รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์

ประธานที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

มาครับ ๆ  มาส่องโพลเลือกตั้งภาคสนามกัน ว่าสาดความร้อนแรงขนาดไหน? และส่อนัยถึงอะไรบ้าง?

โพลเลือกตั้งภาคสนามเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งของการเมืองว่าด้วยศึกเลือกตั้ง 2566 ที่ทุกฝ่ายต่างเกาะติด ผลโพลเลือกตั้งของทุกสำนักแบบไม่กะพริบตากันทีเดียว ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าผลโพลเลือกตั้งภาคสนามที่ลงพื้นที่จริงเก็บจริงกับโหวตเตอร์ “เป็นเป็น” ตัวต่อตัว ทำให้ข้อมูลที่ได้มีอิทธิพลสูงและอาจให้ผลทำนายที่แม่นยำกว่าโพลเลือกตั้งออนไลน์

ที่สำคัญพรรคการเมืองสามารถนำผลโพลเลือกตั้งภาคสนามมาใช้แก้เกมการเลือกตั้งที่เห็นผลได้จริงและไม่พลิกความคาดหมาย และยิ่งในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนวันเลือกตั้งอาจทำให้ผลเลือกตั้ง ส.ส. พลิกกลับเป็นฝ่ายชนะในที่สุด เพราะว่าโพลเลือกตั้งมีอิทธิพลเชิงจิตวิทยาต่อโหวตเตอร์ในแง่การลงคะแนนเสียงและไม่ลงคะแนนเสียงให้ ‘ใคร’ และ ‘พรรคใด’

ณ วันนี้ การสำรวจความคิดเห็นของผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะไม่ได้เก็บและวิเคราะห์เพียงข้อมูลเชิง “ตัวเลข” เท่านั้น แต่มีการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลเชิง “อักขระ” พ่วงด้วย เมื่อลงพื้นที่จริงสัมผัสตัวตนเจ้าของคะแนนเสียงกันแล้ว ผู้เก็บโพลก็จะขอให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งช่วยสะท้อนความคิดเห็น อารมณ์ และความรู้สึกเกี่ยวกับการเลือกตั้งในพื้นที่พ่วงให้ด้วย ดังนั้น ผลโพลเลือกตั้งภาคสนามจึงเป็นโพลที่มีความหมายเพราะประกอบด้วยข้อมูลผสมผสาน (Mixed data) ทั้งข้อมูลเชิงคุณภาพและข้อมูลเชิงปริมาณ

ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นนักเลือกตั้ง นักการเมือง นักรัฐศาสตร์ นักวิชาการ นักการตลาด นักกำหนดกลยุทธ์เลือกตั้ง และ โหวตเตอร์ ฯลฯ ล้วนเทความสนใจให้กับโพลเลือกตั้ง สะท้อนได้จากผลโพลเลือกตั้งที่สำรวจกันแต่ละครั้งจะได้รับการกล่าวถึงจากทุกฝ่าย และผลโพลถูกหยิบใช้ในหลากหลายแง่มุม เช่น การแสดงความคิดเห็นเชิงวิเคราะห์ที่ใช้ข้อมูลเป็นฐาน การนำผลโพลมาปรับรูปแบบและกลยุทธ์การหาเสียงเลือกตั้ง โดยเชื่อกันว่าผลโพลเลือกตั้งเป็นปัจจัยตัวหนึ่งที่ชี้วัดว่าพรรคการเมืองรณรงค์ หาเสียงเลือกตั้งสำเร็จหรือล้มเหลวมากน้อยเพียงใด

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ Jouni Kuha ศาสตราจารย์ภาควิชาสถิติ แห่งโรงเรียนเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ลอนดอน (The London School of Economics and Political Science) เคยกล่าวว่า “การสำรวจความคิดเห็นจากประชาชนมีคุณค่า เนื่องจากเป็นแนวทางการพัฒนานโยบายจากผู้ให้ข้อมูลที่เป็นกลางแก่ผู้มีอำนาจตัดสินใจเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องการ...”

