การเลือกตั้งปี 2566 ทวีความดุเดือดเข้มข้นมากขึ้น ที่ไม่เพียงข่าวการย้ายพรรคของบรรดาส.ส.และแกนนำพรรคการเมือง ที่ถือเป็นช่วงโค้งสุดท้ายปลายรัฐบาล กรณีการยุบพรรคการเมือง ก็กลายเป็นกระแสให้ถูกพูดถึง

และนั่นจึงเป็นเหตุให้พรรคการเมืองบางพรรค ที่วางตัวบุคคลสำคัญเอาไว้ นอกชุดกรรมการบริหารพรรค เพื่อป้องกันความเสี่ยง หลีกเลี่ยงการต้องรับโทษทัณฑ์จากการยุบพรรค ที่กำหนดให้หัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมือง ต้องถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง กําหนดเวลา 5 ปีนับแต่วันที่มีคําสั่งให้ยุบพรรคการเมือง

ทั้งนี้เมื่อปลายสัปดาห์ก่อนมีรายงานออกมาจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชี้แจงว่าก่อนหน้านี้ กกต.ได้รับคำร้องให้พิจารณาสั่งยุบพรรคการเมืองต่าง ๆ เนื่องจากถูกกล่าวหาว่า มีการกระทำการฝ่าฝืนมาตรา 92 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองพ.ศ.2560 โดยจากข้อมูลพบว่าตั้งแต่ปลายปี 2563 จนถึงต้นปี 2566 มีพรรคการเมืองถูกร้องเรียนกล่าวหาให้พิจารณายุบพรรคทั้งสิ้น 25 พรรคการเมือง ในจำนวนนี้มี 61 เรื่อง ที่นายทะเบียนพรรคการเมืองเห็นว่า

ไม่มีมูลจึงให้ยุติเรื่อง และอีก 19 เรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณา

สำหรับ 25 พรรคการเมืองที่ถูกยื่นเรื่องร้องยุบพรรค มีดังนี้

– พรรคเพื่อไทย 33 เรื่อง ยุติเรื่องแล้ว 27 เรื่อง อยู่ระหว่างพิจารณา 6 เรื่อง

– พรรคพลังประชารัฐ ถูกร้อง 15 เรื่อง ยุติแล้ว 11 เรื่อง อยู่ระหว่างพิจารณา 3 เรื่อง ถอนคำร้อง 1 เรื่อง

– พรรคประชาธิปัตย์ ถูกร้อง 3 เรื่อง ยุติเรื่องแล้ว 2 เรื่อง

– พรรคพลังธรรมใหม่ถูกร้อง 3 เรื่อง ยุติเรื่องแล้ว 2 เรื่อง

– พรรคก้าวไกลถูกร้อง 5 เรื่อง ยุติเรื่องหมดแล้ว

– พรรคภูมิใจไทยถูกร้อง 2 เรื่อง ยุติเรื่องหมดแล้ว

– พรรคคลองไทยถูกร้อง 2 เรื่อง ยุติเรื่องหมดแล้ว

– พรรคไทยสร้างไทย,พรรคประชาชาติ, พรรคชาติพัฒนา,พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน, พรรครักษ์ประเทศไทย,พรรคพลังชล,พรรครักษ์สันติ, พรรคชาติไทยพัฒนา,พรรคมาตุภูมิ, และพรรคมหาชน พรรคละ 1 เรื่อง โดยในกลุ่มนี้นายทะเบียนพรรคการเมืองมีความเห็นยุติเรื่องแล้วทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม กรณียุบพรรคการเมือง ไทม์ไลน์ในการตัดสินยุบหรือไม่ยุบ นั้นจะมีผลต่อการเลือกตั้ง และหากยุบในช่วงก่อนการเลือกตั้ง และหลังเลือกตั้ง จะทำให้โฉมหน้าการเมืองไทยเปลี่ยนแปลงไป