วาทะอันยิ่งใหญ่ อันเป็นอมตะ ที่มั่นคง ยืนหยัด ต่อการพิสูจน์ของกาลเวลา เป็นเสมือนแสงดาวที่สว่างอยู่กลางฟ้ามืด คนไทยทั้งปวงได้ยิน ได้ฟังกันมานาน ด้วยความซาบซึ้งในหัวใจ และยังคงรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ล้นฟ้าอยู่อย่างไม่เสื่อมคลาย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร บรมราชาภิเษกตามแบบอย่างโบราณราชประเพณี ในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2493 ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง ในวันมหามงคลนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการแก่ประชาชนชาวไทยว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม...” นายสุเมธ ตันติเวชกุล อธิบายว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตรัสว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม” ลองสังเกตดูซิว่า พระองค์ไม่ทรงใช้คำว่า “ปกครอง” แต่ทรงใช้คำว่า “ครอง” แทน “ปกครอง” เป็นเรื่องการใช้อำนาจในการบริหารแผ่นดิน แต่การใช้คำว่า “ครอง” เช่น ครองสมณเพศ ครองชีวิตสมรส เป็นการให้ความเคารพ ดูแลด้วยความเมตตา ซึ่งการครองแผ่นดินของพระองค์ ทรงใส่พระทัยในการดูแลพสกนิกรและทรงใช้ธรรมาภิบาล โดยธรรมสำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ ทศพิธราชธรรม ได้แก่ ทาน คือ การให้ ศีล คือ ความประพฤติ ที่ดีงาม ทั้ง กาย วาจา และใจ บริจาค คือ การเสียสละความสุขส่วนตน เพื่อความสุขส่วนรวม ความซื่อตรง คือ การสุจริตต่อหน้าที่การงานของตน ต่อมิตรสหาย ต่อองค์กรหรือหลักการของตน ความอ่อนโยน คือ การมีอัธยาศัยอ่อนโยน ความเพียร คือ ความเพียร ความไม่โกรธ คือ การไม่แสดงอาการโกรธ ความไม่เบียดเบียน คือ การดำเนินชีวิตไปตามทางสายกลาง การผลิต การบริโภคที่สมดุลไม่เน้นประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก ซึ่งนำไปสู่การแข่งขันแย่งชิงจนเป็นการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นและทำลายสิ่งแวดล้อม ความอดทน คือ การรักษาปกติภาวะของตนไว้ให้ได้ว่า ไม่ว่าจะถูกกระทบกระทั่งด้วยสิ่งอันเป็นที่พึงปรารถนาหรือไม่พึงปรารถนาก็ตาม มีความมั่นคงหนักแน่นไม่หวั่นไหว ความเที่ยงธรรม คือ ความหนักแน่น ถือความถูกต้อง เที่ยงธรรมเป็นหลัก ซึ่งทศพิธราชธรรมเป็นศีลธรรมที่ทรงยึดถือมาตลอด และไม่ใช่เฉพาะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเท่านั้นที่ทรงยึดปฏิบัติ แต่ทุกคนสามารถยึดถือได้ด้วยเช่นกัน จะได้ไม่ทะเลาะกันเช่นทุกวันนี้ ส่วน “ประโยชน์สุขแห่งมหาชน” ทรงทำเพื่อส่วนรวม ถ้าทุกคนทำเพื่อส่วนรวมประเทศก็จะเจริญก้าวหน้า คนในสังคมก็จะได้รับประโยชน์ทั่วกัน