เสือตัวที่ 6

การต่อสู้ของกลุ่มคนอย่างเป็นขบวนการที่มีต่อรัฐผู้ปกครอง มีอยู่หลากหลายในมุมต่างๆ ของโลก โดยมีการกล่าวอ้างเหตุผลของการต่อสู้กับรัฐอยู่หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเพื่ออุดมการณ์ของกลุ่ม เหตุผลทางประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ อัตลักษณ์เฉพาะกลุ่ม หรือกระทั่งเหตุผลที่กล่าวอ้างและยึดโยงกับความเชื่อทางศาสนา ทั้งหลายทั้งปวงก็เพื่อเป้าหมายปลายทางสุดท้ายของการต่อสู้ก็คือ การแบ่งแยกดินแดนเพื่อปกครองกันเองในที่สุด โดยใช้วิธีการต่อสู้หลากหลายรูปแบบทั้งการต่อสู้ด้วยอาวุธ ใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้กับรัฐ คู่ขนานกับการต่อสู้ทางความคิดเพื่อแย่งชิงมวลชนมาเป็นฝ่ายตนให้มากที่สุด ทำให้ขบวนการในการต่อสู้กับรัฐที่มีอยู่หลากหลายกลุ่ม เป็นปัญหาที่กระทบต่อบูรณภาพแห่งดินแดนของรัฐที่เกิดขึ้นมาหลายทศวรรษ โดยแต่ละกลุ่มของขบวนการเหล่านั้นล้วนมีเป้าหมายร่วมกันคือการแบ่งแยกดินแดนปลายด้ามขวานให้เป็นอิสระจากการปกครองของไทยแล้วปกครองกันเองตามวิถีที่กลุ่มตนวาดหวังไว้

ท่วงทำนองในการต่อสู้ของขบวนการแบ่งแยกการปกครองจากรัฐนั้น ได้มีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์การต่อสู้กับรัฐอย่างต่อเนื่องเพื่อให้คงความได้เปรียบรัฐอย่างคงเส้นคงวา การต่อสู้ตามแผนบันได 7 ขั้นที่วางไว้แต่เดิม ก็ได้ปรับเปลี่ยนเมื่อก้าวย่างการเดินหน้าตามแผนดังกล่าวนั้นมีวี่แววว่าจะไปไม่ถึงเป้าหมายสุดท้ายที่วางไว้ การต่อสู้ด้วยความรุนแรงเพื่อสร้างความไม่สงบในพื้นที่ให้ขยายไปในวงกว้างไปยังต่างประเทศตามแผนที่จะเข้าทางสิทธิในการกำหนดใจตนเองตามบรรทัดฐานเงื่อนไขของประชาคมโลก ได้ล้มเหลวลง กลุ่มแกนนำขบวนการจึงต้องปรับเปลี่ยนไปเป็นการติดอาวุธทางความคิดให้กับกลุ่มคนทุกเพศทุกวัยในพื้นที่แม้แต่คนในพื้นที่ที่ไปศึกษาหรือทำงานอยู่นอกพื้นที่ ให้คนกลุ่มนี้ยังคงมีวิธีคิดที่สอดประสานกับแนวคิดของขบวนการแห่งนี้ เพื่อให้สามารถคงพลังในการต่อสู้กับรัฐได้อยู่ต่อไป และเมื่อใดที่สถานการณ์อำนวย คนกลุ่มนี้ที่เป็นมวลชนในพื้นที่ ก็จะสามารถร่วมกันนำพาการต่อสู้ไปถึงเป้าหมายสุดท้ายที่ต้องการได้ในที่สุด

             ขบวนการแบ่งแยกดินแดนภาคใต้ อาจจัดได้เป็น 3 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ กลุ่มอำนาจเก่า กลุ่มผู้นำศาสนา กลุ่มอำนาจใหม่ ทุกกลุ่มมีเป้าหมายประกาศเอกราชจากรัฐบาลไทย แต่อุดมการณ์และวิธีการของแต่ละกลุ่มแตกต่างกันไป รวมทั้งเงื่อนไขสำคัญในการแบ่งแยกการปกครองกันเองในพื้นที่มีความหลากหลาย อาทิ ข้อเรียกร้องของนายฮะยีมูฮำมัด สุหลง บิน ฮะยีอับดุลกาเดร์ คือ 1.ขอให้รัฐบาลรับรองว่า 4 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา สงขลา และสตูล เป็นแคว้นมลายู และขอให้แต่งตั้งข้าราชการผู้ใหญ่ขึ้นผู้หนึ่ง ซึ่งคนในแคว้นนี้เป็นผู้เลือกจากผู้ที่เกิดในแคว้นนั้น และขอให้มีอำนาจปกครองทุกๆ ประการใน 4 จังหวัดนี้ ซึ่งถือเป็นแคว้นๆ หนึ่ง 2.ในบรรดาข้าราชการใน 4 จังหวัดนี้ ต้องเป็นผู้ถือศาสนาอิสลามร้อยละ 80  3.ภาษาที่ใช้ในแคว้นนี้ให้ใช้ภาษาไทยและภาษามลายู 4.ในโรงเรียนประถมให้ใช้ภาษามลายู 5.ให้รัฐบาลรับรองกฎหมายศาสนา และขอให้แยกศาสนาเสียจากศาลบ้านเมือง ตุลาการของศาลนั้นให้ใช้คนอิสลามที่รอบรู้ 6.บรรดาภาษีอากรต่างๆ ที่เก็บได้ใน 4 จังหวัดนั้นให้ใช้เพื่อประโยชน์ของจังหวัดนั้น 7.ให้ตั้งองค์กรศาสนาอิสลาม ให้มีอำนาจเต็มในเรื่องที่เกี่ยวแก่ศาสนาอิสลามใน 4 จังหวัดนี้ อยู่ในความควบคุมและกุศโลบายของข้าราชการผู้ใหญ่ผู้นั้น ซึ่งจะเห็นว่าข้อเรียกร้องทั้ง 7 ข้อนั้นเป็นประเด็นสำคัญในการเป็นอิสระในการปกครองกันเองของแกนนำในพื้นที่แห่งนี้ที่รัฐจะยินยอมไม่ได้

            การต่อสู้ของขบวนการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่จึงมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการต่อสู้โดยมุ่งเป้าไปที่การหล่อหลอมกล่อมเกลา บ่มเพาะแนวคิดแปลกแยกแตกต่างจากรัฐอย่างเข้มข้น โดยการต่อเติมความคิดเชื่อมโยงไปกับประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ของกลุ่มคนในพื้นที่ท้องถิ่น ยึดโยงให้เป็นการเชื่อมต่อวัฒนธรรมในท้องถิ่นดั้งเดิมทั้งการแต่งกาย ภาษา ประเพณี และความเชื่อทางศาสนาอย่างเข้มข้น ที่เป็นอัตลักษณ์ประจำถิ่นหลอมรวมความคิดความเชื่อของคนทุกหมู่พวกในพื้นที่ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน อันจะนำไปสู่การแบ่งแยกแตกต่างของคนในพื้นที่กับคนต่างถิ่นต่างพื้นที่ของรัฐในส่วนอื่นๆ ออกไปทั้งทางกายภาพและทางความคิด โดยดำเนินการผ่านการสั่งสมบ่มเพาะทางการศึกษาในทุกรูปแบบที่ซ่อนพรางการเข้าถึงของรัฐ และผ่านการจัดกิจกรรมครั้งแล้วครั้งเล่าที่แสดงออกอย่างซับซ้อนจนรัฐแยกไม่ออกระหว่างการแสดงออกทางวัฒนธรรมประจำถิ่นที่สวยงามกับการส่งสัญญาณถึงความแตกต่างจากรัฐอย่างสุดโต่ง การรวมตัวกันของกลุ่มเยาวชนชายชาวมุสลิมนับหมื่นคนในชุดการแต่งกายแบบชาวมลายู ที่เป็นชุดประจำถิ่นของประชาชนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ในช่วงเดือนพฤษภาคมในปี 2565 ที่ผ่านมา เป็นกิจกรรมหนึ่งที่สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้คนไม่น้อย เพราะเป็นการรวมตัวของเยาวชนชายชาวมุสลิมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยฝ่ายจัดกิจกรรมอ้างว่าเป็นการแสดงถึงอัตลักษณ์มลายู เป็นการแสดงออกถึงวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ แต่นักวิชาการที่เป็นกลางกลับมองอีกแง่มุมหนึ่งว่ากิจกรรมนี้ถือเป็นการต่อสู้ทางการเมืองอีกรูปแบบหนึ่งของขบวนการที่มีเป้าหมายเดียวกันคือการแบ่งแยกการปกครองจากรัฐให้มีอำนาจการปกครองกันเองตามวิถีที่กลุ่มตนต้องการ

            ปรากฏการณ์การรวมตัวของเยาวชนทั้งชายและหญิงชาวมลายูมุสลิมชายแดนใต้ดังกล่าว มีชื่อเรียกในภาษามลายูว่าเปอร์มูดอ ภายใต้กิจกรรม Perhimpunan Malays RAYA 2022 โดยมีการรวมตัวเปอร์มูดอ จากทั้งสามจังหวัดชายแดน ได้แก่ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จำนวนมากเป็นหลักหมื่นคน ที่นักวิชาการท่านหนึ่ง ประจำสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ กล่าวกับบีบีซีไทยว่า เจตนาที่ทางกลุ่มตั้งใจจากการจัดกิจกรรมคงเป็นเรื่องของการเสริมสร้างสนับสนุนเรื่องอัตลักษณ์มลายู แต่ว่าการส่งเสริมอัตลักษณ์มลายูนั้นอาจมีนัยยะทางการเมืองอยู่เหมือนกัน โดยถึงแม้ไม่ใช่การแอบแฝง แต่การกระทำดังกล่าวก็มีอยู่ในตัวของมันอยู่แล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการต่อสู้ทางการเมือง แม้ไม่ได้ระบุว่ากลุ่มคนที่มาเกี่ยวข้องหรือไม่ กับแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ (บีอาร์เอ็น) แต่ว่าในเชิงอุดมการณ์ของกลุ่มบีอาร์เอ็นเองก็มีการชูธงเกี่ยวกับเรื่องเอกราชของคนปัตตานี ซึ่งมีเรื่องของอัตลักษณ์ความเป็นมลายูอยู่ด้วย ดังนั้น ไม่ว่าคนกลุ่มนี้จะปรับเปลี่ยนวิถีการต่อสู้ไปในรูปแบบใด ทั้งการมุ่งเน้นการต่อสู้ด้วยอาวุธ หรือมุ่งเน้นการต่อสู้ทางความคิด หากแต่ว่าในท้ายที่สุดการต่อสู้กับรัฐก็ยังคงเส้นคงวาในการมุ่งบรรลุเป้าหมายสุดท้ายเดียวกัน นั่นคือการแบ่งแยกการปกครองจากรัฐไทยอย่างชัดเจน