สมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช ทรงประทานให้สัมภาษณ์ในหนังสือ “ในหลวงเรา”
เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พุทธศักราช 2518 ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เนื้อความสำคัญดังนี้
“เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใกล้ชิดสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวิชรญาณวงศ์ ทำให้ทรงมีความรู้ และทรงมีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนามากขึ้น จึงเป็นแรงหนึ่งที่ดลพระราชหฤทัยให้เกิดพระราชศรัทธาปสาทอันแน่วแน่ที่จะทรงพระผนวชในสำนักสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ…
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระผนวชที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2499 โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ทรงเป็นพระราชอุปัชฌาย์ แล้วเสด็จฯมาทรงปฏิบัติสมณะวัตรในสำนักสมเด็จพระราชอุปัชฌาย์ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร จนถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2499 จึงทรงลาผนวชอยู่ 15 วัน สมเด็จพระสังฆราชเจ้าได้ทรงมอบหมายให้ เป็นพระพี่เลี้ยง ก็ได้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ได้มีความรู้สึกว่าพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะได้ทรงพระผนวชตามราชประเพณีอย่างเดียวเท่านั้นหามิได้ แต่ทรงพระผนวชด้วยพระราชศรัทธาที่ตั้งมั่นในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง มิได้ทรงเป็นบุคคลจำพวกที่เรียกว่าหัวใหม่ ไม่เห็นศาสนาเป็นสำคัญ แต่ได้ทรงเห็นคุณค่าของพระศาสนา ฉะนั้น ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาสามัญก็กล่าวได้ว่า บวชด้วยศรัทธา เพราะทรงผนวชด้วยพระราชศรัทธา ประกอบด้วยพระปัญญา และได้ทรงปฏิบัติพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด…
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์แห่งมหาชนชาวสยาม” ดังจะพึงเห็นได้จากพระราชกรณียะกิจที่ได้ทรงปฏิบัติมากมาย ซึ่งใครๆ ไม่สามารถที่จะตำหนิพระองค์ นอกจากนี้ยังได้พระราชทานกระแสแนะนำในการรักษาปฏิบัติพระพุทธศาสนาอยู่เนืองๆ โดยทรงมีพระราชปรารภกับพระเถระทั้งหลาย ซึ่งได้ทรงพบในที่นั้นๆ คนโดยมากย่อมจะทราบว่าเมื่อเสด็จฯไปทรงปะปนกับคนกลุ่มใด อาชีพใด ก็ย่อมจะทรงมีพระราชดำรัสแก่บุคคลกลุ่มนั้น เกี่ยวกับอาชีพนั้น ๆ แสดงพระราชดำริในการปฏิบัติเริ่มแก้ไขส่งเสริมให้บังเกิดความเจริญก้าวหน้า ฉะนั้น เมื่อทรงพบปะกับสมณะก็มีพระราชปรารภถึงธรรมปฏิบัติ มีพระราชดำริเริ่มแก้ไขส่งเสริมวิธีการปฏิบัติ วิธีการสอน เป็นต้น โดยเฉพาะมีพระราชดำริเป็นห่วงใยในความประพฤติศีลธรรมระดับประชาชนทั่วไป ซึ่งพระสงฆ์ควรจะแนะนำสั่งสอนประชาชนทั่วไปให้มีความรู้และปฏิบัติในศีลธรรมระดับนี้ เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขของประเทศชาติ ประชาชนพระภิกษุสามเณรเมื่อเข้ามาอุปสมบทบวชเรียน ก็เท่ากับว่ารับปริญญาแห่งพระสงฆ์ เหมือนอย่างสมาชิกของสมาคมใดสมาคมหนึ่ง ก็ต้องรับปริญญาตามระเบียบของสมาคมนั้นๆ จึงพึงปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามปริญญา เพื่อให้เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาของประชาชน เพราะเมื่อประชาชนไม่นับถือก็จะทรงอยู่ไม่ได้…
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชศรัทธาอย่างมั่นคงในพระศาสนา และได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียะกิจทุกอย่างในฐานะทรงเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภกอย่างดียิ่ง ในด้านศิลปวัตถุก็ได้มีพระราชประสงค์ให้รักษาศิลปวัตถุของเก่า เมื่อจะทำขึ้นใหม่ ก็โปรดให้ทำด้วยมุ่งประโยชน์ให้เหมาะสมแก่วัตถุประสงค์และท้องถิ่นเป็นสำคัญ ไม่ให้เป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ ได้พระราชทานพระราชดำริแบบพระพุทธรูป ภ.ป.ร. ซึ่งนับได้ว่าเป็นพระพุทธรูปศิลปวัตถุสมัยรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียะกิจอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา ด้วยทรงปฏิบัติพระองค์อยู่ในธรรม และด้วยพระราชทานปัจจัยคือสิ่งต่างๆเพื่ออุปถัมภ์พระพุทธศาสนาอย่างไม่ทรงหยุดยั้ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ประชาชนโดยทั่วไปทุกคนย่อมจะเห็นได้ด้วยตนเองอยู่แล้ว ตามที่ได้กล่าวมานี้ก็เป็นเพียงบางประการ ทุกๆคนเมื่อได้อ่านก็อาจจะมองเห็นได้ด้วยตนเองถึงสิ่งอื่นๆอีกอย่างกว้างขวาง”