ปิดฉากไปแล้วสำหรับรัฐบาล “ประยุทธ์ 2” ที่เป็นรัฐบาลผสมมากที่สุดในประวัติศาสตร์ 19 พรรค พลังประชารัฐ, ประชาธิปัตย์, ภูมิใจไทย, ชาติไทยพัฒนา, รวมพลังประชาชาติไทย, พลังท้องถิ่นไท, เศรษฐกิจใหม่, ชาติพัฒนา, รักษ์ผืนป่าประเทศไทย, พลังชาติไทย, ประชาภิวัฒน์, พลังไทยรักไทย, ครูไทยเพื่อประชาชน, ประชานิยม, ประชาธรรมไทย, พลเมืองไทย, ประชาธิปไตยใหม่, พลังธรรมใหม่และไทรักธรรม
ขณะที่จับตากันว่า หลังการเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะได้กลับมานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีบนตึกไทยคู่ฟ้าอีกครั้งหรือไม่
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจก็คือ หลังยุบสภาผู้แทนราษฎรแล้วมีการประชุมคณะรัฐมนตรี หรือครม.นัดแรก เมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบแนวทางปฏิบัติของคณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรี รวมทั้งสถานะของคณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเอาไว้ ซึ่งเป็นการดำเนินงานเป็นการดำเนินการตามมาตรา 169 (2) และ (3) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคคลของรัฐเพื่อกระทำการใดซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้งพ.ศ. 2563 รวมทั้งยังได้อ้างอิงระเบียบและมติคณะรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้อง สำหรับเป็นแนวปฏิบัติของคณะรัฐมนตรีในระหว่างที่อายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร
“สยามรัฐ” ยกเอาความจากถ้อยแถลงมติครม. โดยนายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี บางช่วงบางตอนมานำเสนอดังนี้
-คณะรัฐมนตรีสิ้นสุดลง แต่ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ไม่เรียกว่า รักษาการ การลงชื่อตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรียังคงลงชื่อในตำแหน่งเดิม มิใช่เป็นการรักษาการหรือรักษาการในตำแหน่ง และยังคงได้รับเงินเดือนแต่ยังไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน
-คณะรัฐมนตรียังคงมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศเท่าที่จำเป็นทุกประการ กรณีมีสถานการณ์คุกคามความมั่นคงของชาติ มีอำนาจหน้าที่ที่จะประกาศ มาตรการเพื่อรักษาความมั่นคงของชาติได้ เช่น ประกาศภาวะฉุกเฉินหรือประกาศกฎอัยการศึก เป็นต้น (อ่านต่อฉบับหน้า)