เสรี พงศ์พิศ
FB Seri Phongphit
ถ้าจะมองการเมืองไทยแบบไม่สิ้นหวัง อาจต้องอาศัยเฮเกลกับมาร์กซ์ เพื่อทำให้เข้าใจว่า นี่เป็นวิถีแห่งประวัติศาสตร์ที่ต้องวิวัฒนาผ่านการเติบโตของ “มโนสำนึกแห่งเหตุผล” ก่อนจะไปถึงสังคมสมบูรณ์กว่านี้
เฮเกลและมาร์กซ์ได้ก่อให้เกิด “กระบวนทัศน์” ใหม่ ทำให้เรามองประวัติศาสตร์ไม่เพียงแต่ลำดับเหตุการณ์ในอดีต เอาสิ่งที่เกิดขึ้นมาเรียงต่อกัน แต่เป็น “กระบวนการเปลี่ยนแปลง” ที่เรียกว่า “วิภาษวิธี”
แนวคิดว่าประวัติศาสตร์เป็นกระบวนการ เป็นวิวัฒนาการ เป็นเรื่องใหม่ ที่ส่งผลกระเทือนต่อวิธีคิดไม่ต่างจากทฤษฎีวิวัฒนาการของชาร์ลส์ ดาร์วิน ปรัชญาของเฮเกลมีผลต่อการมองโลกมองชีวิตของผู้คน ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่ในแวดวงปรัชญา แต่รวมไปถึงเทวศาสตร์ ประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และนิติศาสตร์
เฮเกลบอกว่า เป้าหมายของวิภาษวิธี คือ สังคมที่ลงตัว (organic society) หรือสมานฉันท์ (harmonious society) กระบวนการทางจิตวิวัฒนายังไม่ถึงจุดนั้นเพราะคนยังแปลกแยก (alienation) ยังไม่สามารถหาจุดร่วมที่สมดุลระหว่าง “เหตุผลกับความต้องการ” ระหว่าง “ศีลธรรมกับประโยชน์ส่วนตน”
เฮเกลไม่ได้พูดถึงแต่แนวคิดที่เป็นอภิปรัชญาที่ยากจะเข้าใจ เขายกตัวอย่างของการเกิด “มโนสำนึกใหม่” ในสังคมกรีกเมื่อ 2,400 ปีก่อน เมื่อโสคราติสตั้งคำถามให้คนหนุ่มสาวได้คิด โต้เถียงพวกเขาจนได้ข้อสรุปใหม่ แต่ที่สุดสังคมก็ตัดสินว่าผิดและถูกประหารชีวิต เขาคือคนเริ่มต้น “วิภาษวิธี” ที่วิวัฒนาจากยุคกำเนิดปรัชญากรีกมาถึงกำเนิดโปรเตสแตนท์ในศตวรรษที่ 16 แล้วมาถึงการปฏิวัติฝรั่งเศส และการก่อตัวเป็นรัฐชาติของประเทศต่างๆ นี่คือวิภาษวิธีแห่งจิต การเติบโตของมโนสำนึกแห่งเหตุผลของมนุษย์ที่วิวัฒนาไปสู่เสรีภาพ
เป้าหมายของเฮเกลคือสังคมที่เป็นเหตุผล (rational society) มีระเบียบแบบแผน แต่ไม่ใช่เหตุผลบริสุทธิ์แบบสุดโต่ง อย่างการปฏิวัติฝรั่งเศส (1789) ที่ไม่ได้ต้องการกำจัดระบอบกษัตริย์และศาสนาเท่านั้น แต่ต้องการให้ทุกอย่าง “เป็นเหตุเป็นผล” อยากให้ทุกเดือนมี 30 วัน สัปดาห์มี 10 วัน แบบเดียวกับระบบเมตริก เฮเกลมองว่านั่นเป็นความบ้าเหตุผลมากเกินไป (เหมือนวัฒนธรรมตามก้นฝรั่งแบบ “มีเหตุมีผล” ของจอมพลป. ให้สวมหมวก สวมรองเท้า จูบเมียก่อนออกจากบ้าน อ้างว่าเป็น “เหตุผล” และมี “วัฒนธรรม” แบบสากล)
การมีเสรีภาพ ไม่ใช่ทำอะไรก็ได้ แต่คือการเป็นคนมีเหตุผล เขาบอกว่า เหมือนอยากจัดระบบเมืองใหม่อย่างมีเหตุผล ไม่ใช่ว่าต้องรื้อใหม่หมด แต่ให้ศึกษาดูว่ามีอะไรที่ “จริง” ที่เป็น “เหตุผล” ของระบบเดิมเมืองเดิม แล้วพัฒนาขึ้นมาจากนั้น ตามรากเหง้าเดิม “อะไรที่จริงก็มีเหตุผล อะไรมีเหตุผลก็จริง” เฮเกลบอก
ดูสังคมไทยที่ออกกฎหมายโดยไม่สนใจ “จารีตประเพณี” และกฎหมายในสังคมดั้งเดิมของไทย ทำให้ระบบโครงสร้างสังคมไทยไม่มีรากเหง้าและไร้รากฐานของระบบคุณค่าของไทย แต่ยกเอาวิธีจัดการสังคม หรือ “เหตุผล” แบบตะวันตกทั้งดุ้นมาใช้ ออกฎหมายตามแนวคิดของสำนักตะวันตกทั้งสิ้น แทนที่จะศึกษาและสืบทอดคุณค่า (เหตุผล) ของสังคมไทยดั้งเดิม ผู้นำของไทยหลังๆ นี้ทำได้แนบเนียนกว่า “จอมพลป.” เท่านั้น
