ทวี สุรฤทธิกุล

ที่เรียกว่า “ประชานิยม” นั้นจริงหรือ น่าจะเป็น “นักเลือกตั้งนิยม” นั้นมากกว่า

ผู้เขียนเคยเข้าไปเรียนเรื่องของการตลาดในเว็บไชต์ Coursera ได้ความรู้มาหลายอย่าง แต่ที่จำได้แม่นเรื่องหนึ่งก็คือ นักการตลาดที่ “เก่ง” ต้องสามารถ “คิดแทน” ผู้ซื้อได้อย่างที่ผู้ซื้อต้องการ รวมถึงที่สามารถ “สร้างความต้องการ” ให้เกิดขึ้นกับผู้ซื้อ แม้เขาจะไม่เคยรู้จักหรืออยากซื้อสินค้าแบบนั้นมาก่อนเลย

มามองการเมืองไทย หลายคนบอกว่านักการเมืองของไทย “เก่งมาก” ที่สามารถ “ล่วงรู้” ความต้องการของผู้เลือกตั้ง รวมถึงที่สามารถ “ล่อลวง” ให้ผู้เลือกตั้งนั้นไปลงคะแนนให้ตนเองได้ โดยที่บางทีผู้เลือกตั้งก็ไม่อยากจะได้ผู้แทนราษฎรแบบนั้น

สมัยที่ผู้เขียนทำงานเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย งานวิจัยชิ้นแรกก็คือการทำประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่า (Oral History) เกี่ยวกับนักการเมืองไทย จึงต้องไปคุยสัมภาษณ์กับนักการเมืองของไทยในยุคแรก ๆ หลายท่าน ที่ดัง ๆ ในยุคนั้น (พ.ศ. 2523 - 2535) ก็เช่น ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคกิจสังคม (ที่ผู้เขียนเคยทำงานเป็นเลขานุการของท่านมาก่อน) คุณบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ คุณใหญ่ ศวิตชาติ คุณทองหยด จิตตวีระ คุณโกศล ไกรฤกษ์ คุณสวัสดิ์ คำประกอบ เป็นต้น

ท่านเหล่านี้ต้องถือได้ว่าเป็นนักการเมืองรุ่นบุกเบิก เพราะลงเลือกตั้งมาตั้งแต่ที่ประเทศไทยมีการเลือกตั้งเป็นครั้งแรก ๆ ทุกท่านให้ข้อมูลคล้าย ๆ กันว่า การหาเสียงต้องใช้ความใกล้ชิดสนิทสนมเป็นสำคัญ ถ้าเป็นต่างจังหวัดก็ต้องเดินไปพบชาวบ้านให้ได้ทุก ๆ หลังคาเรือน เช่นเดียวกันกับที่ในเขตเมืองก็ต้องไปให้ผู้เลือกตั้งได้พบปะเห็นหน้าทุกตรอกซอกซอย

ต่อมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การเลือกตั้งก็เข้าสู่ยุคของ “ผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่” คือแข่งขันกันด้วยความยิ่งใหญ่ของผู้นำพรรค ถึงขั้นที่ทหารและข้าราชการผู้ใหญ่ลงเล่นการเมือง ตั้งพรรคการเมืองเองเสียเลย รวมถึงใช้อำนาจของการเป็นรัฐบาลเอาชนะการเลือกตั้ง อย่างที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งสุดสกปรกใน พ.ศ. 2500 นั้น

นักการเมืองรุ่นใหญ่เหล่านั้นมาเลิกเล่นการเมืองเอาในยุคก่อน พ.ศ. 2540 เพราะตั้งแต่การเลือกตั้งในปี 2522 ก็มีการใช้เงินกันอย่างหนัก เกิดการเมืองแบบ “ธนาธิปไตย” คือใช้เงินในทุกกระบวนการทางการเมือง ตั้งแต่ซื้อเสียงชาวบ้านเข้ามา จนถึงมาซื้อตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาล จนต้องมีการปฏิรูปการเมืองใน พ.ศ. 2540 และเขียนรัฐธรรมนูญพร้อมกฎหมายต่าง ๆ เพื่อกำจัดธนาธิปไตยนั้น

ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2544 พรรคไทยรักไทยได้เสนอนโยบายหลายอย่างที่เรียกว่าเป็น “ประชานิยม” เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน และพักหนี้เกษตรกร เป็นต้น ก็ทำให้ชนะเลือกตั้งเกือบได้ ส.ส.มาเกือบครึ่งหนึ่งในสภา (248 คน จาก ส.ส.ทั้งสภา 500 คน) สืบเนื่องมาจนถึงการเลือกตั้งสมัยต่อมาในปี 2548 ที่ได้ ส.ส.มาถึง 371 คน ของ ส.ส.ทั้งสภา 500 คน ซึ่งก็แสดงถึง “พลานุภาพ” ของนโยบายประชานิยมเหล่านั้น

