ทวี สุรฤทธิกุล

“พระมหากษัตริย์ก็มีมาตั้งนานแล้ว คนก็พูดถึงในทางไม่ดีมามาก แต่ท่านก็ยังคงตั้งอยู่”

คำพูดข้างต้นออกมาจากปากของทนายความคนหนึ่ง ที่พยายามโน้มน้าวให้ผู้เขียนซึ่งขึ้นไปเป็นพยานในคดีเกี่ยวกับความผิดทางคอมพิวเตอร์คดีหนึ่ง เชื่อว่าลูกความของเขาซึ่งก็คือจำเลยในคดีเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จและสร้างความตื่นตระหนกแก่สาธารณะ ไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหานั้น

ผู้เขียนนำเรื่องนี้มาเขียนลงสื่อหนังสือพิมพ์ ก็ไม่ได้คิดที่จะละเมิดอำนาจศาลหรือแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมแต่อย่างใด จึงจะไม่นำรายละเอียดหรือชื่อผู้เกี่ยวข้องต่าง ๆ มาเปิดเผย แต่ผู้เขียนคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากต่ออนาคตทางสังคมและการเมืองของประเทศ เพราะคนรุ่นใหม่น่าจะมีทัศนคติที่ผิด ๆ เกี่ยวกับการคงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่ออนาคตของประเทศไทยนี้ต่อไปอย่างแน่นอน

คดีนี้จำเลยถูกฟ้องว่านำข้อมูลอันเป็นเท็จและสร้างความตื่นตระหนกในหมู่ประชาชนทางเฟสบุ๊ค ระหว่างปี 2556 กับ 2557 ซึ่งเป็นช่วงที่กลุ่ม กปปส.นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ กำลังชุมนุมขับไล่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อันเป็นความขัดแย้งและความวุ่นวายทางการเมืองที่รุนแรงมาก ๆ ครั้งหนึ่งของประเทศไทย และนำมาซึ่งการทำรัฐประหารของคณะ คสช.ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

จำเลยใช้ข้อความที่เชื่อมโยงพรรคประชาธิปัตย์กับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ว่า “แอบอิง” และ “อ้างอิง” พระมหากษัตริย์เพื่อเคลื่อนไหวทางการเมืองในครั้งนั้นโดยใช้ถ้อยคำที่รุนแรงและเป็นเท็จ ต่อมาใน พ.ศ. 2562 จึงมีประชาชนนำข้อความที่ปรากฏทางเฟสบุ๊คทั้ง 2 ข้อความนั้นไปแจ้งความ ผู้เขียนซึ่งตอนนั้นเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ก็ได้รับการติดต่อจากตำรวจให้ช่วยแสดงความเห็นทางด้านวิชาการต่อข้อความทั้ง 2 ชุดนั้นในชั้นสอบสวน จนกระทั่งคดีขึ้นสู่ชั้นศาลก็ต้องมาเป็นพยานให้กับฝ่ายอัยการที่เป็นโจทก์ เรียกว่ามาทำหน้าที่ของพลเมืองดีโดยแท้

ต้องขอบอกก่อนว่า การที่จะให้คน ๆ หนึ่งมาเป็นพยายน ตั้งแต่ในชั้นสอบสวนจนถึงชั้นที่พิจารณาความในศาลนี้ หาคนที่จะมาช่วยตำรวจและอัยการนั้นยากมาก ๆ และยิ่งเป็นคดีที่เป็นเรื่องของความขัดแย้งทางการเมืองด้วยแล้ว บางคนก็แสดงความรังเกียจหรือเห็นว่า “ธุระไม่ใช่” ทำให้หาพยานนั้นยากมาก ๆ เพราะโดยทั่วไปก็ต้องเสียเวลามาก ๆ เพราะแต่ละคดีก็ใช้เวลานาน ทั้งยังมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นที่ดูหมิ่นเกลียดชังของฝ่ายตรงข้าม ซึ่งตัวพยานและครอบครัวคนใกล้ชิดอาจจะถูกทำร้าย ตั้งแต่รบกวนให้รำคาญ ข่มขู่ให้หวาดกลัว จนถึงทำให้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต ไม่คุ้มกับค่าพยานศาลที่ทางราชการจ่ายให้ 300 บาทนั้นเลย

ผู้เขียนได้ยินจากตำรวจว่า อาจารย์ด้านรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ที่มีอยู่หลายร้อยคนทั่วประเทศนั้น ที่ยอมมาเป็นพยานให้มีไม่ถึง 10 คน !

คนพวกนี้ทำเพื่อเอาเงินหรือชื่อเสียงหละหรือ หรือว่าเขารักประเทศชาติและความถูกต้อง !

