ยูร   กมลเสรีรัตน์

[email protected]

3.เบ้าหลอมและบ่มเพาะ(ต่อ)

การเล่นอักษรนี้  ทำให้เกิดความสนุกและจำง่าย  ป้าของเด็กชายอาจินต์  ปัญจพรรค์ก็เคยพูดเล่นคำให้เขาฟังเหมือนกัน... 

“มีอัฐอยู่ 2 กะหลึง ลงเรือกะหลอม ไปดูกะเหลิม กะหนุกกะหนาน”

เขาเอียงคอฟังป้าพูดอย่างงง ๆ เพราะไม่เข้าใจความหมาย  แล้วป้าก็เฉลยว่า...

“มีอัฐอยู่ 2 สลึง ลงเรือฉลอม ไปดูเฉลิม สนุกสนาน”

เขาเลยจดจำและนำไปพูดเลียนแบบบ้างตามประสาเด็ก  เป็นที่สนุกสนาน  นอกจากนี้แล้วป้าของเขายังมีคำพูดล้อเลียนให้ผิดเพี้ยน เพื่อให้ดูตลกและขัน  อย่างเช่น...

“เล่าเป็นนิทานว่า มีแม่ชาวบ้านนอกอุ้มลูกน้อยไปวัด ลูกเห็นพระตีระฆัง จึงบอกแม่ว่า

“แม แม พระตีขันจอก”

แม่ดุลูกว่า

“อีลูกบ้านนอก พระตีสังฆัง”

อาจินต์  ปัญจพรรค์เขียนเล่าต่ออย่างสนุกออกรสว่า พวกจำอวดจับเอาเรื่องราระบาย ป.ต.อ. ไปล้อเป็นกลบทอักษร ให้คนดูได้หัวเราะฮาเฮว่า...

“ไปดูระบำที่ระเบียง  ตกลงมาระบม.... ต้องกินยาระบาย”

ในสมัยต่อ ๆ มามีสงครามเกาหลี  ทำให้เด็กชายอาจินต์  ปัญจพรรค์ได้เล่นคำสนุกนี้ที่แพร่หลายต่อ ๆ กันมาที่ว่า...

“ไปเกาหลี  กินเกาเหลา นั่งเกาหลัง”

ความรักในการอ่านของเขา ไม่เพียงแต่ได้อ่านในหนังสือเรียนหรือหนังสืออ่านที่บ้าน  นอกจากคำโฆษณาที่เห็นในหนังสือแล้ว  แม้แต่คำโฆษณาที่แพร่หลายด้วยปาก ไม่ได้ลงโฆษณาในหนังสือ ถ้าฟังแล้วติดหู ก็จะแพร่หลายไปเอง เขาจึงได้ยินคำโฆษณาแบบนี้อยู่บ่อย ๆ  เป็นบทกลอนบ้าง คำคล้องจองบ้าง ซึมเข้าสู่สมอง เพราะความไพเราะของถ้อยคำ...

"...เมื่อมีร้านเสริมสวยในกรุงเทพฯ ก็มีเพลงโฆษณาร้านนั้น จนร้องกันไปถึงต่างจังหวัดว่า                

คลื่น คลื่น คลื่น  นิยมชมชื่นคลื่นวัฒนา

ตั้งอยู่ที่สี่พระยา  ผู้คนก็มาดัดเกสามากมาย

นารีไปที่ร้าน      กลับบ้านด้วยความงามสาม

งามแก้มงามเล็บผมงาม    สไบที่ห่มยั่วยวนชวนตา”

แม้กระทั่งเขาและเด็ก ๆ ที่เดินไปโรงเรียนเป็นพรวน จะต้องคอยระมัดระวังและหลบหลีก รถประจำทางคันหนึ่งเป็นประจำ เพราะรถคันนี้เคยทับคนตายมาแล้ว โดยจะตะโกนบอกกันเสียงดัง แฝงอารมณ์ขันอยู่ในที...

