ประเทศไทยดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง ที่โดยพระราชกฤษฎียุบสภาผู้แทนราษฎร 2566 กำหนดเอาไว้ ใน มาตรา 4 ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปในวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนดซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 45 วันแต่ไม่เกิน 60 วันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ...*...

ตามด้วยประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง กำหนดวันเลือกตั้ง เป็นวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 08.00 -17.00 น. เป็นวันเลือกตั้ง และกำหนดให้วันที่ 3-7 เมษายน 2566 ตั้งแต่เวลา 08.30 - 16.30 น. เป็นวันรับสมัครส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ณ สถานที่ที่ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งกำหนด

ส่วนวันที่ 4-6 เมษายน ตั้งแต่เวลา 08.30 - 16.30 น. และวันที่ 7 เมษายน ตั้งแต่เวลา 08.30 น. - 16.00 น. เป็นวันรับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และแจ้งบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมือง ที่ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เขตดินแดง กทม.

ไทม์ไลน์เลือกตั้งชัดเจน ทำให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมรณณรงค์หาเสียงกันอย่างคึกคัก แม้ก่อนหน้าที่จะมีประกาศยุบสภาฯ ก็มีการแข่งขันกันอยู่ในระดับหนึ่งแล้ว  

ล่าสุด ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ในช่วงเลือกตั้งประเมินว่าจะมีเงินสะพัดเพิ่มขึ้นจากครั้งก่อน 40,000-50,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้เกิดเม็ดเงินสะพัดหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอย่างต่ำ 1-1.2 แสนล้านบาท

ทั้งนี้เม็ดเงินที่หมุนเวียนดังกล่าวจะทำให้จีดีพีขยายตัวเพิ่ม 0.5-0.7% ส่งผลทำให้จีดีพีไตรมาส 2 ขยายตัวได้ 3-4% จะช่วยค้ำยันเศรษฐกิจไตรมาส 2 ได้ระดับหนึ่ง โดยปี 2566 คงคาดการณ์จีดีพีไว้ที่ 3-4%

ส่วนผลสำรวจความเห็นภาคธุรกิจต่อผลกระทบจากเศรษฐกิจ พบปัจจัยเสี่ยงสำคัญ คือ ต้นทุนสูงต่อเนื่องจากปัญหาเงินเฟ้อ ค่าไฟแพง ค่าแรงและดอกเบี้ย ซึ่งกระทบยอดขาย กำไร และสภาพคล่องของธุรกิจ แต่ยังมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นช่วงครึ่งปีหลัง

นอกจากนี้การเมืองและการเลือกตั้งเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ภาคธุรกิจเริ่มกังวลว่าจะเกิดปัญหาความขัดแย้ง และการจัดตั้งรัฐบาลอาจยืดเยื้อจนกระทบเสถียรภาพการเมือง ซึ่งจะทำให้นักธุรกิจไทยและต่างประเทศอาจชะลอการลงทุน

อย่างไรก็ตาม แม้การเลือกตั้งจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะทำให้เกิดกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจ ที่ยังไม่นับเม็ดเงินที่อยู่ใต้ดิน ในกิจกรรมที่ไม่เปิดเผย ทั้งนี้ทั้งนั้น ยิ่งสู้กันเดือด สาดเม็ดเงินกันหนักเท่าไหร่ ก็ยิ่งน่าห่วงโหมหน้าการเมืองหลังการเลือกตั้ง ฉะนั้นอำนาจในมือประชาชนในวันที่ 14 พฤษภาคม จึงมีความสำคัญยิ่ง