ทวี สุรฤทธิกุล

“เงินแม่ยายลืม หรือไม่ก็ยืมเงินเพื่อน” คือวิธีของผู้มีบารมีในการใช้กระสุน

คนที่เกิดทันและได้เลือกตั้งเมื่อปี 2544 แล้วได้เลือกตั้งต่อมาอีก  4 - 5 ครั้งจนถึงล่าสุดในปี 2562 อย่างน้อยคนเหล่านี้ก็กำลังย่างสู่วัยกลางคน คือมีอายุกว่า 40 ปีขึ้นไป ซึ่งต้องถือว่ามีประสบการณ์ทางการเมืองมาพอสมควร เพราะได้ผ่านสมรภูมิการเลือกตั้ง แม้จะในฐานะผู้หย่อนบัตร อย่างน้อยก็ 20 ปีแล้ว

คนที่ผ่านประสบการณ์ทางการเมืองมาขนาดนี้ ถ้าเป็นคนช่างสังเกตและชอบคิดวิเคราะห์แยกแยะ (บางคนมีคำย่อสำหรับกระบวนการนี้ แต่ออกจะไม่สุภาพนัก) ก็พอจะมองเห็น “พัฒนาการ” ของการเอาชนะในการเลือกตั้ง ว่ายังไม่ได้มีอะไรพัฒนามากนัก วิธีคิดและการใช้เงินก็ยังเป็นแบบเดิม ๆ เพียงแต่มีเทคโนโลยีและธุรกรรมการเงินแบบใหม่ ๆ มาช่วยเสริม ดังนั้นจึงอาจจะยังเรียกว่า “พัฒนา” นั้นไม่ได้

“พัฒนา” นั้นแปลว่าทำให้ดีขึ้น แต่การซื้อเสียงในการเมืองไทยยังแย่เหมือนเดิม

นักเมืองที่ของไทยถูกเรียกว่า “นักเลือกตั้ง” ยังคงมองว่า “คนไทยซื้อได้” และพยายามทุ่มเงินซื้อเสียงมาโดยตลอด แม้ในทุกวันนี้ผลลัพธ์ของการซื้อเสียงจะคาดหวังไม่ได้เช่นแต่ก่อน แต่การใช้เงินก็ยังเป็น “ยุทธศาสตร์” ที่จำเป็นสำหรับการเลือกตั้งในประเทศไทย

การซื้อเสียงในทุกวันนี้ไม่ใช่เพื่อผลได้แบบตรงไปตรงมา เช่น จ่าย 500 บาท ได้ 1 คะแนน ดังนั้นถ้าจ่าย 5,000,000 บาท ก็ต้องได้ 10,000 คะแนน เพราะหลัง ๆ นี้จ่ายเป็น 10 ล้านบาท ก็อาจจะได้ไม่กี่พันคะแนนก็มี

แต่คนที่อยากได้เป็น ส.ส.ก็ต้องจ่าย เพื่อสิ่งที่เรียกว่า “บารมี” หรือ “รักษาหน้าตา”

ดังนั้นสิ่งที่เราพบเห็นก็คือ ผู้สมัคร ส.ส.แต่ละคนจะมีราคาในระดับต่าง ๆ ตามระดับของ “หน้าตา” นั้น ถ้าเป็น ส.ส.มาหลายสมัยก็จะมีราคาหลักหลายสิบล้าน เพราะคนเหล่านี้ต้องใช้เงินจำนวนมากนั้นรักษาหน้าตาเขาไว้ ในขณะที่ ส.ส.น้อยสมัย หรือผู้สมัครหน้าใหม่ ก็ต้องใช้เงินตามสมควร อย่าวน้อยก็เพื่อแสดงให้เห็นว่า “ให้เกียรติ” ผู้เลือกตั้ง อย่างที่ชาวบ้านเรียกว่า “ติดปลายนวม” หรือ “มีน้ำใจ” ให้บ้าง

กิจกรรมใช้เงินรักษาหน้าตานี้อาจจะไม่ค่อยเห็นกันในเขตเมือง แต่ถ้าออกไปในชนบทแล้ว ถือว่าเป็น “เดอะมัสต์” หรือ “ต้องทำ” ไม่งั้นจะไม่มีชื่ออยู่ในสายตาของชาวบ้านร้านตลาดทั้งหลายเลย

แต่ว่านักเลือกตั้งเหล่านั้นเอาเงินจำนวนมาก ๆ มาจากไหน เขาใช้เงินตัวเองทั้งหมดเลยหรือ?

