ยูร กมลเสรีรัตน์

มานพ ถนอมศรีจากไปเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2555 ที่จำได้แม่น เพราะผมบวชวันที่ 8 ธันวาคม 2555 กำลังท่องบทขานนาค พอได้ข่าวการเสียชีวิต ผมจึงไปรดน้ำศพในเย็นวันนั้น วันที่ 7 ผมรีบปั่นต้นฉบับคอลัมน์เขียนถึง “พี่มานพ”รวดเดียวเสร็จ ไม่มีการตรวจทาน เพราะไม่มีเวลา ต้องเตรียมตัวให้พร้อม ตอนเย็นต้องไปนอนค้างที่วัด

แม้ว่า “พี่มานพ”จากไปกว่า 10 ปีแล้ว ผมยังคิดถึงไม่เคยลืม เป็นพี่ในวงวรรณกรรมคนแรกที่ผมรู้จักและสนิทมาก คบกันมายาวนานเกือบ 30 ปี โทรคุยกันเป็นประจำ ไม่เหมือนบางคนรู้จักมา 20-30 ปี แต่นาน ๆ เจอกัน ยิ่งตอนผมลาออกจากราชการมาเลี้ยงพ่อแม่และเขียนหนังสือไปด้วย อยู่แต่กับบ้าน มันเบื่อ ก็โทรคุยกัน “พี่มานพ”เกือบทุกวัน ถ้าว่างก็นัดเจอกันบ้าง ไปเยี่ยมที่บ้านซอยลาดพร้าว 87 บ้าง

“ตอนนี้กำลังเขียนเรื่องอะไรอยู่”“พี่มานพ”ถามผมในงานวันนักเขียนที่อาคารสมาคมนักหนังสือพิมพ์ฯ  ซึ่งเจอกันเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2526

ผมตอบว่ากำลังเขียนวรรณกรรมเยาวชน “พี่มานพ”เอ่ยขึ้นว่า ดีแล้ว ตลาดกำลังต้องการ แต่อย่าให้ยาวมาก แล้วจะช่วยดูให้ ในเวลานั้น “พี่มานพ”ยังสูบบุหรี่ พ่นควันปุ๋ย รูปร่างก็เพรียวลมสุขภาพยังแข็งแรง กำลังมีชื่อเสียงในแวดวงวรรณกรรม นวนิยายอีโรติกเรื่อง “กินรีลุยฟลอร์” พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ต้นหมาก ในเครือดวงกมล สร้างความฮือฮามาก ยิ่งเมื่อไพลิน  รุ้งรัตน์ นักวิจารณ์ปากกาคมกล้า วิจารณ์ลงในสยามรัฐสัปดาวิจารณ์คอลัมน์ “วรรณกรรมพินิจ” เพราะเป็นนวนิยายที่เปิดเปลือยอาชีพขายบริการอันลือกระฉ่อนย่านพัฒน์พงษ์อย่างถึง ‘กึ๋น’

เมื่อเกือบ 40 ปีก่อน ครั้งที่ผมรู้จัก “พี่มานพ” ยังเป็นหัวหน้าหมวดวิชาศิลปศึกษาที่โรงเรียนหอวัง ตอนนั้นครูหนุ่มคนนี้กำลังเนื้อหอมมาก เพราะทำหนังสือวัยหวานในฐานะที่ปรึกษา เป็นคนออกแบบหน้าตาวัยหวานทั้งเล่ม  วัยหวานกำลังดังสุดขีด ทั้งวัยหวานเล่มใหญ่และเล่มเล็ก(วัยหวานมินิ) วัยรุ่นยุคนั้น ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดฮิตกันมาก ไม่มีใครไม่รู้จักวัยหวาน

ตอนนั้นผมยังไม่สนิทสกับ “พี่มานพ” เพราะเพิ่งรู้จักกัน ไม่ได้ขอเบอร์โทรศัพท์ สมัยนั้นมือถือยังไม่มี  วันหนึ่ง ไปเจอกันในงานมอบรางวัลของสำนักพิมพ์ต้นอ้อที่โรงแรมแห่งหนึ่ง จึงรู้ว่าลาออกจากราชการแล้ว  “พี่มานพ”เล่าให้ผมฟังในตอนหลังที่สนิทกันว่า           

