แสงไทย เค้าภูไทย
ดอลลาร์จะหมดยุคครองโลกแล้วหรือเมื่อบรรดาสมาชิกอาเซียนพากันลดพึ่งพาจนถึงบอยคอต หันมาใช้เงินชาติตัวเอง ทำให้คาดการณ์ต่างๆนานาว่ายุคของดอลลาร์ครองโลกกำลังจะหมดไป
การประชุมของรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของชาติสมาชิกอาเซียนเมื่อวันอังคารที่แล้วที่อินโดนีเซียวาระสำคัญที่สุดที่นำมาถกกันก็คือคือการลดการพึ่งพาอิงค่าเงินท้องถิ่นต่อดอลลาร์สรอ. ยูโร ปอนด์และเยน โดยหันมาทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศด้วยสกุลเงินท้องถิ่น
สกุลเงินทั้งสี่ที่อาเซียนจะไม่พึ่งพานั้น ล้วนเป็นสกุลเงินตราที่เป็นสำรองเงินตราต่างประเทศของ IMF ซึ่งมี 5 สกุล โดยหยวนรั้งท้าย
ในการประชุมเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปีที่แล้ว มีการทำข้อตกลงระหว่างชาติอาเซียน Local Currency Transaction (LCT) โอนเงินผ่านระบบดิจิทัลโดยตกลงกันว่าจะทำการค้าระหว่างกันโดยใช้สกุลเงินของแต่ละประเทศอันประกอบด้วยอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์และไทยแทนดอลลาร์สรอ.
เป็นที่น่าสังเกตว่า ไม่มีเวียดนาม ลาว กัมพูชา เมียนมา บรูไน
นอกจากไม่อิงและใช้ดอลลาร์เป็นสื่อกลางซื้อขาย แลกเปลี่ยน จ่าย โอนแล้ว อินโดนีเซียยังเสนอให้เลิกใช้บัตรเครดิตของโลกตะวันตกด้วย โดยหันมาใช้บัตรเครดิตที่ออกโดยธนาคารชาติของแต่ละประเทศแทน
ประเด็นหลังนี้ ไม่มีการลงมติ เพราะถือว่ากิจการเครดิตการ์ด เป็นของเอกชน ซึ่งตามปกติธนาคารเอกชนทุกธนาคารล้วนออกบัตรเครดิตแก่ลูกค้าเงินฝาก ของตนอยู่แล้ว
การที่กระแสเมินดอลลาร์เกิดขึ้นในระยะนี้ ถือเป็นผลสืบเนื่องมาจากความเบื่อหน่ายดอลลาร์ที่ค่าเปลี่ยนแปลงไปตามบทบาทของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ที่ใช้วิธีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสกัดกั้นเงินเฟ้อ
ขึ้นทีก็กระเทือนไปทั้งโลกที ดอลลาร์แข็งค่า สกุลเงินที่ผูกพันก็ผกผันอ่อนค่า
หรือเมื่อเฟดเพิ่มสภาพคล่องเข้าไปในตลาดตราสารหนี้และพันธบัตร ที่เรียกว่ามาตรการ QE ค่าดอลลาร์อ่อน ค่าเงินเกือบทั่วโลกก็แข็ง
ช่วงประธานาธิบดีทรัมป์ทำสงครามการค้า (Trade War) และสงครามเงินตรา(Currency War) กับจีน ค่าดอลลาร์อ่อนมากจีนถึงกับต้องแทรกแซงค่าหยวนเพื่อให้อ่อนค่า
ไทยเราก็ได้รับผลกระทบด้วย ค่าบาทแข็งเสียจนบรรดาผู้ส่งออกเรียกร้องให้ธปท.แทรกแซงค่าบาทให้อ่อนค่าลง
ช่วงนั้นค่าบาทดอลลาร์ 29-31 บาท ผู้ส่งออกต้องการให้อยู่ประมาณ 34-35 บาท เพื่อสินค้าไทยจะได้ถูกลงส่งออกได้มากขึ้น
