ่านติดต่อกันหลายเล่มจบ  

ฉันเคยตามพี่สาวไปร้านเช่าหนังสือด้วย คนจีนไว้ผมเปียหน้าตาใจดีเป็นเจ้าของ ร้านนั้นจัด สะอาดสะอ้าน เรียงรายด้วยตู้กระจกใส่หนังสือเต็มหมดทุกฝาผนัง ฉันจำได้ว่าหนังสือเหล่านั้นเล่มบาง ๆ มีหน้าปกเป็นกระดาษสีฟ้าบ้าง เขียวบ้าง แดงบ้าง เหลืองบ้าง บนหน้าปกมีชื่อเรื่องตัวโตหน่อยและมีรูปลายเส้นขนาดเล็ก ๆ ตามเนื้อเรื่อง...”

เขาบรรยายบุคลิกลักษณะของป้าว่าเป็นผู้หญิงที่สวย  ร่างขาวท้วม อกและแขนใหญ่  เป็นคนสะอาดสะอ้านและร่าเริง  เขาและพี่น้องต่างก็รักป้ามาก  เพราะป้าเหมือนแม่คนที่สองที่คอยดูแลพวกเขามาตลอด หลังจากขาดแม่  เขาเล่าให้เห็นภาพของเด็ก ๆ ที่มะรุมมะตุ้มป้า  ทำให้ได้บรรยากาศของความอบอุ่นว่า...

“พวกเราแย่งกันเข้าไปอยู่ในอ้อมกอด แต่เวลาใครซน ป้าจะดึงมือมานั่งทับไว้เฉย ๆ จนกว่าจะรับปากว่าไม่ซนอีก ฉันและพี่น้องมีความผูกพันกับป้าอย่างดื่มด่ำแท้จริงในความเป็นญาติสนิท”

ในตอนเย็น บิดาเลิกงานกลับมา ป้าเฉลิมจะอุ้มเขาไปป้อนข้าว ดูเรือแพที่ริมแม่น้ำ ซึ่งมีแพที่มีคนอยู่เป็นบ้านลอยน้ำ เห็นบรรยากาศบริเวณท่าน้ำ มีเรือลำใหญ่ ๆ จอดอยู่เต็มท่าน้ำ ชาวบ้านร้าตลาดกำลังพากันลงอาบนน้ำและว่ายน้ำกันอย่าสนุกสนาน เรือแจวกำลังข้ามฟาก เสียงหวูดเรือเมล์ดังลอยมาแต่ไกล  

ความผูกพันทางสายเลือดนี้ ได้ถักทอดเป็นสายใยของความผูกพันระหว่างป้ากับเขา จนเหนียวแน่น เพราะป้าเฉลิมแทบไม่เคยห่างกายเขาเลย ไม่ว่าจะเป็นยามนอนหรือยามตื่น กลางวันหรือกลางคืน...

“...ในคืนข้างขึ้นเดือนหงายเต็มดวง พระจันทร์สว่างจ้าจนจับมดได้ มีลมพัดเย็น ดอกไม้หอม ป้าจะบอกชื่อดอกไม้นั้น ป้าจะชี้ให้ดูกระต่ายในดวงจันทร์และสอนให้ร้อง

“ จันทร์เจ้าเอย ขอข้าวขอแกง  ขอแหวนทองแดงผูกมือน้องข้าง  

ขอช้างขอม้าให้น้องข้าขี่    ขอเก้าอี้ให้น้องข้านั่ง  

ขอเตียงตั่งให้น้องข้านอน   ขอละคร ให้น้องข้าดู  

ขอต่างหูให้น้องข้าใส่    ขอกำไลให้น้องข้าสวม...”  

ป้ายังร้องต่อคล้องจองไปอีกมากมาย แต่ฉันจำไม่ได้ แล้วป้าเล่าเรื่อง “ยายกะตาปลูกถั่วปลูกงาให้หลานเฝ้า  หลานไม่เฝ้า  อีกามากินถั่วกินงา ยายยายด่า ตามาตาตี” พอเล่าไปเพลิน ๆ แล้ว ป้าจะเล่าว่า “ยายกะตา ทำนาบนโคก ขี้ใส่กะโหลก โพกหัวคนฟัง” เมื่อวันหลังเราเล่าอย่างนั้นให้ป้าฟังบ้าง ป้าก็จะพูดอีกคำหนึ่งว่า “ยายกะตา ทำนาบนเขา ขี้ใส่กระเป๋า  โพกหัวคนเล่า”

