ทวี สุรฤทธิกุล
“โพล - ผล - โผ” ก็คือโหราศาสตร์ทางการเมือง อย่างที่พูดกันว่า “หมดดูคู่หมอเดา”
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้รับเชิญจากเพื่อนอาจารย์เจ้าของโพลชื่อดัง ให้ไปช่วยวิเคราะห์ผลโพลที่เขาได้จัดทำขึ้น ในทำนองให้ไปช่วยยืนยันว่าเป็นโพลที่น่าเชื่อถือและมีความแม่นยำ
“โพล” เป็นคำทับศัพท์ “Poll” คำแปลที่เข้าใจได้ง่าย ๆ ก็คือ “การหยั่งเสียง” ทำให้ผู้เขียนนึกถึงคำไทยอีกคำหนึ่งที่ว่า “หยั่งใจ” อย่างในโคลงสุภาษิตโบราณที่บอกว่า “พระสมุทรสุดลึกล้น คณนา สายดิ่งทิ้งทอดมา หยั่งได้ เขาสูงอาจวัดวา กำหนด จิตมนุษย์นี้ไซร้ ยากแท้หยั่งถึง” ซึ่งเป็นเรื่องยากนักที่จะหยั่งรู้จิตใจของใครต่อใคร
แต่ก็มีคนที่พยายามจะหยั่งรู้จิตใจมนุษย์ พวกแรกน่าจะเป็นจิตแพทย์ จนกระทั่งมาถึงนักรัฐศาสตร์ ที่พยายามจะนำวิธีของจิตแพทย์นั้นมาใช้กับการพยากรณ์ต่าง ๆ ทางการเมือง โดยเฉพาะผลการเลือกตั้ง ซึ่งตามตำราบอกว่าทำกันครั้งแรกที่สหรัฐอเมริกา และมีชื่อเสียงมาก ๆ ในชื่อ Gallup Poll
Gallup Poll ตั้งขึ้นเป็นบริษัทในชื่อ Gallup Inc. โดยนายจอร์จ แกลลัพ ในปี 1935 เริ่มทำนายผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในการเลือกตั้งปี 1936 ซึ่งปรากฏผลว่านายแฟรงกลิน ดี. รูสเวลท์ ชนะเลือกตั้งตามที่บริษัทแกลลัพทำนาย จากนั้นก็ได้รับความเชื่อถือ มีผู้ติดตามผลการทำนายของบริษัทแกลลัพมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็มีความแม่นยำเสมอมา รวมทั้งที่ได้ขยายกิจการไปในการสอบถามความคิดเห็นผู้บริโภคในสินค้าต่าง ๆ อีกด้วย จนกระทั่งในการเลือกตั้งครั้งหลัง ๆ สัก 10 กว่าปีมานี้ ที่โซเชียลมีเดียต่าง ๆ มีการใช้กันมาก จึงมีการนำโซเชียลมีเดียมาใช้ในการทำโพล และก็ปรากฏว่ามีความแม่นยำดีมาก อย่างที่มีการใช้เฟสบุ๊คและแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ ในระยะเวลาที่ผ่านมานี้
คนที่ติดตามผลโพลของสำนักโพลต่าง ๆ คงจะพอทราบว่า สำนักโพลเหล่านั้นยังใช้วิธีการแบบแกลลัพ คือใช้การโทรศัพท์ไปสอบถาม “กลุ่มตัวอย่าง” เพียงแต่สมัยนายแกลลัพเริ่มงานนี้ สหรัฐอเมริกายังใช้โทรศัพท์แบบนิ้วหมุนผ่านโอเปอเรเตอร์ แต่ปัจจุบันนี้เป็นโทรศัพท์ในระบบไร้สายผ่านอินเตอร์เน็ต
ยิ่งไปกว่านั้นก็ยังใช้วิธีการแบบที่นายแกลลัพใช้เมื่อเกือบ 100 ปีก่อน คือ จำแนกประชากรของประเทศเป็นกลุ่ม ๆ เช่น แยกตาม เพศ อายุ ภูมิลำเนา การศึกษา อาชีพ เชื้อชาติ ศาสนา เป็นต้น แล้วทอนจำนวนประชากรเหล่านั้นมาเป็นกลุ่มเป้าหมาย แล้วโทรศัพท์ไปสอบถาม จากนั้นก็มานับคำตอบ จัดทำเป็นร้อยละ ก่อนที่จะนำมาวิเคราะห์และรายงานผล
เมื่อ 4 ปีก่อน ผู้เขียนได้ไปร่วมประชุมทางวิชาการประจำปีของสมาคมรัฐศาสตร์อเมริกัน (American Political Science Association – APSA) จัดที่กรุงวอชิงตัน ดีซี หัวข้อหลักเรื่องหนึ่งก็คือ “Politics in Digital Era” หรือ “การเมืองในยุคดิจิทัล” ซึ่งมีการนำเสนอในเรื่องบทบาทของสื่อโซเชียลกับการเมืองทั่วโลกอยู่หลายสิบเรื่อง โดยผู้เขียนไปร่วมรับฟังได้ประมาณ 5 เรื่อง นอกนั้นเขาก็มีเอกสารให้ดาวน์โหลดและสืบค้นได้ทางอินเตอร์เน็ต
