ทวี สุรฤทธิกุล

 การหาเสียงบางทีก็ดูน่าสมเพช เหมือนว่านักการเมืองดูถูกคนไทย และเต็มไปด้วยพวก "คิดสั้น"

นักการเมืองไทยคิดสั้นเพียงแค่จะเอาตัวให้ชนะในการเลือกตั้ง จึงพยายามหาเสียงด้วยวิธีการที่พิลึกกึกกือ เช่น เอาเงินทิพย์ที่ไม่มีอยู่จริงมาแจก เอานโยบายของคนอื่นมาปรับแต่งลอกเลียน หรือสัญญาว่าจะให้โน่นให้นี่ทั้งที่ยังไม่รู้ว่าจะได้เป็นรัฐบาลหรือไม่ ฯลฯ นโยบายเหล่านั้นล้วนแต่มองว่าคนไทยนั้น "หิวเงิน - ปัญญานิ่ม" ก็ต้องมาลุ้นว่าคนไทยจะเป็นอย่างนั้นโดยเลือกพรรคเหล่านั้นหรือไม่     

การหาเสียงของนักการเมืองไทยมีลักษณะเพ้อฝันมาโดยตลอด จนถึงยุคหลัง 14 ตุลาคม 2516 ก็เริ่มเกิดพรรคในแนวอุดมการณ์ขึ้นหลายพรรค โดยเฉพาะพรรคในแนวสังคมนิยมต่าง ๆ แม้แต่พรรคกิจสังคมก็ต้องเอาระบบนายทุนมาผสมกับสังคมนิยม และผลการเลือกตั้งในปี 2518 พรรคในแนวสังคมนิยมก็ได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นจำนวนมาก เพียงแต่ไม่ได้เป็นรัฐบาล     

ส่วนพรรคกิจสังคมแม้จะได้เพียง 18 เสียง ก็ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ด้วย "บารมี" ของหัวหน้าพรรค คือ ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช แต่ก็เป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค ที่สื่อยุคนั้นเรียกว่า "ร้อยพ่อพันแม่" และต้องเผชิญกับมรสุมทางการเมืองอย่างหนัก ที่สุดก็ต้องยุบสภาเพื่อแก้ปัญหา     

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ลาออกจากหัวหน้าพรรคกิจสังคมในอีก 10 ปีต่อมา เพราะทนกระแสการเมืองแบบ "เงินเป็นใหญ่" ไม่ได้ พูดตรง ๆ คืออยู่ไปก็คงหมดตัว ท่านจึงเซ้งพรรคให้กับนักการเมืองบางคนเอาไป และมีการเลือกตั้งต่อมาแก 2-3 ครั้ง ก่อนที่เกิดรัฐประหารในปี 2534 ที่ทหารอ้างว่าจะจัดการกับบุฟเฟ่ต์คาบิเนต หรือรัฐบาลที่กอบโกยโกงกินไม่มียางอาย แต่ทหารก็พยายามสืบทอดอำนาจ จนมวลชนต้องมาขับไล่ในเดือนพฤษภาคม 2535 นำมาซึ่งการปฏิรูปการเมือง จนได้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540     

การเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งแรกหลังจากที่มีรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปการเมืองเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2544 การหาเสียงมีรูปแบบที่เน้น "ขายนโยบาย"อย่างชัดเจน ทำให้พรรคไทยรักไทยที่มีนโยบายแบบประชานิยมได้รับชัยชนะ นักวิเคราะห์การเมืองสมัยนั้นบอกว่า พลาย ๆ พรรคก็ขายนโยบายแบบประชานิยม แต่ของพรรคไทยรักไทยมีความเป็น "รูปธรรม" คือมองเห็นและจับต้องได้มากกว่า จึงนำมาสู่ชัยชนะของพรรคนี้     

ด้วยนโยบายประชานิยมของพรรคไทยรักไทย ทำให้กระแสความนิยมในตัวหัวหน้าพรรค คือ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากขึ้นด้วย กระทั่งเกิด "ระบอบทักษิณ" คือคนไทยจำนวนมากลุ่มหลงในบุญญาธิการของผู้นำคนนี้ อันนำมาสู่ความขัดแย้งในสังคมไทยมากว่าสิบปีจนถึงปัจจุบัน กระนั้นพรรคไทยรักไทยที่ต้องแปลงสภาพมาเป็นร่างของหลายพรรค โดยทุกวันนี้อยู่ในร่างของพรรคเพื่อไทย ก็ยังใช้นโยบายที่ใช้มาตั้งแต่เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน นำมาหาเสียงในการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยหวังผลถึงขั้นแลนด์สไลด์     

ที่เล่าประวัติศาสตร์การเมืองไทยมาข้างต้นนั้น เพื่อเชื่อมโยงให้เห็นว่า คนไทยยังไม่เปลี่ยน ทั้งนักการเมืองไทยและผู้เลือกตั้งชาวไทย ซึ่งจะต้องคอยดูผลในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ ว่าจะจริงหรือไม่?     