“ตอนนั้นเงินเดือนพี่แค่เก้าพัน ดูแล้วไม่ไหว ไหนจะบ้าน ไหนจะลูกโตต่อไป ตัดสินใจลาออกดีกว่า ผู้อำนวยการฯ ขอร้องให้อยู่ต่อ ก็ไม่เอาแล้ว”

นักเขียนอยู่ในระบบราชการน่ะ มันเหมือนกินยาขม การลาออกไปเป็นบ.ก.หนังสือถึง 3 ฉบับ ๆ ละ 2 หมื่น เมื่อปี 2526 “พี่มานพ”มีรายได้ประจำถึงเดือนละ 6 หมื่น มันช่างน่าพิสมัย ยังไม่นับรายได้จากการเขียนหนังสือ อีกทั้งเป็นที่ปรึกษาและบรรณาธิการเล่มให้สำนักพิมพ์ต้นอ้อ จึงขอย้อนรอยชีวิตของนักเขียนผู้นี้สักเล็กน้อย...

มานพ   ถนอมศรี เกิดในย่านสลัมดินแดง ครอบครัวยากจน พ่อขับรถสามล้อเครื่อง เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ได้เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนเพาะช่าง แล้วไปเรียนต่อระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร ต้องอดข้าวเที่ยง มีพู่กันกับสี 3 หลอด เมื่อเรียนจบ สอบเข้าวิทยาลัยราชภัฏ ได้เป็นอาจารย์ที่วิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช  

ต่อมาจึงลาออก สอบเป็นครูโรงเรียนมัธยมสังกัดกรมสามัญศึกษาในกรุงเทพฯ ได้บรรจุเป็นครูที่โรงเรียนหอวังและได้เป็นหัวหน้าหมวดวิชาศิลปศึกษา ครั้งที่เรียนอยู่โรงเรียนเพาะช่าง ด้วยความรักในการอ่านและการเขียน เขาเขียนเรื่องสั้นเรื่องแรก“คนชั่ว”ลงในหนังสือช่อฟ้าของมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุ เมื่อปี 2512 เขาล่าให้ฟังว่า...

“ตอนนั้นตะลุยอ่านงานของใครต่อใครอย่างหนัก  เพราะไม่เคยรู้เรื่องมาก่อนเลยว่าเรื่องสั้นเป็นยังไง  เมื่อไม่รู้ เราก็ต้องศึกษา”

จากนั้นก็เขียนเรื่องสั้นเรื่อยมา ตีพิมพ์ในหนังสือต่าง ๆ มากมาย เรียกว่าหนังสือเกือบทุกฉบับจะต้องมีเรื่องสั้นของเขาตีพิมพ์ บางฉบับตีพิมพ์บ่อยครั้ง เรื่องสั้นที่สร้างชื่อเสียงให้เขาคือ “ลมหายใจดอกไม้” ได้รับรางวัลดีเด่นจากสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยฯ เมื่อปี 2521  

มานพ  ถนอมศรีมีความสามารถในการสร้างสรรค์งานได้หลายประเภท ผลงานของเขามี ทั้งเรื่องสั้น นวนิยาย วรรณกรรมเยาวชน สารคดี สำหรับเรื่องสั้นประมาณ 200  เรื่อง ผลงานรวมเล่มสิบกว่าเล่มได้แก่ ความหวังชิ้นสุดท้าย ฟ้าสีน้ำเงิน ฉันไอ้คนบัดซบ ทางสายรุ้ง  ตะวันลา ฯลฯ ผลงานเล่มสุดท้ายเมื่อปี 2546 คือ บางส่วนอันซ่อนเร้น นวนิยายได้แก่ กินรีลุยฟลอร์  ดาบสองมือ  จิ๊กกะโล่สลัม กระแสน้ำ เธค เพียงเม็ดทราย  นางฟ้าติดเบอร์  ดอกไม้ปลายรุ้ง บุหลันลอยเลื่อน เจ้าพระยา นางรัก ฯลฯ