ผู้นำเสนอท่านหนึ่งพูดถึงการใช้โซเชียลมีเดียทางการเมืองว่า มีข้อจำกัดอยู่ 3 ประการ หนึ่ง คือการเข้าถึงสื่อ บางคนก็ใช้คล่องใช้ดี แต่บางคนก็ใช้ลำบากหรือไม่อยากใช้ ทำให้การใช้สื่อโซเชียล “กระจุกตัว” อยู่กันเป็นกลุ่ม ๆ สอง โซเชียลมีเดียเป็นสื่อแบบ “สื่อแบ่งกลุ่ม” หรือในทางการเมืองก็คือ “สื่อเลือกข้าง” ดังนั้นจึงยากที่เจาะหรือเปลี่ยนใจกลุ่มผู้ใช้สื่อ ที่มักจะถูกชักจูงโดยผู้ควบคุมหรือคนที่จัดทำสื่อนั้น และสาม ด้วยเหตุที่กลุ่มต่าง ๆ ถูกจัดตั้งขึ้นโดยเป้าหมายทางการเมืองบางอย่าง ดังนั้นกลุ่มเหล่านี้จึงมีความเชื่อความคิดที่ค่อนข้างคับแคบ และไม่สามารถที่จะเป็นตัวแทนของการ “ตีความ” รายละเอียดในเชิงลึกของสถานการณ์ต่าง ๆ ทางการเมืองโดยทั่ว ๆ ไปได้ เว้นแต่ในภาวะวิกฤติหรือมีเหตุการณ์พิเศษ ที่กลุ่มเหล่านี้มักจะแสดงออกในลักษณะที่ถูกเร้า อย่างที่เรียกว่า “ม็อบ”
ผู้เขียนยอมรับว่าตั้งแต่ที่มีการทำโพลต่าง ๆ ในประเทศไทยมาน่าจะตั้งแต่การเลือกตั้งในปี 2522 ผู้เขียนไม่เคยได้รับการจัดเป็นตัวแทนของกลุ่มเป้าหมายของสำนักโพลใด ๆ เลย พูดง่าย ๆ ก็คือยังไม่มีเจ้าหน้าที่ของสำนักโพลไหน ๆ โทรมาสอบถามอะไรกับผู้เขียนเลย ตลอดเวลาที่มีการเลือกตั้งผ่านมาเป็นสิบ ๆ ครั้งนั้น ก็ขอแสดงความยินดีและขอบคุณท่านที่ได้รับการสัมภาษณ์ และนำคำตอบนั้นไปเผยแพร่แก่สาธารณะ
อย่างไรก็ตามการมีโพลก็ยังดีกว่าที่ไม่มี ยิ่งรู้ว่าโพลบางสำนักนั่นเป็น “โพลจัดตั้ง” ก็ยิ่งทำให้เราพอจะมองการเมืองเบื้องหน้าไปได้บ้าง อย่างหนึ่งก็คือ “โผ” หรือ “การกำหนดผล” การเลือกตั้ง
ก่อนที่ผู้เขียนจะมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้เขียนเคยทำงานในหน่วยข่าวกรองของรัฐบาลมาก่อน เคยได้เห็นวิธีการทำโพลของทางราชการที่ทำกันง่ายมาก ๆ คือพยายามที่จะให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น ตำรวจ และกำนันผู้ใหญ่บ้าน ไปสอบถามประชาชน รวมถึงหัวคะแนนต่าง ๆ ซึ่งหลาย ๆ ที่ ข้าราชการเหล่านั้นก็เป็นหัวคะแนนกันอยู่ด้วยแล้ว แล้วก็เอามาคำนวนเป็นผลการเลือกตั้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้น
ท่านผู้อ่านก็เดาเอากันเถิดว่า ผลมันจะเป็นอย่างไร อย่างที่เราติดตามข่าวก็มีการเสนอรายงานว่า หน่วยงานความมั่นคงของรัฐได้แจ้ง “โพลข่าวกรอง” ว่า ฝ่ายที่ร่วมรัฐบาลกันมาจะได้ ส.ส.มากกว่าฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาล ในขณะที่ “โพลชาวบ้าน” บอกว่าพรรคสีแดงจะชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์
ความจริงมีหน่วยงานหนึ่งของรัฐที่น่าจะทำงานแบบนี้ได้ดี ซึ่งก็คือสำนักงานสถิติแห่งชาติ เพราะมีข้อมูลมาก มีคนมาก และมีวิชาการมาก แต่ก็ไม่รู้ว่าจะได้รับมอบหมายให้ทำงานแบบนี้หรือไม่
ส่วนตัวผู้เขียนก็พยายามจะเชื่อยังไม่เชื่อโพลทั้งหลาย แม้กระทั่งที่มีคนพยายามจัดแยกผลการเลือกตั้งว่าจะเป็นการต่อสู้ระหว่าง “ฝ่ายอนุรักษนิยม” กับ “ฝ่ายประชาธิปไตย”
เพราะทันทีที่ผลการเลือกตั้งออกมา น่าจะเหลือแต่ “ฝ่ายที่ได้ร่วมรัฐบาล” กับ “ฝ่ายที่หลุดร่วง - ไม่ได้เป็นรัฐบาล”