“ครอบครัว” คือ “สถาบันพื้นฐานของสังคมที่ประกอบด้วยสามีภรรยาและหมายความรวมถึงลูกด้วย” (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554)

วันครอบครัวกำหนดขึ้นในวันที่ 14 เมษายนของทุกปี จึงจำเป็นต้องย้ำถึงความเป็นมาและความสำคัญของวันครอบครัว ที่สืบเนื่องจากคณะกรรมาธิการกิจการสตรีและเยาวชน สภาผู้แทนราษฎร ได้สรุปผลการศึกษาเรื่องปัญหาเด็กและเยาวชนว่า ปัญหาครอบครัวในปัจจุบันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาสังคมต่างๆ ขึ้น จึงเห็นสมควรจัดให้มี “วันแห่งครอบครัว” ขึ้นเพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักในความสำคัญของครอบครัว และช่วยกันสร้างครอบครัวให้เกิดความอบอุ่น ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง

ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2532 อนุมัติในหลักการตามข้อเสนอของคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายสังคม ที่จะกำหนด “วันแห่งครอบครัว” ขึ้น ส่วนการกำหนดให้วันใดเป็นวันแห่งครอบครัวและมีกิจกรรมใดบ้างนั้น รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์) ในขณะนั้น ได้นำกราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี (พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ) เพื่อพิจารณาอนุมัติและนำเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อรับทราบ พร้อมทั้งให้ถือเป็นมติคณะรัฐมนตรีโดยกำหนดให้วันที่ 14 เมษายน ของทุกปี เป็นวันแห่งครอบครัว

เหตุที่รัฐบาลได้กำหนดให้ วันที่ 14 เมษายน เป็นวันครอบครัว เนื่องจากวันที่ 13 เมษายน เป็นวันสงกรานต์ตามประเพณีไทย ซึ่งในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ประชาชนส่วนใหญ่จะเดินทางกลับไปสู่ครอบครัว (https://www.thaihealth.or.th/)

วันครอบครัวปีนี้ หลังจากวิกฤติคลี่คลายเปิดโอกาสให้ทำกิจกรรมร่วมกันกับครอบครัวได้มากขึ้น เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกัน สร้างภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งต่อปัญหาต่างๆ ในขณะเดียวกันก็เป็นวันครอบครัว ท่ามกลาวบรรยากาศที่ไทยกำลังมีการเลือกตั้ง

ทั้งนี้แม้เป็นเรื่องปกติ ที่คนในครอบครัวย่อมจะมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันบ้าง ที่อาจมีการถกเถียงกัน ตามสำนวน “ลิ้นกับฟัน”  ที่อยู่ใกล้ชิดกันก็กระทบกันบ้าง แต่ไม่รุนแรง

แต่บรรยากาศการเมือง อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการถกเถียง และปะทะกันทางความคิดมากขึ้น  ยิ่งต่างรุ่น ต่างความเชื่อ ก็อาจจะนำพาไปสู่ความไม่ปกติ เช่น ใช้ความรุนแรงต่อกัน ทั้งคำพูด และการกระทำ โดยที่ผ่านมาที่เรามักจะได้ยินข่าวคนในครอบครัวทะเลาะกันเรื่องการเมือง เรื่องไปร่วมชุมนุมเป็นต้น กระทั่งการที่พี่น้องตระกูลเดียวกัน แยกกันเดินในเส้นทางการเมืองคนละขั้วอำนาจ

การเลือกตั้งปี 2566 ที่คาดการณ์กันว่า จะมีการแข่งขันที่ดุเดือดรุนแรงกว่าที่ผ่านมา การปลุกระดมทางการเมืองที่มีความเข้มข้นและยกระดับเพื่อหวังผลแพ้ชนะของพรรคการเมืองต่างๆ จึงอาจจะปัจจัยกระตุ้นให้เกิดผลกระทบต่อปัญหาภายในครอบครัวมากยิ่งขึ้น

ดังนั้นจึงต้องเร่งสร้างภูมิคุ้มกันครอบครัวให้เข้มแข็ง เป็นพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง พร้อมยอมรับฟังความเห็นต่างๆ และอยู่ร่วมกันได้ อย่าให้การเมืองมาทำลายสถาบันครอบครัว

 สุขสันต์วันครอบครัว