วรรณกรรมเยาวชนที่เป็นนวนิยายเยาวชนได้แก่  เด็กชายทอง อบเชย บ่ฮัก บ่ต้องสงสาร ฟ้าหลังฝน ทางดอกกุหลาบ เพื่อนอันตราย ทางเปลี่ยว ฯลฯ ส่วนหนังสือสำหรับเด็กได้แก่ เจ้ากบปากกว้าง  แม่ช้างใจอารี  หมีน้อยเข้าเมือง หมีน้อยง่วงนอน  อึ่งอ่างมาสาย  งาดำกับงางอน ฯลฯ หนังสือสารคดีได้แก่ ท้าวทองกีบม้า  ราชินีขนมไทยและบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์อยุธยา  คน

ไทยสมัยก่อน เงาอดีต บุคคลของโลก ผู้หญิงของโลกศิลปะในหัวใจเด็ก ขุมทองแห่งการสร้างสรรค์ของลูก  ฯลฯ

มานพ ถนอมศรี ได้รับรางวัลในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติหลายรางวัลได้แก่ เจ้ากบปากกว้าง แม่ช้างใจอารีและหมีน้อยเข้าเมือง ได้รับรางวัลชมเชยประเภทหนังสือเด็ก รูปศิลาจีนสมัยรัตนโกสินทร์และคนเผาอิฐ ได้รับรางวัลชมเชยประเภทสารคดีและคู่มืองานกระดาษ ได้รับรางวัลดีเด่นประเภทสารคดี

นามปากกาที่ใช้ นอกจากมานพ ถนอมศรีที่ใช้เป็นหลักแล้ว ได้แก่ ราชาวดี งามสง่า เนตรดาว ฯลฯ แต่ชื่อของเขาจะเด่นในทางเรื่องสั้นมากกว่าประเภทอื่น ถ้าเอ่ยชื่อนักเขียนเรื่องสั้น จะต้องมีชื่อของเขาอยู่ระดับแถวหน้าในยุคก่อนที่มีนักเขียนคลื่นลูกเดียวกันได้แก่ ประภัสสร เสวิกุล ไมตรี  ลิมปิชาติ กรณ์ ไกรลาศ  มกุฎ  อรฤดี(นิพพานฯ)  นิเวศน์  กันไทยราษฎร์ เป็นอาทิ

“พี่มานพ”เป็นนักเขียนอาชีพที่ทำงานหนักมาก ทั้งเขียนหนังสือและทำหนังสือโดยเฉพาะช่วงแรกที่ลาออกจากราชการ เพื่อเป็นบ.ก.นิตยสาร 3 ฉบับ แบกภาระหนักมาก แต่มีรายได้ดีกว่าเขียนหนังสือ ได้เงินทองเป็นกอบเป็นกำ ช่วงหลังจึงปลดระวาง เป็นแค่ที่ปรึกษาสำนักพิมพ์

งานอีกอย่างหนึ่งที่คนในวงวรรณกรรมรู้กันน้อยมากก็คือ “พี่มานพ”เขียนบทละครโทรทัศน์ด้วย “พี่มานพ”บอกว่า ไม่อยากบอกใคร ๆ เลยว่าเขียนบทละครเพราะเป็นเรื่องโบราณ ไม่ใช่เรื่องสมัยปัจจุบัน แต่ผมว่าไม่ใช่ว่าใคร ๆ จะมีโอกาสอย่างนี้นะ “พี่มานพ”เปิดเผยถึงเรื่องค่าตอบแทนให้ฟัง แล้วเอ่ยขึ้นว่า...

