ทีมข่าวคิดลึก ขณะที่กระบวนการประชามติกำลังขยับเดินไปข้างหน้า ด้วยความคึกคักและเข้มข้น กลไกทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่อภารกิจผลักดันให้ประชามติที่จะมีขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคมนี้เป็นไปด้วยความราบรื่น แต่ดูเหมือนว่าสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น ไล่ล้อไปกับเส้นทางประชามติ ได้พลิกกลับมาอยู่ในองศาที่ดุเดือดโดยปริยาย ! เนื่องจากวันนี้ ไม่เพียงแต่"พรรคการเมือง" จะต้องหาทางมุ่งหน้าเดินฝ่าเพื่อให้ไปถึง "วันเลือกตั้ง" ในปี 2560 เท่านั้น หากแต่ในระหว่างการต่อสู้นั้นดูเหมือนว่าฝ่ายการเมืองต่างอยู่ในสภาวะที่ไม่อาจรับรู้ได้ว่าหากผลการทำประชามติ "ร่างรัฐธรรมนูญ" และ "คำถามพ่วง" ไม่ผ่านประชามติ แล้วนั้น คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลจะมี "ทางออก" ให้อย่างไรก่อนหน้านี้ทุกกลุ่มทุกฝ่าย ต่างพากัน "เงี่ยหูฟัง"ว่า "มือกฎหมาย"ประจำรัฐบาลอย่าง "วิษณุ เครืองาม"รองนายกรัฐมนตรี จะส่งสัญญาณอย่างใด อย่างหนึ่งออกมาก่อนที่จะเดินไปถึงวันทำประชามติ หรือไม่ ? ล่าสุด วิษณุ ระบุว่า หากร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ผ่านประชามติก็ต้องมีการแก้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 เพื่อเปิดทางให้เดินไปสู่ขั้นตอนต่อไปนั่นคือการร่างขึ้นมาใหม่ ส่วนจะใช้เวลากี่วัน กี่เดือน หรือไม่อย่างไร ก็ไม่อยากที่จะนำมาผูกกับโรดแมปของ คสช. "ผมไม่อยากเอาเรื่องของวันเวลามาผูกมัด เดี๋ยวจะกลายเอาคำพูดไปเล่นกัน ว่ายึดโรดแมป วัน เดือน ปี ไม่สามารถพูดชัดเจนได้ เพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ซึ่งสื่อก็รู้ว่าขึ้นอยู่กับอะไร แต่ทั้งนี้ การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญจะเกิดหลังจากรู้คะแนนประชามติ" นั่นหมายความว่าจนวันนี้ ฝ่ายรัฐบาลและ คสช. ยังคงไม่มี "คำตอบ"ให้กับสังคม อย่างชัดเจนว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติแล้ว จะไปต่อกันอย่างไรแล้ว ในขณะเดียวกันความไม่ชัดเจนดังกล่าวนี้ ยิ่งสร้างความหวั่นไหว ต่อ "ฝ่ายการเมือง"ไม่น้อย ทั้งเรื่องของระยะเวลา และทิศทางในวันข้างหน้า แม้จะมีกระแสข่าวเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ว่า คสช.ได้ส่งคนลงไปในพื้นที่เพื่อให้ข้อมูลแก่ประชาชน ว่าให้รับร่างรัฐธรรมนูญ ไปก่อน หากต้องการที่จะให้ คสช.พ้นจากอำนาจโดยเร็วขณะเดียวกันรัฐบาลและ กรธ.เองก็ออกมาให้ข้อมูล อีกด้านหนึ่งว่ามีการปล่อยข่าว บิดเบือน จนถึงมีการพบ"ร่างรัฐธรรมนูญปลอม" กันขึ้น จนต้องสืบเสาะหาที่มา ว่าเป็น "ฝีมือ"ของฝ่ายใด เพราะต่างฝ่ายต่างโทษกันไปมา การใช้กลยุทธ์ที่สารพัดวิธีของทั้งจากฝ่ายหนุนร่างรัฐธรรมนูญ ที่เวลานี้มีความชัดเจนว่า "กปปส."ได้ประกาศตัว ว่ายืนอยู่ข้าง คสช. ส่วนพรรคเพื่อไทยนั้น แม้ไม่แถลงจุดยืนแต่ก็ย่อมมีความชัดเจนว่า พรรคเพื่อไทยคือคู่ปรับของ คสช. แต่สำหรับพรรคการเมือง พรรคอื่นๆ แล้ว แม้จะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตามแต่การที่จะประกาศตัวออกมา ในท่ามกลางจังหวะที่ คสช. เป็นฝ่ายยืนกุมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ และมีเป้าหมายชัดเจนว่าจะต้องคว้าชัยชนะจากประชามติ ในรอบนี้ ย่อมเป็นเสมือน "แรงกดดัน" ที่ส่งผลทางตรงต่อพรรค ขนาดเล็ก ที่ต้องมองถึงอนาคตทาง การเมืองของตัวเอง เมื่อใกล้วันเลือกตั้งมาถึง อย่างไรก็ดี ในช่วงโค้งสุดท้ายประชามติที่เหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่วันข้างหน้า นั้นคงต้องทำใจยอมรับว่าจากนี้จะมีแต่ความวุ่นวาย และแรงกดดัน จากทุกทิศทุกทาง ไม่ว่าจะเป็นการเดินเกมในทางเปิดเผย หรือการพลิกกลับไปเล่น เกมใต้ดิน กันเป็นแถว !