ทวี สุรฤทธิกุล

;เวลาหาเสียงอันน้อยนิด ทำอย่างไรจะ “จับใจ” ผู้เลือกตั้งให้ได้มากที่สุด

ความจริงในประเทศที่เจริญแล้ว(ในทางการเมือง) การเลือกตั้งเขาให้เวลาหาเสียงไม่มาก โดยเฉพาะการเลือกตั้ง ส.ส.หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่เขามักจะใช้ระบบ 1 เขต 1 คน แบบที่เราใช้กันมา 20 ปีแล้วนี่แหละ (ตั้งแต่การเลือกตั้งในปี 2544) แต่เขาให้เวลาในการหาเสียงอย่างมากก็แค่ 1 เดือน หรือถ้าเป็นการเลือกตั้งด้วยเหตุที่มีการยุบสภาด้วยแล้ว บางทีก็ให้หาเสียงกันแค่  2 อาทิตย์ หรือไม่เกิน 15 วัน

        แต่เขาก็ไม่ได้บ่นกระปอดกระแป็ด เจ็ด แปด เก้า แบบเรา เพราะการเมืองของเขาตั้งอยู่บนวัฒนธรรมที่ว่า นักการเมืองต้องใกล้ชิดกับประชาชน เขาทำงานให้กับประชาชนทุกวัน ไม่ได้มาให้ประชาชนเห็นหน้าเฉพาะในตอนที่มีการเลือกตั้ง อีกทั้งเขาต้องทำงานเพื่อป้องกันแชมป์ในทุกนาที ดังนั้นเขาจึงต้องเข้าหาประชาชนและอยู่กับประชาชนตลอดเวลา อย่างน้อยก็ด้วยระบบการสื่อสารต่าง ๆ

         ของเรานี่นอกจากเวลาหาเสียงจะนานมากแล้ว กติกาต่าง ๆ ก็หยุมหยิม ทั้งนี้เพราะเรามีวัฒนธรรมแบบ “ศรีธนญชัย” พวกเจ้าเล่ห์เจ้ากลมันเยอะ คนร่างรัฐธรรมนูญแม้จะเป็นถึงระดับอาจารย์ของศรีธนญชัยก็ยังตามไม่ทัน ดังนั้นจึงไม่ต้องหวังพึ่ง กกต, ที่ต้องออกระเบียบต่าง ๆ มาตามล้างตามเช็ด แต่ก็ทำได้แค่ตามดม หรือบางทีก็ทำเป็นเหมือนกับว่าไม่รู้ไม่เห็น โดยอ้างว่าจับไม่ได้ไล่ไม่ทันกระนั้น

        ได้ยินมาว่า แค่เอาลำโพงใส่รถแล้วเปิดเพลงวิ่งไปตามตรอกซอกซอย ก็ถือว่าเป็นมหรสพ ถ้า กกต.เห็นก็ตั้งข้อหาได้เลยว่าทุจริตการเลือกตั้ง ดังนั้นก็เลยเห็นแต่รถวิ่งติดเบอร์ เป็นใบ้ ไม่มีเสียง(เพลง)

          ผู้เขียนจำความทางการเมืองได้ครั้งแรกก็คือการเลือกตั้ง ส.ส.ใน พ.ศ. 2512 ตอนนั้นผู้เขียนอายุแค่ 10 ขวบ แต่ก็วิ่งออกมาดูรถหาเสียงที่เขาเปิดเพลงดังลั่นมาตั้งแต่ปากซอย จากนั้นก็ตามไปตลาดที่เขาจัดปราศรัย จำได้ว่าคนที่ขึ้นไปพูดแต่ละคนนั้น ลีลาท่าทางและการพูดสุดยอดทุกคน อย่างน้อยก็ทำเอาเด็ก ๆ อย่างผู้เขียนและเด็กอื่น ๆ ในชุมชน อ้าปากหวอ เหมือนได้ดูการแสดงที่สนุกสนานเป็นที่สุดนั่นที่เดียว

           พอถึงการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2522 ซึ่งเป็นการใช้สิทธิครั้งแรกของผู้เขียน พอดีกับที่เรียนจบและได้มาทำงานเป็นผู้ช่วยเลขานุการของหัวหน้าพรรคกิจสังคม ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ทำให้มีแรงกระตุ้นให้สนใจในการใช้สิทธิ์ของตนเองค่อนข้างมาก แน่นอนว่าได้เลือกผู้สมัครของพรรคกิจสังคม แต่กระนั้นก็ชื่นชอบพรรคการเมืองอีกหลาย ๆ พรรค ที่มีวิธีการหาเสียงที่น่าสนใจ ซึ่งต่อมาเมื่อมาเป็นอาจารย์ที่สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ก็ได้นำมาใช้ประโยชน์ในการเรียนการสอนได้มาก

              ความจริงการหาเสียงมีเทคนิคและวิธีการที่ไม่ได้ยุ่งยากอะไรเลย ถ้าเรารู้ “หลักการ” ของการหาเสียงเป็นอย่างดี

           ผู้เขียนขอนำเสนอวิธีการของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ที่หลาย ๆ คนในยุคสมัยก่อน นับถือว่าท่านเป็น “ปรมาจารย์” หรือ “ซือแป๋แห่งซอยสวนพลู” ด้วยความสามารถอย่างหนึ่งคือ “หยั่งรู้ฟ้าดิน” รวมถึง “หยั่งรู้ใจคน” โดยเฉพาะผู้เลือกตั้งนั้นด้วย

