น่าสนใจการแข่งขันนำเสนอนโยบายให้ถูกใจพี่น้องประชาชน ของบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ทั้งช่วงชิงนโยบาย เกทับ ด้อยค่าและลอกนโยบายที่ล่าสุดมีการกล่าวหากันไปมา
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการแข่งขันอย่างดุเดือด มีบทความของ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) โดย สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ และนิพนธ์ พัวพงศกร ออกมากระตุกเตือนพรรคการเมือง มีเนื้อหาบางช่วงบางตอนที่เป็นข้อห่วงใยของ TDRI ดังนี้ “...ข้อห่วงใยที่สำคัญที่สุด คือ แม้นโยบายหลายอย่างที่พรรคการเมืองประกาศออกมาเป็นนโยบายที่มีจุดประสงค์ดีที่มุ่งแก้ไขความเดือดร้อน และปัญหาของประชาชนกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางก็ตาม แต่ก็ยังมีหลายนโยบายที่น่าจะสร้างปัญหาให้แก่ประเทศในระยะยาว ด้วยเหตุผลหลายประการ คือ หนึ่ง สร้างภาระทางการคลังจากการใช้งบประมาณมากเกินตัว สอง มีแนวโน้มว่าจะใช้เงินนอกงบประมาณผ่านรัฐวิสาหกิจต่างๆ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ซึ่งทำให้การใช้เงินดังกล่าวไม่ผ่านกระบวนการงบประมาณและทำให้รัฐสภาในฐานะผู้แทนของประชาชนไม่สามารถตรวจสอบได้ หรือสาม สร้างบรรทัดฐานหรือวัฒนธรรมซึ่งทำลายวินัยของประชาชนในการชำระเงินกู้ เช่น นโยบายที่จะยกเว้นหรือลดหนี้เงินกู้ต่างๆ โดยไม่สมเหตุผล หรือลดบทบาทของเครดิตบูโร
ทีมวิจัยประมาณการพบว่ามีอย่างน้อย 2 พรรคการเมืองที่น่าจะต้องใช้เงินงบประมาณเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอีกกว่า 2 ล้านล้านบาทต่อปี เพื่อดำเนินนโยบายที่ประกาศไว้ และหากรวมต้นทุนด้านการคลังของนโยบายของทั้ง 9 พรรคการเมือง (โดยไม่นับนโยบายที่ซ้ำกัน) ก็จะต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นทั้งหมด 3.14 ล้านล้านบาทต่อปี (ตารางที่ 2) หรือเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากงบประมาณรายจ่ายสำหรับปี 2566 ทั้งนี้ยังไม่ได้รวมนโยบายของบางพรรคการเมืองที่มีข่าวว่าจะทยอยประกาศออกมา "เกทับ" นโยบายของพรรคการเมืองอื่นที่ประกาศมาก่อน เช่น นโยบายลดราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลขนานใหญ่
ข้อสังเกตคือ พรรคการเมืองส่วนใหญ่ที่ประกาศนโยบายต่างๆ ออกมายังไม่ได้ระบุว่าจะหางบประมาณมาจากแหล่งใด เช่น จะมีการเก็บภาษีใดเพิ่มขึ้นหรือจะตัดลดงบประมาณที่มีอยู่ในปัจจุบันในด้านใดลง ...”
จริงๆแล้ว ข้อห่วงใยของ TDRI ยังมีข้อสังเกตและข้อห่วงใยที่น่าติดตามอีกกลายประการ ซึ่งสามารถหารายละเอียดอ่านได้ตามลิงค์นี้ https://siamrath.co.th/n/427309
อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไปในอดีต TDRI ได้เคยออกมาท้วงติงนโยบายหาเสียงของบรรดาพรรคการเมือง รวมทั้งนโยบายของรัฐบาล แต่ดูเหมือนจะไม่เป็นผล ด้วยพรรคการเมือง หรือรัฐบาลหวั่นกระทบกับคแนนนิยม หากไม่สามารถดำเนินการตามที่ประกาศเอาไว้ได้ โดยไม่ได้คำนึงผลกระทบที่จะตามมา
ดังนั้น ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่สังคมจะเรียกร้องให้ทุกพรรคการเมือง เสนอนโยบายใช้เงิน มาพร้อมกับการหาเงินมาใช้จ่ายในนโยบายด้วยว่าจะนำมาจากแหล่งใด ที่ไม่ตกหนักหรือเป็นภาระกับประชาชนในอนาคตหรือรุ่นลูกรุ่นหลาน