“หมอนวดมาแล้วโว้ย”

ด้วยความเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอนของคนไทย ซึ่งมีในสายเลือดมาแต่ครั้งบรรพชน จึงมีคนคิดคำล้อหมอนวด ซึ่งเป็นหมอนวดขี้ยาคนหนึ่งในจังหวัด ให้ได้ร้องล้อต่อกัน ดังที่เขาเล่าไว้...

“หมอนวด  ถือขวดยา

บ้องกัญชา  ติดมาด้วย”

ครั้งหนึ่งมีการไขปัญหาชิงรางวัลในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง เป็นการตั้งปัญหาโดยห้างใหญ่ในกรุงเทพฯ โดยตั้งประโยคขึ้นมาให้เรียบเรียงใหม่ให้ได้ใจความ ประโยคนั้นก็คือ...

“ณ กริ้วดื่ม สารบุใด”

เด็กชายอาจินต์ ปัญจพรรค์ตื่นเต้นกับการชิงรางวัลในครั้งนี้มาก เพราะเป็นรางวัลของห้างใหญ่ในเมืองหลวง แต่ไม่มีใครคิดออก คิดกันจนสมองจะแตก ก็ไขปัญหานี้ไม่ได้ แต่มีครูผู้ชายข้างบ้านเขาคนหนึ่ง เป็นนักอ่านตัวยง ขบปัญหานี้แตก จึงเรียบเรียงข้อความประหลาดนี้ใหม่เป็น...

“กรุณาดื่มใบริ้วสด”

จะเห็นได้ว่าสิ่งบ่มเพาะและหล่อหลอมเด็กชายอาจินต์ ปัญจพรรค์ ให้มีความรักในการอ่านและการเขียนมีหลายรูปแบบและมาจากหลายทาง โดยเฉพาะบ้าน ซึ่งเป็นแหล่งบ่มเพาะโดยตรงและใกล้ตัวเขามากที่สุด ดังที่เขาบรรยายสิ่งแวดล้อมภายในบ้านว่า...

“...ตอนนั้นพ่อยังเป็นนายอำเภอหนุ่ม ๆ ไม่มีสมบัติอะไร นอกจากหนังสือกับโต๊ะเขียนหนังสือตัวใหญ่ ซึ่งพ่อเอาไว้ในห้องนอน เพราะบ้านเรายังไม่กว้างพอที่จะมีห้องสมุด หรือห้องเขียนหนังสือ...

...บนโต๊ะมีโคมไฟสีฟ้าอมเขียว กลมเหมือนลูกแตงโมกลวงกลาง ใส่ไฟฟ้าไว้ข้างใน  ในเวลากลางคืนเมื่อเปิดไฟ ก็จะมีแสงสาดเป็นสีโปร่งนุ่มนวลไปยังฝาผนัง...โคมนี้เจาะข้างล่าง เพื่อเอาแสงสว่างสีขาวไว้เขียนหนังสือ...”

อาจินต์  ปัญจพรรค์บรรยายให้เห็นว่าตู้หนังสือที่เป็นบานกระจก จะมองเห็นหนังสือของ บิดาที่เรียงสันปกออก โดยเรียงเป็นชุดและตามขนาดของหนังสืออย่างเป็นระเบียบ เวลาเขาเดินผ่านตู้หนังสือทุกครั้ง เขาจะจรดปลายเท้าเบา ๆ ไม่เช่นนั้นบานกระจกจะกระเทือนหรือสั่นคลอน หรืออาจแตกร้าวได้ เพราะบ้านของเขาพื้นไม้เก่าแล้ว เขาได้บรรยายถึงตู้หนังสือว่า...

