รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
ประธานที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
ช่วง 17 ปีมานี้ “การเมืองไทย” เป็นหัวข้อที่สร้างความแตกแยกและความสะเทือนอารมณ์อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน นับตั้งแต่รัฐบาลทักษิณถูกปฏิวัติเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 หลังจากวันนั้นการเมืองไทยเข้าสู่โหมดความตึงเครียดเรื่อยมา จากระดับน้อยไปถึงระดับมากที่สุดระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ทั้งแบบเปิดเผยและใต้ดิน คนไทยบางส่วนถึงกลับรู้สึกท้อแท้และไร้ความหวังกับระบบการเมือง
ประเด็นความเห็นที่ขัดแย้งกันอย่างรุนแรงทางการเมืองไทยที่ค่อย ๆ ก่อหวอดสะสมมากขึ้น ๆ ไม่พ้นเรื่องบทบาทของสถาบันกษัตริย์ การปกครองในระบอบประชาธิปไตย การปรับเปลี่ยนรัฐบาลบ่อยครั้ง นโยบายเศรษฐกิจ การแก้ปัญหาของประชาชนที่ยังไม่ว้าว และปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน เป็นต้น
หากจะว่ากันไปจริง ๆ แล้ว คนไทยเป็นคนรัก ‘สุข สนุก และสงบ’ แต่ ณ วันนี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าคนไทยหลายบ้าน ทั้งอยู่ไกลและใกล้ เมื่อเสพข่าวการเมืองแล้วจะมีอาการ “อิน” จนบางครั้งเครียดลามไปถึงขั้นทะเลาะกัน ลงไม้ลงมือกัน ไม่เว้นแม้กระทั่งคนในครอบครัวเดียวกันอยู่บ้านหลังเดียวกันยังมองหน้ากันไม่ติด เพราะมีความฝักใฝ่ในการเมืองตรงข้ามกันแบบสุดขั้ว
แล้วทำไม? ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คนไทยจึงมีมุมมองต่อการรับรู้และซึมซับข่าวการเมืองที่แตกต่างกัน เมื่อคิดตรองดูแล้วน่าจะเป็นเพราะความเกี่ยวข้องหรือความผูกพันทางการเมือง ประสบการณ์ส่วนตัว ภูมิหลังทางเศรษฐกิจและสังคมไม่เหมือนกัน (แม้ว่าจะมาจากพื้นเพครอบครัวเดียวกัน) บางคนชอบเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง สนใจข่าวการเมือง และติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับการเมืองอย่างใกล้ชิดติดขอบ ขณะที่บางคนอาจรับรู้แต่เฉยเมยหรือไม่หลงเชื่อผู้นำและสถาบันทางการเมือง ซึ่งในประเด็นหลังนี้จะไม่ค่อยสร้างความกังวลให้กับสังคม
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าเป็นกังวลในการเสพข่าวการเมืองไทยคงไม่พ้นเรื่องการจำกัดเสรีภาพในการพูดและเสรีภาพของสื่อ รัฐมีการเซนเซอร์สื่อและการควบคุมสื่อซึ่งส่งผลต่อการรายงานข่าวและการรับรู้ข่าวการเมือง แต่การเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์ที่ไม่ยากก็กลายเป็นช่องทางหรือแหล่งข่าวสำคัญของการรับรู้ข่าวและข้อมูลทางการเมืองของคนไทยทุกกลุ่มและทุกเจนเนอเรชั่น
ไปแล้ว
