รัฐบาลอ้างรายงานสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ระบุถึงสถานการณ์ด้านแรงงานในช่วงต้นปี 2566 ณ เดือน กุมภาพันธ์ 2566 ประเทศไทยมีประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปซึ่งจัดอยู่ในเกณฑ์ของกลุ่มที่เป็นกำลังแรงงานอยู่ 58.81 ล้านคน โดยในจำนวนนี้เป็นผู้อยู่ในกำลังแรงงาน 40.49 ล้านคน อยู่นอกกำลังแรงงาน เช่น อยู่ระหว่างเรียนหนังสือ เป็นแม่บ้านทำงานบ้าน เป็นผู้พิการ ทุพพลภาพ 18.32 ล้านคน ซึ่งเมื่อแยกพิจารณาเฉพาะผู้อยู่ในกำลังแรงงานพบว่าเป็นผู้มีงานทำ 39.91 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 39.81 ล้านคนเมื่อเทียบกับณ สิ้นปี 65 เป็นผู้ว่างงาน 3.6 แสนคน หรือร้อยละ 0.9 ของผู้อยู่ในกำลังแรงงาน เทียบกับ 3.9 แสนคน หรือร้อยละ 1 ณ สิ้นปี 65 ส่วนที่เหลืออีก 2.2 แสนคนเป็นผู้อยู่ระหว่างการรอฤดูกาล
โดย อัตราการว่างงานที่ระดับร้อยละ 0.9 นับเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดและต่ำกว่าร้อยละ 1 ครั้งแรกในรอบเกือบ 4 ปี ซึ่งระบบกำลังแรงงานไทยเคยมีอยู่ว่างงานต่ำว่าร้อยละ 1 ครั้งล่าสุดคือเดือน ต.ค.62 ที่มีอัตราการว่างงานร้อยละ 0.9 เช่นกัน ซึ่งขณะนั้นเป็นช่วงที่เศรษฐกิจมีการเติบเป็นปกติและนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยสูงสุดเป็นประวัติการณ์ก่อนจะเข้าสู่ช่วงที่ทั่วโลกเกิดวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในต้นปี 2563
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ มีความกังวลที่มีต่อปัญหาการว่างงานของไทย ตามที่ นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ออกมาให้ความเห็นก่อนหน้านี้ ว่าความกังวลว่าช่วง เดือน กุมภาพันธ์-มีนาคมที่ผ่านมา จะมีแรงงานเด็กจบการศึกษาใหม่เข้าสู่ระบบอีก 500,000 คน เข้ามาสมทบกับแรงงานเด็กจบใหม่ก่อนหน้านี้ ที่ยังหางานไม่ได้ จึงต้องแข่งขันกันสูงเพื่อหางานทำ ท่ามกลางความผันผวนเศรษฐกิจ โดย “เด็กจบใหม่ หากจบการศึกษาเฉพาะด้าน เช่น ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ การแพทย์ ฯลฯ ยังหางานได้ไม่ยาก แต่จบปริญญาตรีทั่วไปคงลำบาก เพราะตามปกติ ช่วงต้นปี หลังรับโบนัส แรงงานจะย้ายงานมาก แต่ปีนี้มีน้อยมาก แสดงว่างานหายากขึ้น
รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ยังมองว่า ตลาดแรงงานรองรับเด็กจบใหม่ ที่ส่วนใหญ่เป็นระดับปริญญาตรี คือ ภาคการผลิตและส่งออก แต่การส่งออกไทยปี 2566 คาดจะโตเพียง 1-2% จากปี 2565 เพราะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ขณะที่ภาคท่องเที่ยวและบริการจะฟื้นตัว ประเมินว่า ปีนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยอาจแตะ 28 ล้านคน แต่ภาคท่องเที่ยวยังขาดแคลนแรงงานไร้ทักษะ และมีแนวโน้มที่ตลาดส่วนนี้จะใช้หุ่นยนต์มากขึ้น โดยเฉพาะร้านอาหาร ค้าปลีก นอกจากนี้ ระบบการขายได้เปลี่ยนไปสู่ตลาดออนไลน์มากขึ้น ทำให้ระยะยาวตลาดแรงงานส่วนนี้จะลดลง
อย่างไรก็ตาม เมื่อฉายข้อมูลทั้ง 2 ด้านจากภาครัฐ และความห่วงใยของสภาองค์การนายจ้างฯ ก็จะได้เห็นภาพสถานการณ์ เพื่อที่รัฐบาลชุดใหม่ หลังการเลือกตั้งจะต้องเตรียมรับมือกับระเบิดเวลา