“ถ้าพูดถึงเรื่องคุ้มน่ะไม่คุ้มหรอก กว่าจะเสร็จเรื่องหนึ่ง มันเหนื่อย ทั้งเขียนเรื่องเอง เขียนบทเอง ไม่สนุกหรอกยูร  แต่มันเป็นงาน ก็ต้องทำ”

“พี่มานพ”บอกย้ำกับผมว่า นักเขียนอาชีพต้องไม่ปฏิเสธงาน โดยไม่เสียศักดิ์ศรี ไม่เสียอุดมการณ์ ยังมีงานเขียนที่ตลาดต้องการเช่นสารคดี  บทความ งานค้นคว้า แต่บางคนปิดตัวเองว่าเป็นนักเขียนเรื่องสั้น ไม่เขียนอย่างอื่นเลย  โอกาสจะมีรายได้ก็น้อย  เราเป็นคนถือปากกา เราต้องเขียน หน้าที่ของนักเขียนอาชีพคือเขียน

ผมได้อ่านเรื่องสั้น “ลมหายใจดอกไม้”อยู่ในหนังสือรวมเรื่องสั้น “ความหวังชิ้นสุดท้าย”ที่ได้รางวัลดีเด่นจากสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยฯ รู้สึกสะเทือนใจมาก แต่ “พี่มานพ”บอกผมว่าไม่ชอบเรื่องสั้นเรื่องนี้ ตรงที่ไม่ลึกพอในด้านความคิดเหมือนงานในช่วงหลัง ๆ เช่นเรื่องสั้น “คืนดาวตก”ตีพิมพ์ในช่อการะเกด จำฉบับไม่ได้ ใช้เป็นชื่อรวมเรื่องสั้น “คืนดาวตก”ด้วย

ตอนที่ “พี่มานพ”ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาวรรณศิลป์(บันเทิงคดี) ผมไปแสดงความยินดีที่สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยจัดขึ้น  โดย

เชิญผู้ที่มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมในปีนั้นมาเสวนา 3 คือคือ ส.พลายน้อย กรุณา กุศลาสัย และ มานพ ถนอมศรี สมัยนั้นไม่ใช่ยุคโซเชียลฯ แม้มีผลงานของมานพ ถนอมศรีจะพิมพ์ออกมาโดยตลอดอย่างมากมาย ไม่เคยขาด แต่ช่วงหนึ่งผลงานส่วนใหญ่พิมพ์กับสำนักพิมพ์ต้นอ้อที่เขาเป็นที่ปรึกษาอยู่ ซึ่งไม่ได้วางตามแผงหนังสือ แต่จะขายเข้าห้องสมุดโรงเรียน ทำให้คิดว่าเขาไม่มีผลงานพิมพ์ออกมา

ภายหลังการผ่าตัดหัวใจครั้งที่ 2 คราวนี้เป็นการผ่าตัดเล็ก หมอบอกว่าต่อไปจะแข็งแรงกว่าผ่าตัดใหญ่ครั้งแรก จะขับรถได้ ทว่า “พี่มานพ”ก็จากไป เพราะติดเชื้อในกระแสเลือด ทั้งที่เพิ่งไปเยี่ยมที่โรงพยาบาลศิริราชไม่กี่วัน

ตอนผมอยู่ที่บ้านในกรุงเทพฯ เวลาผมเบื่อ เหงา ผมพร่ำบ่นถึง “พี่มาน”อยู่เป็นประจำ เป็นพี่คนเดียวที่สนิท คุยกันได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะสัพเพเหระ วรรณกรรมหรือความรู้ต่าง ๆ  แม้กระทั่งเรื่องลับและ“พี่มานพ”เป็นคนปิดความลับเก่งมาก ไม่เคยเล่าให้ให้ใครฟัง แม้แต่ภรรยา

“พี่มานพ”มีความสุขในบ้านหลังใหม่กว่า 10 ปีแล้ว  น้องคนนี้ยังคิดถึงเสมอ วันหนึ่ง ไม่ช้าก็เร็ว ก็ได้ไปอยู่บ้านหลังใหม่เช่นเดียวกัน
 

 

“คนขี้ขลาดตายหลายครั้ง ก่อนที่จะตายจริง คนกล้าหาญ ไม่เคยลิ้มรสความตายสักครั้ง ก่อนที่จะตายเพียงครั้งเดียว”(วิลเลียม เชคสเปียร์)