การฝ่าวงล้อมในจังหวะที่การหาเสียงกำลังเข้มข้น อาจไม่ใช่เรื่องง่ายดายนัก สำหรับ พรรคเพื่อไทย ที่วันนี้ต้องเจอกับ มรสุม หลายด้านพัดเข้าใส่ หลังจากที่ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี อย่าง เศรษฐา ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย เพิ่งขึ้นเวทีใหญ่เปิดตัวนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทไปหมาดๆ
ล่าสุดเศรษฐา ขึ้นเวทีปราศรัย คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน ที่ ตลาดนัดคลองถมห้างฉัตร อําเภอเมือง จังหวัดลําปาง เมื่อวันที่ 9 เม.ย.66 ที่ผ่านมา ยืนยันว่านโยบายนี้ ต้องไปต่อ แม้จะเผชิญกับ แรงเสียดทาน ก็ตาม โดยย้ำว่าเป็นมาตรการที่จำเป็น
เพราะ 8 ปีที่ผ่านมา ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเพื่อนพ้องพรรคร่วมรัฐบาล ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน พรรคเพื่อไทยจึงต้องการให้มีการใช้เงินให้หมดภายใน 6 เดือน ยิ่งใช้เงินเร็ว ยิ่งกระตุ้นเศรษฐกิจได้เร็ว
เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายการเมือง ดังกระหึ่มอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการตั้งข้อสังเกตว่านโยบายเติมเงินในกระเป๋าเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทให้คนไทยอายุ 1ปีขึ้นไป อาจเข้าข่าย สัญญาว่าจะให้ ผิดพ.ร.บ.เลือกตั้งส.ส.หรือไม่
แน่นอนว่าแม้เศรษฐา จะย้ำว่านโยบายนี้จะต้องเดินหน้า และการที่ถูกตีเช่นนี้ เพราะมาจาก ความกลัวของฝ่ายตรงข้ามก็ตาม แต่ในความเป็นจริงแล้ว ภายในพรรคเพื่อไทยเองได้เรียกฝ่ายกฎหมาย และทีมเศรษฐกิจ เข้าพรรคเพื่อเตรียมชี้แจงต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ภายหลังจากที่กกต.ได้แจ้งเรื่องและเชิญเข้าชี้แจง ที่มาที่ไปของนโยบายดังกล่าว
นอกจากนี้ประเด็นที่น่าสนใจคือการออกมา เขย่า จากแกนนำพรรคพลังประชารัฐ อย่าง ไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรค ที่เล่น ข้ามช็อต ไปไกลแล้วว่า นโยบายของพรรคเพื่อไทยอาจเข้าข่ายหลอกลวง แต่หากเข้าไปสู่การพิจารณาในที่ประชุมรัฐสภา กันขึ้นมาจริง ก็คงไม่ผ่านความเห็นชอบจาก วุฒิสมาชิก ที่เตรียมจะตั้งท่า ตีตก อย่างแน่นอน
หรือหากฝ่าด่าน สภาสูง ชุดปัจจุบันไปได้จริง อย่าลืมว่ายังมีอีกด่านสำคัญนั่นคือ ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะมีผู้ไปยื่นเรื่องร้องต่อศาลแน่นอน
การออกมาส่งสัญญาณจากไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ย่อมไม่ใช่เรื่องเลื่อนลอย เพราะไพบูลย์ มาจากกลุ่ม40 ส.ว.ในอดีต ซึ่งปัจจุบันส.ว.กลุ่มนี้ก็ยังมีบทบาทในสภาสูงเช่นเดิม แต่กว่าจะไปถึงขั้นตอนตามที่ไพบูลย์ พูดถึงนั้น ยังต้องลุ้นว่า นโยบายเติมเงินกระเป๋าเงินดิจิทัล คนละ 1 หมื่นบาทนั้น จะไปไกลอีกแค่ไหน !?