ย้อนไปที่ประเด็นหลักของบทความนี้ ที่ต้องการนำเสนอเทคนิคการหาเสียงที่จะ ชนะใจŽ ผู้เลือกตั้ง โดยใช้หลักการของท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ในสมัยที่ท่านมีชีวิตอยู่ สังคมไทยยกย่องท่านว่าเป็น "ปรมาจารย์" ของสังคมการเมืองไทย และโดยส่วนตัวของผู้เขียนเคยทำงานอยู่กับท่าน จึงขอรับประกันในความสามารถของท่านได้อย่างสบายใจ     

หลักการของท่านมี 3 ข้อ คือ 1 รู้ซึ้งถึงแกนสังคมใหญ่ 2 เข้าใจกลุ่มย่อยอันหลากหลาย และ 3 เปิดขยายหัวใจผู้คนแล้ว เข้าไปนั่งอยู่ข้างในŽ     

ทั้งนี้ผู้เขียนได้นำเสนอหลักการ 2 ข้อแรกไปแล้วเมื่อสัปดาห์ก่อน จึงขออธิบายในหลักการข้อที่ 3 ต่อไป     

คำว่า "เปิดขยายหัวใจผู้คน" เป็นคำอุปมาอุปมัย คือเทียบเคียงว่านักการเมืองที่อยากเอาชนะใจผู้เลือกตั้งจำเป็นต้อง "กล่อม" หรือหาวิธีการที่จะโน้มน้าวผู้เลือกตั้งให้มาสนใจตัวเองเสียก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นก็พูดคุยหรอหาเสียงให้น่าเชื่อถือ ที่สุดก็คือเชื่อมั่นและศรัทธาในตัวผู้สมัครและพรรคการเมือง จนตัดสินใจลงคะแนนให้ในวันเลือกตั้ง     

คนที่ทำได้แบบนี้จึงเรียกได้ว่า "เข้าไปนั่งอยู่ข้างใน" คือในหัวใจและความจดจำของผู้เลือกตั้งเหล่านั้นนั่นเอง   

 สมัยที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ลงเลือกตั้งครั้งแรกใน พ.ศ. 2489 ผู้สมัครยังใช้วิธี "เคาะประตูบ้าน" คือเดินไปตามชุมชนและไปพบชาวบ้านให้ได้มากที่สุดหรือทุกหลังคาเรือน บ่อยครั้งที่ชาวบ้านชวนรับประทานอาหาร ซึ่งท่านก็มีความสุขมาก เพราะกับข้าวของชาวบ้านแม้จะมีแต่อาหารพื้น ๆ เช่น น้ำพริกปลาทู แต่ก็อร่อยกว่าที่ท่านเคยรับประทานในที่ใด ๆ เพราะได้ทานท่ามกลางความสุขของครอบครัว ที่ครอบครัวนั้นก็หวังจะให้ท่านเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว คือได้รับประทานอาหารอย่างมีความสุขร่วมกับพวกเขาไปด้วย     

ต่อมาในสมัยที่ท่านเป็นหัวหน้าพรรคกิจสังคม ช่วง พ.ศ. 2518 - 2528 การหาเสียงได้เน้นไปที่การใช้สื่อมวลชน การหาเสียงต้องเน้น "การสร้างภาพ" คือสร้างข่าวและเรื่องราวต่าง ๆ ให้ผู้คนได้จดจำ แต่การเดินไปพบปะกับชาวบ้านก็ยังจำเป็น ท่านบอกว่าถึงอย่างไรคนไทยก็ยังต้องการที่จะรู้จักกันเป็นการส่วนตัว แบบว่ายิ่งสนิทสนมกันเท่าไหน่ก็ยิ่งรักกันและเป็นพวกเดียวกันได้อย่างแนบแน่น     

ท่านบอกว่าถ้าผู้สมัครอยากให้ผู้เลือกตั้งเชื่อใจ ผู้สมัครจะต้องแสดงให้เห็นว่าเขาพร้อมที่จะทุมเทชีวิตนั่น "ร่วมทุกข์ร่วมสุข" กับชาวบ้านได้หมดชีวิตเลย   

 การหาเสียงของผู้สมัครต่าง ๆ ในขณะนี้ ดูเหมือนจะไม่ค่อยอยากเข้าไปใกล้ชิดชาวบ้านสักเท่าไหร่ แม้ว่าจะเดินไปพบปะและถ่ายรูปเซลฟี่อย่างแนบชิด แต่ก็ดูเหมือนว่าพวกเขายังไม่ค่อยเข้าใจผู้คน เพราะแทนที่จะคิดเข้าไปนั่งในหัวใจ แต่ก็ยังทำตัวดูเหมือนเป็นเจ้าคนนายคน แบบที่เรียกว่า "นั่งบนหัวคน"   

ช่วงนี้การหาเสียงคงจะยิ่งเข้มข้นไปเรื่อย ๆ สัปดาห์หน้าจะส่งท้ายก่อนลงคะแนน ด้วย "ไม้เด็ด" สำหรับคนที่ไม่มีเวลาทำแบบที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกมานี้   

 เป็นไม้เด็ดตามตำราซอยสวนพลู แต่ผู้เขียนได้ประยุกต์มาให้เป็นปัจจุบัน และอาจจะไปถึงอนาคต!