รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์

ประธานที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

โอกาสสำคัญของพี่น้องชาวไทยมาอยู่ในมือแล้วครับ อยากจะเปลี่ยน อยากจะสร้าง และอยากจะออกแบบประเทศไทยให้มีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร?  คำตอบชัด ตรงกรอบ และไม่จกตาก็ต้องชักชวนกันไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ส.ส. ในวันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค. 2566 นี้ ให้มากสุดๆเป็นประวัติศาสตร์ ‘คิด เลือก ตัดสินใจ’ เพื่อเลือกอนาคตให้กับประเทศและเราเอง

ระบบการเลือกตั้ง ส.ส. 2566 ใช้ระบบคู่ขนาน มีจำนวน ส.ส. 500 คน ประกอบด้วย ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) 100 คน โดยมีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ “ต่างเขต-ต่างเบอร์” จุดขายคือ ให้ประชาชนเลือกตัดสินใจระหว่าง “คนที่รัก” กับ “พรรคที่ชอบ” ดังนั้นประชาชนจะต้องกาบัตร 2 ใบ ตามประเภท ส.ส.

การเลือกตั้ง ส.ส. 2566 นี้ เกิดขึ้นภายใต้กติกาที่แตกต่างจากการเลือกตั้ง 2562 หรือเมื่อ 4 ปีก่อน แต่ไปคล้ายกับการเลือกตั้งเมื่อปี 2544 2549 และ 2554 บรรดาคอการเมืองและสภากาแฟต่างมองว่ากติกานี้ทำให้พรรคใหญ่เป็นที่รู้จักของประชาชนมากกว่าและมีทรัพยากรเหนือกว่าเป็นฝ่ายได้เปรียบพรรคใหม่หรือพรรคเล็ก โดยเฉพาะการส่งผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งใช้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง

ศึกเลือกตั้ง ส.ส. 2566 นับเป็นนัดชี้ชะตาประเทศไทย ด้วยมีนัยแห่งการต่อสู้ระหว่างการสืบทอดอำนาจเก่าคสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) กับการทวงคืนอำนาจเก่าก่อนเกิดคสช. เป็นงานหินของทั้งสองขั้วอำนาจโดยมีคะแนนเสียงของประชาชนเป็นสิ่งเดิมพัน

ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย “การเลือกตั้ง” เป็นเครื่องมือหรือหนทางนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากที่มาจากประชาชน แต่การเลือกตั้ง ส.ส. ไม่ได้มีผลเฉพาะการแก้ไขปัญหาในพื้นที่/ท้องถิ่นเท่านั้น ด้วยบทบาทหน้าที่สำคัญของ ส.ส. อย่างหนึ่งที่ประชาชนเลือกเข้ามา คือการพิจารณาร่างกฎหมายที่จะบังคับใช้กับประชาชน หากพรรคร่วมรัฐบาลคุมเสียงโหวตของ ส.ส. ในพรรคได้ ก็มีโอกาสสูงที่ร่างกฎหมายนั้น ๆ จะผ่านสภาเพราะรัฐบาลเป็นฝั่งที่ครองเสียงข้างมากในสภา  

แต่บริบทจริงขณะนี้ มี ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 250 ที่นั่ง ซึ่งจะหมดวาระใน ปี 2567 ได้กลายเป็นอาวุธที่สร้าง “โอกาส” ให้กับฟากหนึ่ง และ “อุปสรรค” ให้กับอีกฟากหนึ่ง เสียง ส.ว. ทุกเสียงมีผลต่อการจัดตั้งรัฐบาลหลังรู้ผลการเลือกตั้ง เพราะอีกฝ่ายหนึ่งต้องการ ส.ส. อีกแค่ 126 คนเท่านั้นก็จัดตั้งรัฐบาลไทยแลนด์ คณะที่ 63 สำเร็จแล้ว ด้วยเสียงขั้นต่ำที่จัดตั้งรัฐบาลได้คือ 376 เสียง

แน่นอนว่า ส.ว. ตกเป็นส่วนหนึ่งของเกมเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งนี้ เพราะมีผลสำคัญต่อโฉมหน้ารัฐบาลใหม่ และ ส.ว. เหล่านี้ยังมีอำนาจชี้ว่า ‘นายกรัฐมนตรีไทย คนที่ 30 จะเป็นใคร’ ทำให้ ส.ว. มีอิทธิพลทางอ้อมต่อการเลือกตั้ง ส.ส. ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือบังเอิญก็ตามแต่คิดกัน

เมื่อทุกพรรคการเมืองรู้และเข้าใจถึงสถานการณ์สุดท้ายที่จะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง ทำให้สนามเลือกตั้งแบบแบ่งเขต กลายเป็นสังเวียนดุเดือดเข้มข้นของการชิงชัยเพื่อให้ได้มาซึ่งจำนวน ส.ส. ที่ทุกฝ่ายต้องการโกย ส.ส. ไว้ในพรรคให้ได้มากที่สุดเพราะมันเป็นบันไดแรกแห่งเกมการต่อรองที่จะเกิดขึ้นตามมา

ดังจะเห็นได้ว่า ในวันแรกของการเปิดรับสมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตและ ส.ส. แบบรายชื่อ ที่ทุกพรรคต่างโชว์ฟอร์มดี ตามคาด สามารถดึงดูดความสนใจของประชาชนกันเต็มๆ และยังถือเป็นการเผยหมดหน้าตักเกี่ยวกับผู้สมัคร ส.ส. ทั้งสองแบบที่ก่อนหน้านี้เต็มไปด้วยข่าวลวง ข่าวหลอก และ ‘สับ’ กันให้มั่วไปหมด 

เพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะในการเลือกตั้งนัดชี้ชะตาบ้านเมืองทำให้ทุกพรรคต่างเฟ้นหาตัวผู้สมัคร ส.ส. ที่มีชื่อเสียง ยิ่งมาจากตระกูลการเมืองเก่าแก่เด่นดังอยู่แล้วก็ยิ่งดี หรือไม่ก็ต้องเป็นคนที่ประชาชนรู้จัก เป็นผู้ทรงอิทธิพลในท้องถิ่น เป็นผู้ที่คอยช่วยเหลือประชาชน ยิ่งกว่านั้น ถ้าพรรคการเมืองไหนมีแคนดิเดตนายกฯที่โดดเด่น เคยมีผลงานเข้าตาประชาชน หรือมี นโยบายที่โดนใจก็จะเป็นผลดีทั้งต่อพรรคและตัวผู้สมัคร เข้าค่าย “พรรคเอื้อคน คนเอื้อพรรค”

เมื่อโอกาสสำคัญของพี่น้องชาวไทยมาอยู่ในมือแล้ว อย่าปล่อยให้หลุดมือไปง่าย ๆ ช่วยกัน ๆ ไปใช้สิทธิเยอะ ๆ เพื่อร่วมกันพลิกโฉมประเทศไทยครับ