ต้นเดือนหน้านี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะเปิดรับสมัครว่าที่ผู้สมัครส.ส.เขตและระบบบัญชีรายชื่อ โดยกกต.กำหนดวันรับสมัคร ส.ส.เขตเอาไว้ 3-7 เม.ย.ส่วนระบบบัญชีรายชื่อ ระหว่างวันที่ 4-7 เม.ย.ดังนั้นในห้วงเวลานี้จึงทำให้เกิดแรงกระเพื่อม จาก คลื่นใต้น้ำ ในหลายพรรคการเมือง และมีความเป็นไปได้สูงว่า ผลพวงจากการจัดตัวผู้สมัครลงปาร์ตี้ลิสต์ สำหรับ บางพรรค อาจกลายเป็น แผลเรื้อรัง เกิดความบาดหมางกันตามมา
ล่าสุดมีการเปิดชื่อปาร์ตี้ลิสต์ กันออกมาแล้ว จากพรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคภูมิใจไทย ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นไปตาม โผ ไม่มีพลิก หรือเกิดเอฟเฟกซ์ เนื่องจากมีความ ลงตัว ชัดเจนกันมาตั้งแต่แรก
แต่สำหรับในรายของพรรคฝ่ายรัฐบาล อย่าง พรรคพลังประชารัฐ และพรรคประชาธิปัตย์เอง กลับมีแรงกระเพื่อมมาก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ ที่วางเป้าหมายในสนามเลือกตั้งรอบนี้ 14 พ.ค.66 เอาไว้ที่การได้ที่นั่งส.ส.เกิน 52 ที่นั่ง ต้องได้มากกว่าเดิมในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 คือ 50 ที่นั่งแล้ว ยังพบว่าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมี จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ เป็นแม่ทัพ ยังจะต้อง ปิดจุดอ่อน นั่นคือพรรค ต้องได้ ที่นั่งส.ส.กทม. กลับคืนมาเท่านั้น หลังจากที่ครั้งก่อน พรรคไม่ได้ส.ส.กทม.เลยสักที่เดียว
รวมถึงการโฟกัสไปที่สนามภาคใต้ ที่รอบนี้จะมีส.ส.เพิ่มขึ้น เป็น 60 ที่นั่งจึงย่อมเป็นทั้ง โอกาส และวิกฤตของประชาธิปัตย์ในคราวเดียวกัน เพราะอย่าลืมว่าการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 พรรคต้องเสียเก้าอี้ส.ส.ให้กับ พรรคคู่แข่ง ที่เข้าไปเจาะฐานได้สำเร็จ รวมเบ็ดเสร็จกว่า 20 ที่นั่ง
การเลือกตั้ง กำลังจะระเบิดศึก เหลือเวลาหาเสียงกันอีกเพียงเกือบสองเดือนเท่านั้น แต่ความบาดหมางภายในพรรคประชาธิปัตย์ ยังผุดขึ้นมาเป็นระลอก ทั้งการจัดอันดับส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ที่มีปัญหา เกิดความไม่พอใจจาก ตั๊น จิตภัสร์ กฤดากร ที่โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุค สะท้อนปัญหากันออกมา
รวมถึงการที่มีความชัดเจนว่า เฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค ตัดสินใจที่จะไม่ลงสมัครทั้งส.ส.เขตและปาร์ตี้ลิสต์ เช่นเดียวกับ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค ที่ตัดสินใจในทิศทางเดียวกัน แต่ในฐานะสมาชิกพรรค ได้มาช่วยลูกพรรคหาเสียง เพื่อเรียกคะแนนให้กับว่าที่ผู้สมัคร ต่างถูกมองว่า ส่วนหนึ่งมาจากความไม่ลงตัว และความขัดแย้งที่ยังอยู่
สถานการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ จึงไม่ต่างจากการเผชิญหน้าทั้งศึกในและศึกนอกในเวลาเดียวกัน !