เสียงสะท้อนจากโหวตเตอร์ที่ได้จากการทำโพลเลือกตั้งภาคสนาม กลายเป็นข้อมูลที่มีทั้งความหมายและความสำคัญอย่างยิ่งทั้งต่อผู้สมัคร ส.ส. พรรคการเมือง รวมถึงผู้บริหารจัดการและควบคุมดูแลการเลือกตั้ง เช่น

“ผู้สมัคร ส.ส. ไม่เคยมาแนะนำตัว มีแต่พรรคใหญ่ ๆ เท่านั้น” ข้อมูลนี้สะท้อนว่าโหวตเตอร์ต้องการรู้จักตัวผู้สมัคร ส.ส. ในพื้นที่ทุกคนระดับมากถึงมากที่สุด และต้องการนำชุดข้อมูลเกี่ยวกับผู้สมัคร ส.ส. แต่ละคนของแต่ละพรรคการเมืองมา เปรียบเทียบกัน จุดนี้ผู้สมัคร ส.ส. ต้องเร่งลงพื้นที่ให้เร็วเพื่อทำความรู้จักและสร้างความคุ้นเคยกับโหวตเตอร์ให้มากที่สุด

“ไม่ว่าผู้สมัคร ส.ส. จะเปลี่ยนเป็นใครก็ตาม ก็ยังนิยมและชอบพรรรค...เหมือนเดิม” ข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นว่าโหวตเตอร์เลือก ‘กา’ จากพรรคการเมืองเป็นหลัก ผู้สมัคร ส.ส. ไม่มีผลต่อการตัดสินใจลงคะแนนเสียง เช่นนี้การรณรงค์หาเสียงก็ต้องมุ่งแสดง พลังของพรรคการเมือง โชว์ความเก่งความเก๋าของพรรคให้เห็น และที่สำคัญต้องไม่ลืมย้ำวิธีการ ‘กา’ บัตรเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตที่มีแต่เบอร์ผู้สมัคร ส.ส. เท่านั้น

“อยากรอฟังนโยบายของแต่ละพรรคก่อนว่าเป็นอย่างไร จึงจะตัดสินใจว่าจะเลือกพรรคการเมืองใด” ข้อมูลนี้ทำให้ทราบว่าโหวตเตอร์ให้ความสำคัญกับ ‘นโยบายพรรคการเมือง’ เป็นอันดับแรกสุด พรรคการเมืองต้องใช้กลยุทธ์หาเสียงแบบพุ่งเป้าที่นโยบายพรรคเป็นหลัก พร้อมกับแสดงความเหนือของนโยบายในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อตัวโหวตเตอร์ เช่น ปัญหาปากท้อง การทำมาหากิน ความเหลื่อมล้ำ ฝุ่น PM 2.5 หรือหมอกควันพิษ ฯลฯ

“ต้องการให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างยุติธรรม อยากได้นายกฯที่มาจากการเลือกตั้ง และบ้านเมืองมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น” ข้อมูลนี้บอกว่าประชาชนต้องการเห็นการเลือกตั้ง ส.ส. ที่เป็นไปอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ ปราศจากการทุจริตซื้อสิทธิขายเสียง และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ การเลือกตั้งคราวนี้ประชาชนหวังใหญ่มากต้องการให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย และมีรัฐบาลที่มาจาก ส.ส. คุณภาพ พร้อมสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศอย่างสร้างสรรค์และเจริญก้าวหน้า  

ผลโพลเลือกตั้งภาคสนามช่วยให้เข้าใจว่าประชาชนต้องการอะไร? และใคร? เป็นที่นิยม ซึ่งผู้สมัคร ส.ส. พรรคการเมือง และผู้บริหารจัดการและควบคุมดูแลการเลือกตั้ง สามารถนำชุดข้อมูลผลโพลเลือกตั้งไปใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้งในเชิงลึกและกว้าง และเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน แต่ก็ต้องตระหนักว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้เสมอในวันเลือกตั้งจริง

จงพร้อมยอมรับ...และ...เข้าใจในธรรมชาติ...ของโพล...และ...การแข่งขัน !!!