เข้าสู่เดือนที่ 3 ของปี 2566 เป็นปีมีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวหรือไปถึงจุดต่ำสุด แต่ล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ได้ปรับคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกใหม่เป็น 2.9% เพิ่มขึ้น 0.2% จากที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ เนื่องจากปัญหาเงินเฟ้อทั่วโลกเริ่มดีขึ้น ซึ่งแนวแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่กลับมาเป็นบวกมากขึ้น มาจากปัจจัยภายในในหลายประเทศที่ดีขึ้น เช่น สหรัฐอเมริกาและปัจจัยที่ จีน ประกาศเปิดประเทศ
ส่วนสถานการณ์เศรษฐกิจไทย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในปีนี้ กระทรวงการคลังยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทย จะขยายตัวอยู่ที่ระดับ 3.8% โดยหลังจากนี้จะต้องดูข้อมูลเศรษฐกิจในช่วงเดือน มี.ค. และ เม.ย. ก่อนจะมีการปรับประมาณการใหม่อีกครั้ง
นอกจากนี้ ยังต้องดูเรื่องเสถียรภาพของเศรษฐกิจ อาทิ อัตราเงินเฟ้อ ซึ่งขณะนี้มีแนวโน้มชะลอตัวลง และคาดว่าจะทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ระดับ 1-3% จากความพยายามของรัฐบาลในการใช้มาตรการ โดยเฉพาะด้านการคลังในการดูแลราคาพลังงาน ที่เป็นต้นทุนสำคัญด้านโลจิสติกส์ และการตรึงราคาน้ำมันดีเซล ด้วยการลดอัตราภาษี พร้อมทั้งการขยายเพดานราคาน้ำมันดีเซลเป็น 35 บาท ถือเป็นระดับที่เหมาะสม รวมทั้งการดูแลทุนสำรองระหว่างประเทศ หนี้สาธารณะ และหนี้ครัวเรือน
"ปกติเรื่องเงินเฟ้อต้องใช้นโยบายด้านการเงินในการควบคุมดูแล ส่วนเรื่องอัตราดอกเบี้ยนั้น เป็นเรื่องของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งจะต้องดูในหลายปัจจัย โดยเฉพาะต้องดูเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้มีความยั่งยืนและต่อเนื่อง ไม่เหมือนสหรัฐฯ ที่ต้องใช้นโยบายการเงิน เพื่อดูแลไม่ให้เงินเฟ้อจากการบริโภคสูงเกินไป" นายอาคม กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการจ้างงาน แม้ว่าปัจจุบันจะปรับตัวดีขึ้นจากช่วงปี 2563-2564 แต่ต้องยอมรับว่าไทยยังเจอปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานที่มีทักษะ ซึ่งเป็นแรงงานที่ตลาดต้องการในอนาคต ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องเร่งหามาตรการเพื่อมาดูแลสังคมผู้สูงวัย โดยเฉพาะผู้ที่เกษียณอายุการทำงาน 60 ปี ให้มีรายได้ที่สามารถเลี้ยงชีพได้ โดยต้องทำทั้ง 2 ทาง คือ ทำให้เกิดการจ้างงานผู้สูงอายุ ซึ่งกระทรวงการคลังกำลังพิจารณาว่าจะมีมาตรการด้านภาษีเพื่อสนับสนุนเรื่องดังกล่าวอย่างไร และอีกด้านคือการสร้างหลักประกันที่มั่นคงในชีวิตสำหรับผู้สูงวัย
ทั้งนี้ จากรายงานรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2562 ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป จะมีคนไทยอายุถึง 60 ปี ปีละล้านคน และในปี 2576 จะมีประชากรผู้สูงอายุร้อยละ 28 ของประชากรทั้งประเทศ ดังนั้น นอกจากรัฐบาลเองจะให้ความสำคัญในด้านสวัสดิการผู้สูงอายุแล้ว การดึงศักยภาพของผู้สูงวัย ที่มีทั้งทักษะและประสบการณ์กลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน นอกจากจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยังจะช่วยส่งเสริมในหลายมิติ ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต