ทองแถม นาถจำนง
หลักการใช้ราชาศัพท์ที่ พลตรี ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช วางไว้คือ “ถ้าเลี่ยงได้ก็เลี่ยงเสียดีกว่า พึงใช้เฉพาะในกรณีที่จำเป็นจริง ๆ เท่านั้น”สำหรับคนที่ไม่คุ้นเคยกับราชาศัพท์ ไม่มีความรู้ ไม่มีตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้อง ท่านเห็นว่า ไม่จำเป็นต้องใช้ราชาศัพท์ เพราะถ้าใช้ผิดแล้วมันเสียหายมากกว่าไม่ใช้
แต่สำหรับผู้ที่มีตำแหน่งงานต้องเกี่ยวกับพระราชพิธีแล้ว จำเป็นต้องมีความรู้ใช้อย่างถูกต้อง ถ้าไม่รู้ก็ถือว่าไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่การงาน อย่างเช่น โฆษกพิธีกรในการถ่ายทอดงานพระราชพิธี ข้าราชการสำนักพระราชวัง ข้าราชการการเมือง ฯลฯ เหล่านี้จำเป็นต้องใช้ให้ถูกต้อง
พลตรี ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช มีบทความเรื่อง “ราชาศัพท์” ตีพิมพ์เมื่อ 10 มกราคม 2495 (รวมพิมพ์ในหนังสือ “สยามเมืองยิ้ม”) ดังนี้“นับตั้งแต่วันที่ในหลวงเสด็จกลับพระนครมาจนถึงวันนี้ ผู้เขียนสังเกตดูคนไทยทั่ว ๆ ไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกคนหนังสือพิมพ์อย่างผู้เขียนเรื่องนี้เอง ดูชักจะแก่ราชาศัพท์กันมากเอาการอยู่ทีเดียว วันหนึ่ง ๆ ก็ได้ยินเสียงแต่คนพูดกันว่า ทรงนี่ทรงนั่น หรือพระโน่นพระนี่ สุดแล้วแต่ใครจะบัญญัติราชาศัพท์ของตนขึ้นได้ตามใจชอบ ผู้เขียนสังเกตเห็นราชาศัพท์ที่ใช้กันทั่ว ๆ ไปในเวลานี้ดูชักจะสวิงมากขึ้นตามกาลสมัย
ความจริงราชาศัพท์เป็นเรื่องยุ่งยาก แต่ก็เป็นของที่ยังตัดไม่ขาดในประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ ราชาศัพท์ในแต่ละประเทศจะแก่อ่อนกว่ากันก็สุดแล้วแต่ภาษาของแต่ละประเทศว่าจะดัดแปลงเป็นราชศัพท์ได้เพียงใด ภาษาใดที่ยืดหยุ่นไม่มากเช่นภาษาไทยก็ต้องมีราชศัพท์มากขึ้นไปอีกเป็นธรรมดา เพราะภาษาไทยเราไม่ ยุ่งยากยืดหยุ่นแต่เฉพาะราชาศัพท์เท่านั้น แต่ในภาษาที่เราใช้กันทุกวันและถือว่าสุภาพนั้น ก็ยุ่งยากเต็มทีอยู่แล้ว ราชาศัพท์ในภาษาไทยนั้น พอจะแบ่งออกได้เป็นสองประเภท คือประเภทที่เกี่ยวกับในหลวงหรือเจ้านาย เป็นต้นว่า อวัยวะต่าง ๆ ที่เป็นของในหลวงหรือเจ้านาย สรรพนามต่าง ๆ ที่ใช้แทนในหลวงหรือเจ้านาย ตลอดจนกิริยาต่าง ๆ ที่ในหลวงหรือเจ้านายเป็นผู้กระทำ ทั้งหมดนี้เป็นราชาศัพท์
ประเภทหนึ่งนั้นหมายถึงสรรพนาม กิริยาที่ใช้แก่ตนเองเวลาพูดกับในหลวงหรือเจ้านาย เมื่อได้แยกราชาศัพท์ออกเป็นสองประเภทเช่นนี้แล้ว แทนที่ปัญหาราชาศัพท์จะง่ายลง กลับดูเหมือนจะทำให้ยุ่งยากขึ้นไปอีกในกระบวนราชาศัพท์ต่าง ๆ นั้น มีคำอยู่คำหนึ่งที่ใช้กันเสียจนบอบช้ำทรุดโทรม คำนั้นคือคำว่า “ทรง”
คนสมัยใหม่ส่วนมากมักจะนึกว่าคำว่า “ทรง” นั้นเป็นกุญแจเข้าถึงราชาศัพท์ กล่าวถือถ้าเอา “ทรง” ไปต่อเข้าข้างหน้าศัพท์ธรรมดาสามัญแล้วไซร้ ศัพท์นั้นก็จะกลายเป็นราชาศัพท์ไปทีเดียว เป็นต้นว่า กิน นอน เดิน นั่ง ยืน เป็นศัพท์ธรรมดา หากเอาคำว่า “ทรง” มาต่อเข้าข้างหน้าทำให้คำเหล่านั้นอ่านว่า ทรงกิน ทรงนอน ทรงนั่ง หรือทรงยืน คำเหล่านั้นก็กลายเป็นราชาศัพท์ไป การใช้คำ “ทรง” ในกรณีที่กล่าวมานี้ ถึงจะไม่ถูกเสมอไปก็นับว่าถูกอยู่บ้าง และไม่ผิดมากนัก
คำว่า ทรงกิน ทรงนอนหรือทรงเดินนั้น ถึงหากจะไม่ถูก แต่ก็ไม่ถึงกับแสลงหู พอจะผ่านไปได้ และอย่างไรก็ยังดีกว่าประเพณีใช้คำว่า “ทรง” ต่อเติมเข้าไปข้างหน้าคำที่เป็นราชาศัพท์อยู่แล้ว เช่น เสวย บรรทม ประทับ เสด็จ หรือรับสั่ง คำเหล่านี้เมื่อเติม “ทรง” เข้าไปก็กลายเป็นราชาศัพท์สองชั้นที่ฟุ่มเฟือย ดั่งที่เห็นกันอยู่บ่อย ๆ เช่น ทรงเสวย ทรงบรรทม ทรงประทับ ทรงเสด็จ ทรงรับสั่ง ซึ่งเป็นราชาศัพท์ที่ผิด เพราะคำเหล่านี้ไม่ต้องใช้ “ทรง” ประกอบก็เป็นราชาศัพท์อยู่แล้วในตัว ถ้าเติม “ทรง” เข้าไปอีก ก็ฟังดูรุ่มร่ามใช้การไม่ได้ทีเดียว
ราชาศัพท์ที่ผู้เขียนเรื่องนี้ติดอยู่เสมอ จนต้องยอมแพ้และพยายามหลีกเลี่ยงถ้าหากทำได้ ก็คือราชศัพท์เกี่ยวแก่อวัยวะและส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ถ้าเพียงขนาดอวัยวะที่ใช้อยู่ทุกวัน เช่น พระเศียร พระหัตถ์ หรือพระบาท พระกร อะไรเทือกนี้ก็พอทำเนา แต่ถ้าจะไล่กันลงไปถึงส่วนปลีกย่อยต่าง ๆ ก็เจ๊งทุกที และเข้าใจว่าคนอื่นก็คงเจ๊งเช่นกัน
ผู้เขียนเคยเห็นตำราว่าด้วยเรื่องนี้ของกรมมหาดเล็กสมัยก่อน บอกราชาศัพท์ส่วนปลีกย่อยของร่างกายนี้ไว้โดยละเอียด เริ่มต้นตั้งแต่ พระอังคุษฐ์แปลว่าหัวแม่มือ ไปจนถึงอะไรต่ออะไรอีกมาก ซึ่งเหลือที่จะจดจำ
คนธรรมดาเราท่านทั้งหลาย มักจะชอบเติม “พระ” เข้าไปข้างหน้านาม นึกว่าจะทำให้คำนั้นเป็นราชศัพท์ขึ้นมา ในที่นี้มีข้อควรสังเกตว่าราชาศัพท์ที่เป็นนามนั้น ส่วนมากมักจะมาจากบาลี หรือสันสกฤต จะมีภาษาเขมรปนอยู่บ้างก็น้อยคำ
เฉพาะคำที่เกี่ยวกับร่างกายแล้ว ไม่มีภาษาเขมรปนอยู่เลยทีเดียว และคำว่า “พระ” นั้นจะเติมเข้าไปได้เฉพาะหน้าคำที่เป็นภาษาบาลี หรือสันสกฤตเท่านั้น เช่นคำว่า เศียร บาท หัตถ์ เนตร ชาณุ หรือกร ล้วนแล้วแต่เป็นคำสันสกฤตบาลี ตามปกติก็มี “พระ” ใส่ไว้ข้างหน้าให้เป็น พระบาท พระหัตถ์ พระเนตร พระชาณุ และพระรก คำไทยแท้ ๆ เติม “พระ” เข้าไปสักเท่าไร ก็จะไม่เป็นราชาศัพท์ขึ้นมาได้เลย คำว่า “พระกระดลหก” นั้นผิดราชาศัพท์ แต่ถ้าใช้ว่า “กะโหลกพระเศียร” ก็ถูก แต่การใช้พระเติมเข้าไปข้างหน้าคำภาษาไทยนี้มีข้อยกเว้น คือ “พระเก้าอี้” หนึ่ง “พระที่นั่ง” หนึ่ง เติมพระแล้วก็ยังเป็นราชาศัพท์ที่ถูกต้อง สำหรับราชาศัพท์ที่ใช้กับตัวเองเวลาเพ็ดทูลเจ้านายนั้น ก็ยุ่งไม่น้อย คนในปัจจุบันออกจะหาโอกาสใช้ได้ยาก แต่ถึงกระนั้นถ้าจวนตัวเข้าจริง ๆ ก็ทำให้ต้องอึดอัดอยู่เหมือนกัน สมมติว่าใครได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และมีพระราชดำรัสถามว่า “สบายดีหรือ ?” คำตอบที่ถูกต้องก็มีอยู่เพียงอันเดียวเท่านั้น คือ “ด้วยเดชะพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้ามีความสุขสบายดีพระพุทธเจ้าข้า ขอรับ”
หรือถ้าจะมีพระราชดำรัสถาม “กินข้าวแล้วหรือยัง” คำตอบที่ถูกต้องก็คือ “รับพระราชทานแล้วพระพุทธเจ้าข้า ขอรับ” หรือ “ยังมิได้รับพระราชทาน” สุดแล้วแต่กรณี
สมัยหนึ่ง การใช้ราชาศัพท์ดูเหมือนจะฟุ่มเฟือยไป คำว่า “รับพระราชทาน”นี้เป็นต้น พระพุทธเจ้าหลวงมหาราชเคยมีพระราชวิจารณ์ไว้ว่า ถ้าพูดว่า “ม้ารับพระราชทานหญ้า” ก็พอจะสันนิษฐานอย่างเต็มเหยียดได้ว่า ถูก ถ้าจะถือว่าแผ่นดินเป็นของในหลวง และหญ้านั้นขึ้นอยู่บนดิน แต่ถ้าจะพูดว่า “เสือมารับประราชทานม้า” ก็ต้องสันนิษฐานว่าผิด เพราะม้านั้นมิใช่ของในหลวง และถึงจะใช่ ในหลวงก็คงจะไม่พระราชทานให้เสือกินเล่นง่าย ๆ ส่วนคำว่า “หวยพระราชทาน” ซึ่งจะให้หมายความว่า “หวยกิน” นั้น ผิดแน่ ๆ ทีเดียว เพราะการเล่นหวยนั้นดูจะไม่เกี่ยวกับในหลวงเลย
ผู้เขียนเรื่องนี้เขียนมาเสียยืดยาว แต่ดูเหมือนจะยังมิได้วางหลักเกี่ยวกับราชาศัพท์ไว้ที่ไหนเลย ในที่นี้ก็ต้องขอวางหลักไว้ว่า “ราชาศัพท์นั้น ถ้าเลี่ยงได้ก็เลี่ยงเสียดีกว่า พึงใช้เฉพาะในกรณีจำเป็นจริง ๆ เท่านั้นเอง” (10 มกราคม 2495)