มีผู้มองว่าหยวนจะมาแทนที่ดอลลาร์เหมือนกับดอลลาร์แทนที่ปอนด์
เหตุผลคือจีนเป็นเศรษฐกิจใหญ่อันดับสองของโลกรองจากสหรัฐฯและจีนมีขนาดจีดีพีสูงถึง 17.7 ล้านล้านดอลลาร์อันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯเช่นกัน
นอกจากนี้ จีนกับรัสเซียได้ก่อตั้งกลุ่ม BRICS ( B-บราซิล R-รัสเซีย I-อินเดีย C-จีน S-แอฟริกาใต้) โดยหวังจะใช้เงินตราสกุลของพวกตนที่ตัดการผูกพันค่าจากดอลลาร์
ช่วงนี้การแซงก์ชั่นรัสเซียต่อการบุกยูเครนของกลุ่มนาโต้และสหรัฐพร้อมบริวารรัสเซียถูกตัดขาดจากเครือข่าย SWIFT ที่เป็นระบบการโอนเงินระหว่างประเทศ 208 ประเทศ ธนาคาร 8,100 แห่ง
ทำให้รัสเซียต้องหันมาพึ่งจีนกับอินเดีย
ทำให้มองกันว่า จีนที่เป็นหัวเรือใหญ่ของ บริกส์จะผลักดันหยวนให้เป็นเงินตราสกุลหลักของโลก
แต่เท่าที่ผ่านมา หยวนเป็นได้แค่เงินตราใช้ซื้อ ขายจ่ายโอนระหว่างประเทศคู่ค้า เท่านั้นอย่างเช่นซื้อน้ำมันจากโอเปกและกลุ่มอาหรับ กับน้ำมันรัสเซียเป็นต้น
การยอมรับหยวนยังต่ำอยู่ จีนให้เงินกู้บรรดาชาติที่อยู่บนเส้นทาง One Belt One Road ที่จีนให้เงินกู้เพื่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ ที่แต่แรกจีนให้กู้เป็นหยวน
แต่พอพวกชาติเหล่านั้นได้เงินหยวนไป ก็เอาไปแลกเป็นดอลลาร์ทันที
มองกันว่าเงินหยวน จะแทนที่ดอลลาร์ได้ในอนาคต นักวิเคราะห์การเงินบอกว่าอาจเป็นได้หากมองย้อนไปในประวัติศาสตร์ที่กว่าดอลลาร์จะแทนที่ปอนด์ได้ใช้เวลา 30-50 ปี
สำหรับหยวนอาจนานกว่า เพราะสัดส่วนของหยวนในตลาดเงินตรา การค้าโลก หยวนมีส่วนแบ่งแค่ 3% ขณะที่ดอลลาร์สรอ.มีถึง 87%
มีการสำรวจความเห็นผู้บริหารระดับสูงของธนาคารกลางทั่วโลกที่มีสำรองเงินตรารวมกันถึง7.3 ล้านล้านดอลลาร์ถึงความเชื่อมั่นในดอลลาร์พบว่า82% ยังเชื่อมั่นในดอลลาร์
ยิ่งกว่านั้น ในสำรองเงินตราต่างประเทศ(Foreign Reserve) ใน IMF ดอลลาร์ มีสัดส่วนถึง 60% เงิน หยวนมีแค่ 17% ซึ่งก็มาจากรัสเซียที่ถูกคว่ำบาตร
อีกเหตุผลหนึ่งที่ดอลลาร์ยังคงครองความเป็นสกุลเงินหลักของโลกก็คือ ความเป็นเจ้าด้านเทคโนโลยี
นอกจากนี้ยังมีสำรองทองคำสูงที่สุดในโลก ไม่ให้ความสำคัญสำรองเงินตราต่างประเทศ ทำให้มีอันดับที่ 14 สูงกว่าไทยแค่ 2 อันดับ
ที่สหรัฐฯตุนทองคำไว้มากก็เพราะทองคำไม่เสื่อมค่ามีแต่เพิ่มค่า สวนทางกับดอลลาร์ที่นับแต่ปี 1971 มาจนถึงขณะนี้ดอลลาร์เสื่อมค่าถึง 98%
ยามนี้จึงมีแต่พากันตุนทองคำ สภาทองคำโลกรายงานว่า ปีกลาย 2022 มีการซื้อทองคำมากที่สุดในรอบ 50 ปี
ในยามที่เศรษฐกิจโลกย่างเข้าสู่ภาวะถดถอย ทองคำถือเป็น แหล่งหลบภัยที่ปลอดภัยที่สุดของเงินตรา