          หลักการ “หยั่งรู้ใจคน” ของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์นั้น สามารถสรุปได้เป็น 3 ข้อ

         1.มองภาพรวมของกลุ่มคนทั้งหมดก่อนว่า พวกเขาทั้งหมดนั้นมีบุคคลใดเป็น “แกนยึด”  

         อย่างถ้าเป็นระดับชาติ คนไทยก็มีพระเจ้าอยู่หัวเป็นแกนยึด บางคนจึงเรียกสังคมไทยว่าเป็นสังคมอนุรักษ์นิยมแบบจารีตนิยม คือยึดติดกับสถาบันและจารีตประเพณี่ในแบบเก่า ๆ ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง พอใจในสถานภาพที่เป็นอยู่ เชื่อฟังพ่อแม่ครูอาจารย์จนถึงผู้มีอำนาจทั้งหลาย

          เมื่อย่อส่วนลงมาในเขตเลือกตั้ง ในชุมชนนั้นก็ต้องมี “เจ้าที่ - เจ้าถิ่น” หรือคนผู้เป็นที่นับหน้าถือตาของชาวบ้าน ที่ทางราชการเรียกว่า “ผู้มีอิทธิพล” แต่คนที่เขาเคารพนับถือกันจะเรียกเพราะ ๆ ว่า “ผู้มีบารมี” ดังนั้นผู้สมัครถ้าไม่ใช่ “คนคนนั้น” ก็ต้องเป็นคนที่ “คนคนนั้น” สนับสนุน หรือยินยอมเห็นชอบ

         ในปี 2524 มีการเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดชลบุรี คุณบุญชู โรจนเสถียร ที่เป็นถึงอดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และเป็นหัวทีม ส.ส.พรรคกิจสังคมที่จังหวัดชลบุรี ได้มาขอให้ท่านอจารย์คึกฤทธิ์ไปพบกับบุคคลคนหนึ่ง ที่กำลังผ่าตัดฝีที่ก้นและพักฟื้นอยู่ในโรงพพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี คนคนนั้นมีตำแหน่งแค่ “กำนัน” แต่ว่าคนอย่างอดีตนายกรัฐมนตรียังต้องไปขอพบ เพราะคนคนนั้นเป็น “ผู้มีบารมีที่สุด” ในจังหวัดชลบุรีในตอนนั้น  

           2.มองเป็นรายกลุ่มย่อยว่า เขาคิดหรือเขาพูดคุยกันเรื่องอะไร เพื่อพูดคุยให้เป็น “ภาษาเดียวกัน”

          ผู้เขียนติดตามท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ไปหาเสียง ทั้งเลือกตั้งใหญ่และเลือกตั้งซ่อมอยู่เกือบ 10 ปี (2522 - 2531) พบว่าท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ท่านจะมี “แหล่งข่าว” หรือ “ผู้ให้ข้อมูล” ในแต่ละถิ่นที่อยู่อย่างมากมาย ส่วนหนึ่งก็คือ ส.ส.หรือนักการเมืองท้องถิ่นในเขตเลือกตั้งนั้น ท่านก็จะพูดคุยหาข้อมูลกับคนเหล่านั้น เช่น ชาวบ้านเขาทำมาหากินอะไร มีปัญหาอะไร แต่ท่านจะไม่ถามว่าชาวบ้าน “ต้องการอะไร” เพราะนั่นเป็น “ไม้เด็ด” ที่ท่านจะเอาเปิดเผยด้วยตัวของท่านเองบนเวทีปราศรัย

           ครั้งหนึ่งท่านไปหาเสียงที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แถวลาดชะโด อำเภอเสนา มีผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งมาคุยกับท่านในระหว่างที่ท่านรอขึ้นจะปราศรัย พอท่านถามถึงปัญหาของชาวบ้าน ผู้ใหญ่บ้านก็บอกว่าคนแถวนี้ชอบประกวดประชันกัน แบบว่าใครจะมีดีมีเด่นกว่าใครไม่ได้ เท่านั่นแหละ พอท่านขึ้นเวที ท่านก็พูดถึงการแข่งขันเรื่องหน้าตาของชาวบ้านนั้นว่าจะทำให้ทะเลาะกันเดือดร้อนเสียเปล่า ๆ แล้วท่านก็ยกกลอนลิเกที่คนแถวนั้นรู้จักกันดีขึ้นมาร้อง

           “(ร้องราดนิเกริง) บ้านลาดชะโดเขาคนมี บ้านเขามุงสังกะสีอยู่กึงกัง ไอ้บ้านฉันมันคนยาก มุงแต่จากแกมซัง...” เสียงผู้ฟังฮาครืนไปทั้งตลาด และพรรคกิจสังคมชนะเลือกตั้งในเขตนั้น

           พอดีหมดพื้นที่ ไว้สัปดาห์หน้ามาอ่านต่อ ซึ่ง “หลักการ” ของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์นี้ยังมีอีกข้อหนึ่ง รวมถึงยังมีเทคนิคและวิธีการที่ท่านได้นำมาใช้อีกมาก และก็คงจะยังมีนักการเมืองในทุกวันนี้นำมาใช้อยู่มากเหมือนกัน

        “แม่ไม้มวยเก่า” ไม่ใช่ของเก่าล้าสมัย เพียงแต่เอามาประยุกต์ปรับใช้ ก็สามารถมีชัยชนะได้โดยง่าย !