ในช่วงนั้น (พ.ศ. 2547 - 2550) ผู้เขียนเป็นคณบดีของคณะรัฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ได้ทำโครงการความร่วมมือกับสถาบันพระปกเกล้า ให้นักศึกษาในหลักสูตรประกาศนียบัตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย (ปปร.)ของสถาบันพระปกเกล้า สามารถเอาผลการเรียนในหลักสูตรมาเทียบเรียนปริญญาโทกับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชได้ ซึ่งหลักสูตร ปปร.นี้ก็มี ส.ส.ของพรรคไทยรักไทยเรียนอยู่ด้วยหลายคน โดยมีที่มาขอเทียบเรียนปริญญาโทกับ มสธ.อยู่ 4-5 คน ซึ่งก่อนจบต้องทำวิทยานิพนธ์ตามระบบปกตินั้นด้วย

มี ส.ส.ท่านหนึ่งทำวิทยานิพนธ์เรื่องนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคของพรรคไทยรักไทย กล่าวถึงที่มาของนโยบายนี้ว่าเป็นผลงานของทีมการตลาดของพรรคไทยรักไทย ที่จ้างมืออาชีพหลายคนด้านการตลาดมาช่วยศึกษาและวางแผนการเลือกตั้ง รวมถึงที่จะมีนโยบายอื่น  ๆ ตามมาในการเลือกตั้งครั้งต่อ ๆ ไปให้ “เข้มข้น” มากขึ้นอีกด้วย

ในวิทยานิพนธ์นั้นไม่ได้ให้รายละเอียดว่ามีการศึกษาและวิจัยตลาดของผู้เลือกตั้งอย่างไร (เพราะไม่ใช่ประเด็นหลักและวัตถุประสงค์ของวิทยานิพนธ์) แต่เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาปรากฏว่าพรรคไทยรักไทยได้ ส.ส.เป็นจำนวนมากกว่าทุกพรรคในทุกครั้ง ก็ทำให้ผู้เขียนเริ่มให้ความสนใจกับ “ความสามารถ” ของนักการตลาดที่มาวางแผนให้พรรคไทยรักไทย จนต่อมาเป็นพรรคพลังประชาชนและพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน ที่สามารถ “กอบโกย” คะแนนเสียงได้เป็นกอบเป็นกำอย่างน่าทึ่ง

ยิ่งทราบว่ามีโพลและกูรูจำนวนหนึ่งให้คำทำนายว่า พรรคเพื่อไทยจะ “แลนด์สไลด์” ในการเลือกตั้งครั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ ก็ยิ่งทำให้มีความน่าสนใจมากขึ้นว่าพรรคเพื่อไทย “จะเอาอะไรที่ไหนมา” แต่ก็ยังไม่น่าสนใจเท่ากับที่คิดว่า “จะได้มาอย่างไร”

ผู้เขียนจึงนึกถึงทฤษฎีทางการตลาดที่เคยรู้มาจาก Coursera อย่างที่บอกไว้ต้นบทความนี้ ว่านักวางแผนของพรรคไทยรักไทย(และคงจะยังช่วยวางแผนอยู่ในพรรคเพื่อไทยทุกวันนี้) ว่าเป็น “พวกคิดแทน” ที่มีวิธีการเข้าไปล่วงรู้ความต้องการของชาวบ้าน รวมทั้งที่เป็น “นักล่อลวง” ให้ผู้เลือกตั้งเห็นคล้อยตาม

ทีนี้เราก็จะเห็นว่าพรรคการเมืองที่กำลังจะลงเลือกตั้ง ต่างก็ใช้นโยบายประชานิยมกันอย่างโจ๋งครึ่ม จนประชาชนอย่างเราที่ได้เห็นได้อ่านป้ายเตรียมเลือกตั้งเหล่านั้น ต้อง “เฟ้อเรอเปรี้ยว” ไปตาม ๆ กัน

มีคำคำหนึ่งที่น่าจะใช้กับนักการเมืองที่ใช้วิธีการหาเสียงแบบ “ประชานิยมเฟ้อ” ได้อย่างเหมาะสมก็คือคำว่า “นักขายฝัน” ซึ่งแตกต่างจากนักการตลาดที่ประสบความสำเร็จที่เรียกว่าเป็น “นักสร้างฝัน”

นักขายฝันนั้นภาษาธุรกิจพวกนี้ก็เป็นแค่ระดับแรงงาน คือถ้าเป็นในวงการค้าขายก็คือแค่ “เซลส์แมน” แต่คนที่เป็นนักสร้างฝันแล้วต้องถือว่าเป็นคนระดับมันสมอง หรือเป็น “บอส” คือผู้ควบคุมองค์กรนั้น ๆ อย่าแท้จริง

เราคงจะได้เห็นเร็ว ๆ นี้ว่า ใครจะเป็นแค่ “เซลส์แมน” หรือใครจะเป็น “บอส” ในการเลือกตั้งครั้งนี้