ทุกปีในวันที่ 20 เมษายน เป็นวันสำคัญของชาว “สยามรัฐ” ด้วยเป็นวันคล้ายวันครบรอบวันเกิดของ พล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ก่อตั้ง หนังสือพิมพ์สยามรัฐ รายวัน และนิตยสารสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ซึ่งหากท่านยังมีชีวิตอยู่ ในปีนี้จะมีอายุครบ 112 ปี

กระนั้น มรดก “สยามรัฐ” ยังอยู่ยั่งยืนยงอยู่จนทุกวันนี้

วันเกิดของพล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ในปีนี้ อยู่ในช่วงเวลาที่เมืองไทยกำลังมีการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ที่บรรยากาศการเมืองมีความร้อนแรงพอดี มีการจับตาการตัดสินใจของคนรุ่นใหม่ หรือผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก จะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง  ท่ามกลางความวิตกกังวลต่างๆ ถึงแนวคิดและพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่  อีกทั้งเรามักจะได้ยินคำว่าลูกไม่เชื่อฟังพ่อแม่มากขึ้นในปัจจุบัน ที่ไม่ใช่เพียงความเห็นที่แตกต่างทางการเมืองเพียงเท่านั้น แต่รวมไปถึงบริบทอื่นๆด้วย

จึงขออนุญาตนำบางช่วงบางตอนจาก ข้อเขียนเรื่อง “ทำไม? จึงได้เกิดโขน” โดย สมบัติ ภู่กาญจน์ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์สยามรัฐ จากหนังสือ “100ปีคึกฤทธิ์” ที่หยิบยกเอาข้อเขียนของพล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เรื่อง “โลกส่วนตัว (ของผม)” มีข้อคิดเกี่ยวกับการอบรมสั่งสอนเด็กเอาไว้ อย่างน่าสนใจดังนี้

“ทุกครั้งที่ผมได้ยินเสียงตำหนิเหล่านี้ ผมก็อดเห็นใจเด็กไม่ได้ เพราะผมมีความเห็นว่า การที่เด็กจะมีความสนใจในสิ่งใด ตลอดจนมีความประพฤติดีเลวอย่างใดนั้น ก็ขึ้นอยู่แก่การสั่งสอนอบรมแต่อย่างเดียว การสั่งสอนอบรมนั้นอาจจะทำด้วยการพูดจาแก่เด็กอย่างตรงไปตรงมาก็ได้ แต่การสอนด้วยวาจานั้นอาจจะไม่ได้ผลนักถ้าหากว่าเด็กจะไม่ได้แลเห็นตัวอย่างอันดีอยู่ในชีวิตประจำวันทุกวันไป

ผมมาดูตัวเอง เมื่อเป็นผู้ใหญ่ทุกวันนี้แล้ว ก็ลงความเห็นว่า ที่ผมทำบุญกุศลตามความสามารถ ไปวัดฟังธรรมเป็นครั้งคราว ทำบุญเลี้ยงพระที่บ้านเมื่อมีโอกาส และกระทำการอื่นๆ

อีกหลายอย่างที่ผู้ใหญ่ที่ดีพึ่งจะกระทำนั้น ก็เป็นไปเพราะเหตุเดียวแท้ๆ

คือสิ่งที่ผมทำอยู่ทุกวันนี้ เป็นสิ่งที่ผมเคยเห็นพ่อแม่ผมทำมาแต่ก่อนถ้าหากว่าพ่อแม่และผู้ใหญ่ในสมัยที่ผมยังเป็นเด็กไม่เคยกระทำการสิ่งเหล่านี้แล้ว ผมก็แน่ใจว่าตัวผมเองก็คง ไม่กระทำเหมือนกัน

การอบรมเด็กด้วยการเขียนหนังสือให้อ่าน หรือพูดจากับเด็กโดยตรงนั้น เมื่อเด็กได้ยินได้ฟัง แล้วก็อาจจะจดจำไว้ไม่ได้หมด หรือมิฉะนั้นก็อาจหลงลืมไม่ถือเอามาเป็นเครื่องเตือนใจอยู่เนืองนิจก็ได้

แต่การกระทำของตนให้เด็กเห็นเป็นตัวอย่างอยู่เป็นประจำนั้น เป็นสิ่งที่จะฝังใจเด็กได้อย่างดีที่สุด

เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าในปัจจุบันนี้ เด็กไทยเราประพฤติตนในทางที่ไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม เราก็น่าจะยอมรับกันเสียทีว่า ผู้ใหญ่ในเมืองไทยทุกวันนี้ก็ประพฤติการเช่น

เดียวกัน หรืออาจจะมากกว่านั้นก็ได้ อันเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี จึงทำให้เด็กทำตาม”