ก่อนปี 2544 นักเลือกตั้งจำต้องจ่ายเงินจากกระเป๋าตัวเองเป็นส่วนใหญ่ เพราะการเลือกตั้งในยุคก่อนนั้นยังเป็น “ไดเร็กต์เซล” คือ “จ่ายตรง” ไปยังผู้เลือกตั้ง (ส่วนใหญ่ก็ผ่านระบบหัวคะแนนและการจัดตั้งในพื้นที่)

แต่ว่าตั้งแต่ในปี 2544 เป็นต้นมา คนที่ได้ชื่อว่า “อัศวินคลื่นลูกที่สาม ตาดูดาวเท้าติดดิน” ได้เข้ามาปฏิวัติวงการเลือกตั้งของไทย ด้วยการใช้ระบบ “บริษัทไม่จำกัดทุน” คือรวมหุ้นกับคนที่สนใจอยากได้ประโยชน์จากรัฐบาลหลังเลือกตั้ง มาช่วยกันลงขันช่วยจ่ายเงินให้ผู้สมัครต่าง ๆ ไปทั่วประเทศ

ผู้สมัครหลายคนที่มาเข้าพรรค “จะรักประเทศไทยใครจะทำไม” แม้จะไม่มีเงินส่วนตัวมากนัก แต่ถ้าสามารถหาเงินมาลงขันเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้ได้ ก็สามารถที่จะลงสมัครในเขตเลือกตั้งต่าง ๆ ได้  รวมถึงคนที่ไม่อยากใช้เงินตัวเอง ซึ่งมีหัวหน้าพรรคเป็นต้นแบบนำการกระทำ ก็สามารถไปหาเงินของคนอื่นมาใช้จ่ายก็ได้อีกด้วย

นี่แหละที่เรียกกันเล่น ๆ ว่า “เงินแม่ยายลืม เงินยืมจากเพื่อน” คือเป็นเงินที่ได้มาจากผู้มีอุปการคุณ เปรียบเหมือนแม่ยายที่เอ็นดูลูกเขย รวมถึงเงินที่ไม่อยากบอกถึงที่มาที่ไป ก็โบ้ยรวม ๆ ไปว่าเป็นเงินที่เพื่อนให้ยืม หรือแม้แต่ที่ผู้สมัครบางคนบอกว่า “มีคนทำหล่นไว้”

นั่นคือรูปแบบการซื้อเสียงที่จะคงมีดำเนินอยู่ในการเลือกตั้งครั้งที่จะมาถึงนี้

สรุปง่าย ๆ เราจะไม่รู้ที่มาที่ไปของเงิน เพราะผู้สมัครก็จะได้ไม่ต้องรับผิดชอบ หากมีใครมาฟ้องว่ามีการซื้อเสียง เพราะไอ้อีอะไรที่ไหนก็ไม่รู้เอาเงินไปโปรยหว่านเช่นนั้น

นี่เองที่ กกต.กลายเป็น “ไอ้เบื้อก” เพราะไม่รู้ว่าใครซื้อเสียงให้ใคร และยิ่งมีกระบวนการธุรกรรมใหม่ ๆ ถึงขั้นโอนเงินผ่านเกมไพ่ป๊อกให้ใครก็ได้ กกต.ก็ยิ่ง “งงเต้ก” ตอบว่าไม่เคยเล่นเกมแบบนั้น

อย่างไรก็ตาม ยังเป็นที่น่าดีใจว่าการซื้อเสียงแบบ “กระจายหว่าน” นี้กำลังมีจำนวนลดลง

ประการแรก เพราะหวังเป้าหรือผลลัพธ์ได้ยาก อีกทั้งคนที่จะลงทุนให้นักเลือกตั้งแบบก่อน ๆ ก็มีจำนวนลดลง เพราะนักลงทุนเหล่านั้นก็หวังผลตอบแทนที่จะได้รับได้ยากเช่นกัน จึงลดการลงทุนแบบสุ่มเสี่ยงนี้

ประการต่อมา การกอบโกยของนักการเมืองในรูปแบบเก่า ๆ ทำได้ยากขึ้น เพราะระบบการตรวจสอบสมัยใหม่ที่มากมายเป็นตาสับปะรด ทำให้ผลตอบแทนทางการเมืองมีปริมาณลดลงอย่างน่าใจหาย

ประการสุดท้าย ภูมิทัศน์ทางการเมืองสมัยใหม่ที่เน้น “ความสะอาด” กำลังเพิ่มมากขึ้น การทำการเมืองแบบ “ชั่ว ๆ” จึงลดลงเป็นลำดับ คนที่จะเอาชนะเลือกตั้งจึงต้องพยายามสร้าง “ภาพลักษณ์ที่สะอาด” นั้นด้วย

ตอนนี้เราจะเห็นป้ายโฆษณาของพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่เน้นการใช้เงินงบประมาณ นั่นอย่าคิดว่าเป็นความ “บริสุทธิ์ใจ” หรือคิดที่จะทำดีจริง ๆ นะครับ

นโยบายใช้เงินงบประมาณมาปรนเปรอประชาชนเหล่านั้นก็เป็นแค่ “การเลี่ยงบาลี” คือแทนที่จะใช้เงินสกปรกที่ได้มาจากการคอร์รัปชันโกงกิน ก็ใช้เงินดี ๆ จากงบประมาณนั้นซะเลย

แม้ว่าจะใช้เงินที่สะอาด แต่ด้วยจิตใจที่สกปรก การกระทำนั้นก็ยังสกปรกอยู่เสมอ