ย้อนกลับมาดูที่สาระของคดี เมื่อขึ้นสู่ชั้นศาล อัยการในฐานะทนายแผ่นดินผู้เป็นโจทก์ฟ้อง ก็ให้ผู้เขียนยืนยันความเห็นที่ได้ให้การไว้กับตำรวจ ซึ่งผู้เขียนก็ยืนยันว่าข้อความทั้ง 2 ชุดนั้นเป็นการกล่าวเท็จ ให้ร้ายพระมหากษัตริย์อย่างแน่นอน และสร้างความตื่นตระหนกให้เกิดขึ้นได้

ทีนี้ก็ถึงคราวที่ฝ่ายทนายจำเลยขึ้นซักค้าน ท่านก็ร่ายยาวถึงเหตุการณ์ทางการเมืองในช่วงปี 2556 และ 2557 ว่า ใครขัดแย้งกับใคร ใครเอาเรื่องอะไรมาโจมตีใคร รวมถึงเรื่องข้อความทั้ง 2 ว่าก็เป็นการอ้างมาโจมตีกันและกัน คงเพื่อให้ศาลเชื่อว่าการเมืองก็เป็นเรื่องของความขัดแย้งและโจมตีกันและกันเป็นธรรมดา ดังนั้นการกระทำของจำเลยจึงเป็นเรื่องของการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองทั่ว ๆ ไป หากไปขัดแย้งกับฝ่ายตรงข้ามแล้วก็เป็นเรื่องปกติ ไม่ได้เป็นเรื่องเสียหายอะไรเลย รวมถึงเรื่องที่มีการกล่าวอ้างเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ซึ่งผู้เขียนพอจับความเป็นคำพูดได้ว่า

“พระมหากษัตริย์ก็มีมาตั้งนานแล้ว คนก็พูดถึงในทางไม่ดีมามาก แต่ท่านก็ยังคงตั้งอยู่”

ผู้เขียนคิดว่าทนายคงไม่ได้คิดคำพูดนี้ขึ้นเอง เพราะทนายเองก็ทำงานภายใต้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ที่ทรงใช้อำนาจตุลาการผ่านศาล อันเป็นอำนาจ 1 ใน 3 ของอำนาจอธิปไตยตามระบอบประชาธิปไตย “พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติทางรัฐสภา อำนาจบริหารทางรัฐบาล และอำนาจตุลาการทางศาล” ย่อมจะต้องไม่ยอมให้ใครมาพูดจาว่าร้ายต่อพระมหากษัตริย์นั้นด้วย

ดังนั้นผู้เขียนจึงตีความไปตามกระบวนการวิจัยที่เคยศึกษาเรียนรู้มา ว่าน่าจะเป็นความคิดเห็นของจำเลย ที่ปกป้องตัวเองจากความผิด โดยอ้างถึงการกล่าวหาพระมหากษัตริย์ที่มีมาแต่โบราณ ในทำนองที่ใช้ภาษาชาวบ้านก็คือว่า “ใคร ๆ เขาก็ทำกันมานานแล้ว” ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ยังคงอยู่ ไม่เห็นจะล้มหายสูญสิ้นหรือพินาศอะไรเลย

นี่แหละที่ภาษาธรรมะเรียกว่า “มิจฉาทิฐิ” หรือความเห็นผิด ที่ไม่ชอบด้วยเหตุผลและทำนองคลองธรรม

หากสังคมไทยยังเพิกเฉยและปล่อยให้มีการกล่าวร้ายพระมหากษัตริย์ได้ตามอำเภอใจ รวมถึงที่กล่าวเสีย ๆ หายกับพระมหากษัตริย์แล้ว บอกว่าเป็นเรื่องการเมือง ใคร ๆ เขาก็ทำกันมาเป็นร้อย ๆ ปี

สังคมไทยเราจะอยู่กันอย่างไร บ้านเมืองเราจะปกครองกันอย่างไร เมื่อสถาบันที่เราเคารพบูชาเสมือนเป็นพ่อแม่ต้องถูกจาบจ้วงหยาบคาย พ่อแม่ของเราเรายังไม่ยอม แต่นี่คือ “พ่อแม่ของแผ่นดิน” เราจะยอมได้หละหรือ

เพิ่งรู้ว่าคนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งเขาสั่งสอนกันมาแบบนี้ แบบที่ไม่เคารพพ่อแม่ทั้งในบ้านและในแผ่นดิน

14 พฤษภา 2566 จะยกประเทศให้ใครดูแลก็คิดให้ดีนะครับ !