บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เขียนจดหมายเปิดใจ ผ่านเพจเฟซบุกส่วนตัว ออกมาเป็นฉบับที่ 9 เมื่อวันที่ 19 เม.ย.66 ที่ผ่านมา ใจความสำคัญคือการอธิบายของหลักการจัดตั้งรัฐบาล ของพรรคพลังประชารัฐ ในหัวข้อ จะ จัดตั้งรัฐบาล อย่างไร ?
การเมืองไทยทุกเรื่องจึงขึ้นอยู่กับการเจรจาตามเงื่อนไขเฉพาะหน้า โดยเฉพาะเรื่องสำคัญระดับ จะจัดตั้งรัฐบาลอย่างไร จะร่วมรัฐบาลกับใคร
จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรอขั้นตอนที่เหมาะสม การตัดสินใจประกาศว่าจะต้องอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นที่รู้กันว่านั่นเป็นแค่การหาเสียง ที่เป็นจริงคือการเจรจาด้วยเหตุผลเฉพาะหน้า
คีย์เวิร์ดสำคัญของจดหมายฉบับนี้ คือการพูดถึงเหตุและผล ตลอดจน เงื่อนไขปัจจัย ว่าพรรคพลังประชารัฐ จะตัดสินใจอย่างไรในการตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ว่าจะพิจารณาจาก การเจรจาตามเงื่อนไขเฉพาะหน้า ว่าจะดูว่า จะตั้งรัฐบาลอย่างไร และจะร่วมรัฐบาลกับใคร
หากย้อนกลับไปตลอดห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อนเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ จะพบว่าการหาเสียงของแต่ละพรรคการเมือง ไปจนถึงเวทีดีเบตหลายต่อหลายเวที มีการถกเถียงและถามในประเด็นว่าด้วยเรื่องของการ จับมือ จับขั้วตั้งรัฐบาล สารพัดสูตร
ซึ่งแน่นอนว่าสำหรับพรรคพลังประชารัฐ เองที่พล.อ.ประวิตร ประกาศชู ก้าวข้ามความขัดแย้ง โดดเด่นและขับเคลื่อนมาตลอด ย่อมอยู่ในจุดที่กุมความได้เปรียบ มากกว่าพรรคการเมืองอื่นๆที่ประกาศ ว่าจะจับมือ หรือไม่จับมือกับฝ่ายใด เพราะเท่ากับว่าเป็นการประกาศตัว เลือกข้าง กลับไปสู่การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทางการเมืองเช่นเดิม และสุดท้ายอาจนำไปสู่ความวิตกกังวลของผู้คนว่าจะก้าวไม่พ้น ความขัดแย้งที่รออยู่ข้างหน้า
แต่ถึงกระนั้นการประกาศตัวของพรรคพลังประชารัฐเองที่ผ่านมา กลับพบว่าไม่มีความเป็นเอกภาพ ความคิดเห็น ขัดกันเอง โดยที่ฝ่ายหนึ่ง ประกาศไม่จับมือพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล แต่อีกขั้วอำนาจหนึ่งในพรรคให้สัมภาษณ์สื่อ ในท่วงทำนองว่า ไม่ใช่มติพรรค
จากความเห็นแตกภายในพรรคพลังประชารัฐ ไม่เพียงแต่สะท้อนให้เห็นว่าต่างคนต่างคิด แต่ยังเป็นกลุ่มคนที่ล้วนอยู่ใกล้ชิดกับ พล.อ.ประวิตร ด้วยกันทั้งสองฝ่าย และขณะเดียวกันแม้พรรคพลังประชารัฐ จะเลือกจุดยืนอยู่ตรงกลางชูก้าวข้ามความขัดแย้งก็ตามที อาจกลายเป็น จุดอ่อน ที่ทำลาย คะแนนเสียง ของพรรคเอง ไปโดยปริยาย
เพราะอย่าลืมว่าการเมืองวันนี้แม้ยังไม่เข้าสู่ โค้งสุดท้าย ใกล้วันหย่อนบัตร 14 พ.ค.2566 แต่ย่อมไม่ได้หมายความว่า ปฏิบัติการช่วงชิงคะแนนเสียง จากทั้งฝ่ายเดียวกันและฝั่งตรงข้ามจะนิ่งเฉย โดยเฉพาะในกลุ่มโหวตเตอร์ที่ยังไม่ตัดสินใจว่า จะเลือกใครในโค้งสุดท้าย คือกลุ่มเป้าหมายที่ทุกพรรคการเมือง ทั้งฝ่ายประชาธิปไตยและฝ่ายอนุรักษ์นิยม กำลังช่วงชิงเสียงกันอุตลุต !