ยิ่ง ณ วันนี้ การเมืองไทยต้องบอกว่าร้อนระอุเข้มข้นถึงดาวอังคารไปแล้ว และจะเป็นเช่นนี้ไปอีกจนกว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่เสร็จสิ้น เมื่อประกาศยุบสภาฯ แล้วจะต้องมีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 60 วันหลังยุบสภาทำให้กระแสข่าวการเมืองไทยมีให้เล่นรายวัน วันละหลายรอบ และหลากหลายประเด็นไม่ว่าจะเป็นเรื่องการย้ายพรรค การยุบพรรค การดูด ส.ส. การซื้อเสียง การตัดสิทธิทางการเมือง การแตกขั้วการเมืองของทายาทนักการเมือง การใส่ร้ายป้ายสี การหาจุดอ่อนโจมตี นโยบายหาเสียงการลงพื้นที่เข้าหาประชาชน ไทม์ไลน์เลือกตั้งทั่วไป 2566 ผลโพลคะแนนนิยม ว่าที่นายกฯคนใหม่ พรรคที่จะร่วมรัฐบาล ฯลฯ
ความร้อนแรงของข่าวการเมืองที่ยึดครองพื้นที่สื่อทุกแขนง สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จึงได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนกรณี คนไทยกับ “ข่าวการเมือง” ณ วันนี้ โดยสำรวจกับประชาชนทั่วประเทศทางออนไลน์จำนวน 1,215 คน ระหว่างวันที่ 8-13 มีนาคม 2566 สรุปผลได้ ดังนี้
ประชาชนสนใจ “ข่าวการเมือง” ในช่วงนี้ เพิ่มขึ้น 50.95% สนใจเหมือนเดิม 33.25% และสนใจลดลง 15.80%
5 หัวข้อ “ข่าวการเมือง” ที่ประชาชนสนใจเป็นพิเศษ ได้แก่ การเลือกตั้ง 60.08% การเปิดโปงข้อมูลหรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม 49.11% การทำงานของนักการเมือง 48.95% ยุบสภา 46.75% และความโปร่งใสการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน 42.92%
5 หัวข้อ“ข่าวการเมือง” ที่ประชาชนไม่ชอบ/เบื่อ คือ การใส่ร้ายป้ายสี ทะเลาะกันไปมา 83.71% แสดงพฤติกรรมก้าวร้าว ด่าทอ ใช้ความรุนแรง 77.39% อยากดัง สร้างกระแสให้กับตนเอง 56.77% สภาล่ม 55.94% และพาดพิงผู้อื่น นำเรื่องส่วนตัวมาเปิดเผย 48.63%
“ข่าวการเมือง” ในช่วงนี้ มีผลต่อการตัดสินใจเลือก ส.ส. 81.89% และไม่มีผล 18.11%
ประชาชนเชื่อถือ “ข่าวการเมือง” จากโซเชียลมีเดีย มากที่สุด 76.75% รองลงมาคือ โทรทัศน์ 67.35% และเพื่อน 31.79%
ภูมิทัศน์การเมืองไทยหรือสภาพโดยรวมและพลวัตของระบบการเมืองของประเทศไทยมีความซับซ้อนและมีภูมิหลัง
ความเป็นมาที่ยาวนาน แต่ทุกวันนี้ก็พูดไม่ได้ว่าการเมืองไทยมีเสถียรภาพและความมั่นคง ความแตกแยกของกลุ่มต่าง ๆ ก็ยังมีอยู่มาก
การเลือกตั้ง ส.ส. ที่ใกล้เข้ามาเป็นสีสัน ประเด็นโต้แย้ง และข้อถกเถียง สื่อเองก็มีความตื่นตัวในการนำเสนอข่าวการเมืองที่เรียก “กระแสและอารมณ์” ของทุกฝ่ายได้อย่างมากและตลอดเวลา ขณะเดียวกันภูมิทัศน์ของสื่อในประเทศไทยก็มีความเป็นการเมืองสูงด้วย
สื่อหลายสำนักฝักใฝ่กลุ่มหรือพรรคการเมืองกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดโดยเฉพาะ
ดังนั้น...คนไทย ณ วันนี้ต้องรู้เท่าทันสื่อเมื่อต้องเสพ “ข่าวการเมือง” ด้วยนะครับ !!!