เฮเกลบอกว่า ตรรกะไม่ใช่แต่เรื่อง “รูปแบบ” (form) อย่างที่พูดกันมาตั้งแต่อริสโตเติล ต้องดู “เนื้อหา” ศึกษาตรรกะต้องดูที่ความจริงและหน้าที่ของมัน ดูบริบททางประวัติศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพื่อเข้าใจความเป็นจริงที่เป็น “กระบวนการ” สังคมไทยไม่ได้สนใจ “ตรรกะ” ของสังคมเดิม อ้างแต่ความมั่นคงและ “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” เพื่อเข้าสู่หรือรักษาอำนาจ ประชาธิปไตยก็ได้แต่รูปแบบ คือไปเลือกตั้ง
ลูกศิษย์ฝ่ายซ้ายของเฮเกลตีความไปไกลว่า เพื่อก้าวข้ามความแตกแยกระหว่างเหตุผลกับความต้องการ ศีลธรรมกับผลประโยชน์ต้องมีการปฏิวัติ เพื่อนำความคิดไปสู่เป้าหมาย แต่เฮเกลไม่เคยพูดเรื่องการปฏิวัติ
มาร์กซ์สืบทอดแนวคิดของเฮเกลทั้งหมด เพียงแต่เปลี่ยน “จิต” (mind) เป็น “วัตถุ” (matter) เขามองว่า ประวัติศาสตร์วิวัฒนาบนฐานเศรษฐกิจ การผลิตอยู่เหนือจิต ความคิด ศาสนา การเมือง ซึ่งล้วนมาจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ทั้งหมดวิวัฒนาไปสู่เป้าหมายแห่งเสรีภาพ เช่นเดียวกับที่เฮเกลบอก เพียงแต่คนละทาง
ด้วยเหตุนี้ เพื่อเป็นอิสระ จึงต้องควบคุมพลังทางเศรษฐกิจทั้งหมด จัดการการกินการอยู่ ปัจจัยพื้นฐานการดำรงชีวิต มาร์กซ์เชื่อว่า ถ้าเปลี่ยนสภาพเศรษฐกิจจะเปลี่ยนธรรมชาติมนุษย์ แล้วก็จะก้าวข้ามความแตกแยกระหว่างผู้คน ระหว่างปัจเจกกับสังคม (นักการเมืองไทยก็อ้างแต่เรื่องปากท้องประชานิยมทำนองเดียวกัน)
แต่มาร์กซ์ก็ผิด (นักการเมืองไทยก็ผิด) อาจแก้เรื่องปากท้องเฉพาะหน้าได้แต่แก้เรื่องการแย่งอำนาจทางการเมืองไม่ได้ อย่างรัสเซียในยุคสตาลิน (ดังที่จอร์จ ออร์เวล เขียนเสียดสีใน Animal Farm ที่หมูจัดการกับคนที่เป็นเผด็จการ แล้วสถาปนาตนขึ้นมาแทน ที่สุดก็ทำทุกอย่างเหมือนคนที่ตนเองโค่น และเลวร้ายกว่าอีก หรือดูที่สังคมไทยที่ทำรัฐประหารทุกครั้งก็สัญญาจะนำความสุขมาให้ สุดท้ายก็แค่ต้องการอำนาจ)
มีคนบอกว่า นาซีและฮิตเลอร์นำแนวคิดนี้ไปสนับสนุนลัทธิเผด็จการเบ็ดเสร็จ เพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุด ซึ่งเฮเกลไม่เคยพูดเรื่องเหล่านี้ เป็นการบิดเบือนและสร้างความชอบธรรมให้ตนเองเท่านั้น
มาร์กซ์เองก็พูดเรื่องเสรีภาพ เกลียดการครอบงำบังคับ ลูกสาวถามว่า เขาเกลียดอะไรมากที่สุด เขาตอบว่า ความเป็นขี้ข้า เขาคงรับไม่ได้ที่ผู้นำรัสเซีย จีน เขมรแดงในอดีตเอาความคิดของเขาไปก่อกรรมทำเข็ญทำให้ผู้คนเสียชีวิตหลายสิบล้าน เป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จที่ลิดรอนเสรีภาพปัจเจก อ้างว่าเพื่อบรรลุเสรีภาพส่วนรวม
เฮเกลบอกว่า เราสามารถบรรลุสังคมที่เป็นหนึ่งเดียว ที่จะสมานความแยกแตกได้เมื่อเราบรรลุความเป็นเหตุผลของปัจเจก ทั้งเฮเกลและมาร์กซ์ไม่เคยพูดถึงการปฏิวัติแบบรื้อล้างสังคมเก่า ประเด็นที่ฝ่ายซ้ายสุดขั้วและหัวก้าวหน้าไทยและคนรุ่นใหม่ควรตระหนักและเรียนรู้จากประวัติศาสตร์โลกและแนวคิดต่างๆ ให้ถ่องแท้
ในสายตาของเฮเกล วิภาษวิธีสังคมไทยเห็นได้ในปี 2475 ครั้งหนึ่ง 14 ตุลา ครั้งหนึ่ง ขัดแย้งต่อต้านต่อสู้(antithesis) กันเรื่อยมา วันนี้คงอยู่ในช่วงของการแสวงหาการสังเคราะห์ (synthesis) หาทางสมานฉันท์ ก้าวข้ามความแตกแยก ประนีประนอมให้พบจุดลงตัวระหว่างศีลธรรมกับผลประโยชน์
แต่อาจบิดเบือนเป็นการสมานฉันทางการเมือง เรื่องอำนาจ มากกว่าเรื่อง “ทางจิต” ที่ทำให้เป็นสังคมที่ลงตัว (organic) เป็นการสร้าง “ตรรกะ” หรือเหตุผลของคนมีอำนาจมากกว่าของประชาชนและสังคมโดยรวม