“มีตำรากฎหมายของพ่อเป็นชุดอยู่ชั้นบนสุด มีหนังสือทั้งใหม่ทั้งเก่าอยู่ในชั้นล่าง ลางเล่มเก่าจนกระดาษเป็นสีเหลืองหม่น เป็นหนังสือรายคาบในสมัยนั้น แต่หนังสืออ่านเล่นซึ่งกำลังแพร่หลายมากนั้น พ่อไม่อ่าน และไม่มีอยู่ในตู้นี้เลย นอกจากหนังสือแปล สารคดี หรือเรื่องนักสืบ ซึ่งฉันจำชื่อได้บ้างเช่น ‘บันทึกคดีอุจฉกรรจ์ ของ แบร์ติยอง’แปลโดย สมุท สิริไข”

ขอกล่าวถึงสมุทร ศิริไข สักเล็กน้อย นักหนังสือพิมพ์และนักแปลมือฉมังม่านนี้เคยทำงานที่หนังสือพิมพ์เดลิเมล์และเป็นบรรณาาธิการหนังสือพิมพ์เสรีภาพ ในเวลาต่อมา ไปทำงานที่หนังสือพิมพ์ประมวลวัน นิกร ประชากร แล้วไปเป็นบรรณาธิการเพลินจิตต์ รายสัปดาห์ มีงานแปลให้เดลิเมล์วันจันทร์และฟ้าเมืองไทย นอกจากใช้สมุท ศิริไขในงานแปลแล้ว ยังมีนามปากกา สง เทพกุญชร เพชรบุรี ชลาลัยและส. สุเมธี ผลงานแปลได้แก่ ชีวิตการต่อสู้ของประธานาธิบดีเคเนดี้ เชอร์ล็อค โฮล์ม ในชีวิตจริงรหัส 8 ดาบ ยอดคดีอาชญากรรม เป็นอาทิ

“หนังสือแปลชุด เชอร์ล็อก  โฮล์ม  ยอดนักสืบ และเรื่อง ผู้ร้ายเอก ‘อาแซน  ลูแปง’ ซึ่งเย้ยเหลี่ยมตำรวจได้ และยังมี ‘ลูแปง ผจญโฮม’ อันเป็นผู้ร้ายเอก อาแซน ลูแปง พบกับนักสืบชื่อ โฮม แต่ไม่ใช่เชอร์ล็อก  โฮล์ม คนนั้น  หากเป็นโฮม  เชียร์ล็อก ซึ่งผู้แต่งเรื่อง อาแซน  ลูแปง ประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ให้เฉียดกับเชอร์ล็อก  โฮล์ม...”

อาจินต์ ปัญจพรรค์เล่าต่อว่า นอกจากบิดาเป็นนักอ่านแล้ว ยังเป็นคนที่ชอบจดบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ไว้ในสมุดปกแข็งเล่มใหญ่  รวมทั้งเรื่องราวของบรรพบุรุษ  เมื่อเขาอ่านหนังสือออก บิดาบอกเขาว่า...

“ลูกจะอ่านดูก็ได้ พ่อไม่มีเวลาจะเล่าเรื่องปู่ย่าตายายให้ลูก ๆ ฟัง แต่พ่อเขียนไว้ในนี้ อย่าทำยับ อย่าทำสกปรกก็แล้วกัน พ่อยังเขียนไม่จบ”

เมื่อเด็กชายอาจินต์  ปัญจพรรค์พลิกไปที่หน้าสุดท้ายของสมุดบันทึก เขาพบข้อความว่า...

“มีเงินเหลือเท่าไหร่ เราก็ซื้อหนังสือหมด เอามาอ่านศึกษาหาความรู้ให้ก้าวหน้า ให้จงได้...”

 นี่คืออิทธิพลทางการอ่านและการเขียนที่เขาได้รับการถ่ายทอดทางสายเลือด ซึ่งบ่มเพาะและหล่อหลอมเขาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน หากจะกล่าวว่าทุกลมหายใจ ก็คงไม่เกินจริงนัก  จนกระทั่งเติบโตทางการอ่านและนำไปสู่การเขียนในเวลาต่อมา

 

 

“ตัวหนังสือเป็นศิลปศาสตร์ ตัวเลขเป็นเศรษฐศาสตร์ ตัวหนังสือเป็นสื่อสารให้รู้ซึ่งกันและกัน นี่แหละคือ อำนาจของศิลปะศาสตร์”(อาจินต์ ปัญจพรรค์)