...ในคืนข้างแรมเดือนมืด ดาวประจำเมืองขึ้นตั้งแต่ตอนเย็นก่อนเพื่อน สุกสว่างมีประกายสีแดงยิบ ๆ อยู่ในดวงสีขาว แล้วมีดาวผุดขึ้นพราวบนท้องฟ้ามืด ป้าสอนให้รู้จักดาวต่าง ๆ แต่ฉันจำได้ก่อนเพื่อนคือ ดาวไถ เพราะจำง่าย มันเหมือนไถของชาวนาคือ มีดาวสามดวงเรียงกันได้ระยะเป็นเส้นตรงเหมือนตัวไถ แล้วอีกสามดวงทำมุมป้านกับเส้นเดิมและงอน้อย ๆ ที่ดวงกลางเหมือนคันไถ”

นอกจากนี้แล้วยังมีดาวลูกไก่ที่เป็นกลุ่มดาวส่องแสงระยิบ เป็นกระจุกเหมือนลูกไก่ตัวกลมปุ้กลุก  ป้าชี้ให้ดูดาวธงและดาวม้า แต่สำหรับเขาในวัยเด็กแล้วจำยาก  ป้าจึงท่องกลอนพระอภัยมณีให้ฟังว่า...

“ ดูโน่นแน่ะแม่อรุณรัศมี   ตรงมือชี้ดาวเต่านั่นดาวไถ  

ดาวธงตรงหน้าอาชาไนย    ดาวลูกไก่เคียงคู่อยู่ด้วยกัน”

เพลงกล่อมเด็กเริ่มซึมซับเข้าสู่ความทรงจำของเขาตั้งแต่นอนเปลที่แม่เห่กล่อมและได้ฟังอีกซ้ำ ๆ กันทุกเมื่อเชื่อวันทั้งจากแม่และป้าในเวลาต่อมา...

“...มีเพลง “วัดเอ๋ยวัดโบสถ์ ปลูกข้าวโพดสาลี ลูกเขาตกยาก แม่ยายก็พรากลูกสาวหนี” เพลง “เจ้าการะเกดเอย ขี้ม้าเทศ ว่าจะไปท้ายวัง ชักกริชแดง ๆ ว่าจะแทงฝรั่ง เมียห้ามไม่ฟัง เจ้าการะเกดเอย” เพลง “กาเหว่าเอย ไข่ไว้ให้แม่กาฟัก แม่กาหลงรัก คิดว่าลูกในอุทร คาบเอาข้าวมาเผื่อ คาบเอาเหยื่อมาป้อน ปีกเจ้ายังอ่อน สอนให้เจ้าบิน”

ความรักในการอ่านเป็นชีวิตจิตใจของป้าเฉลิมได้ถ่ายทอดมาสู่เด็กชายอาจินต์  ปัญจพรรค์ที่ป้าเลี้ยงดูและฟูมฟักอย่างใกล้ชิดประหนึ่งลูก โดยการบอกเล่าให้ฟัง จากวันเป็นเดือน จากเดือน

เป็นปีและแรมปี  ทำให้เขาค่อย ๆ ดูดซับเรื่องราวในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งนิทาน สุภาษิต คำพังเพย ตำนาน วรรณคดี เพลงกล่อมเด็ก ฯลฯ

“...ป้ามีนิทานหลายเรื่อง มีเพลงแปลก ๆ มีประวัติปู่ ย่า ตา ยายและพี่ ป้า น้า อา มีเรื่องตอนสนุกของขุนช้างขุนแผน เรื่องแก้วหน้าม้า สังข์ทอง โสนน้อยเรือนงาม  มีเรื่องผี เรื่องไปบวชชีและบทสวดมนต์กันผี แก้ฝันร้าย แต่ฉันยังเด็กเกินกว่าที่จะจำได้ จนต่อมาอีกหลายปี ป้าเล่าซ้ำอยู่บ่อย ๆ จึงจะได้เรื่องเหล่านี้เป็นการเปิดสมองของฉันให้รับรู้นิทานนิยาย บทกล่อมต่าง ๆ ไว้เป็นพื้นฐาน ดึงดูดใจให้ฉันรักการอ่านหนังสือและคิดฝันในเรื่องต่าง ๆ”

 

“การเดินทางของน้ำนมแม่สู่ปากลูก ยิ่งใหญ่ยิ่งกว่าการเดินทางของมหาราชกรีฑาทัพ”(อาจินต์ ปัญจพรรค์)