รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์

ประธานที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

การเมืองไทยกลับมาคึกคักรัว ๆ อีกครั้งหลังนายกฯประยุทธ์ ประกาศไทม์ไลน์ของการเลือกตั้ง ซึ่งบรรดาเซียนการเมือง ต่างคาดว่าจะมีการประกาศยุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้งในช่วงวันที่ 7-15 มี.ค. และจัดให้มีการเลือกตั้งครั้งใหม่ได้ในวันที่ 7 พ.ค.ที่จะถึงนี้

แค่จังหวะการยุบสภา!!!  ก็กลายเป็นฉากแรกของเกมชิงอำนาจทางการเมืองไทย...ที่ถูกมองว่าคือ “ไพ่ใบสุดท้าย” ก่อนครบอายุสภาฯ เพื่อเปิดโอกาสให้ดูด “ผู้สมัคร” เข้าสู่พรรคตัวเองเป็นครั้งสุดท้าย แล้วกว่าจะถึงวันเลือกตั้งจริง ๆ เกมการเมือง การเลือกตั้งทั่วไป ปี 2566 นี้ จะร้อนฉ่าทะลุองศาร้อนขนาดไหนคงต้องจับตาดูกันอย่างไม่วางตา แต่ละพรรคการเมืองล้วนมีกลเม็ดของตัวเองออกมาหวังชิงชัยและชิงใจ “ดูดพลังเสียง” ประชาชน

หลากหลายวิธีทางการเมืองบนเกมการเลือกตั้งทั่วไป คนไทยที่เคยใช้สิทธิเลือกตั้งต่างเคยสัมผัสทั้งโดยตรงและ โดยอ้อม และแล้วก็วนกลับมาฉาย(ซ้ำ)ใหม่บนถนนการเมืองไทย ณ วันนี้ อาทิ

การซื้อเสียง เป็นการแจกเงิน ของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวัน หรือให้ผลประโยชน์ตอบแทนต่าง ๆ เพื่อให้ลงคะแนนหรือ งดเว้นการลงคะแนนแก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใดหรือพรรคการเมืองใดในเขตเลือกตั้งนั้น รูปแบบหรือลักษณะการซื้อเสียงจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่หรือท้องถิ่น ในคืนสุดท้ายก่อนวันเลือกตั้งจริงหรือคืนหมาหอนการซื้อเสียงจะหนักมากเป็นพิเศษ เพราะนอกจากจะเป็นการซื้อเสียงครั้งสุดท้ายแล้วยังเป็นการวัดดวงหรือทิ้งทวนครั้งสุดท้ายด้วย 

การซื้อตัว ทุกวันนี้การซื้อตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือซื้อตัวคู่แข่งเพื่อไม่ให้ลงสมัครแข่งขันด้วยก็เป็นเกมการเมืองหวังชนะเลือกตั้งที่พบเห็นอยู่ดาษดื่น นอกจากนี้ยังรวมถึงการซื้อบุคคลที่มีอิทธิพลหรือมีความนิยมในหมู่ชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นครู กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พระ หรือผู้นำชุมชนเพื่อให้เป็นหัวคะแนนช่วยสนับสนุนการเลือกตั้งในฝ่ายของตน

การจัดฉาก เป็นการสร้างสถานการณ์ เหตุการณ์ หรือเรื่องราวให้ดูเสมือนจริงของนักการเมืองหรือผู้เกี่ยวข้องทางการเมือง เพื่อหวัง “แหกตา” ประชาชนให้หลงเชื่อคิดว่าจริงเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง โดยทั่วไปนั้นการจัดฉากส่วนใหญ่มักจะเป็นสิ่งที่ไม่จริงหรือปลอม และเป็นเพียงแค่การแสดงซึ่งจะไม่มีเหตุการณ์ต่อเนื่องตามมาหลังการแสดงสิ้นสุด

การสาดโคลน คือการมุ่งทำลายชื่อเสียงด้วยการให้ข้อมูลที่ผิด ๆ ใส่ร้ายป้ายสีหรือป้ายความผิดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งฝ่ายตรงข้ามได้รับความเสียหาย ยิ่งใกล้วันเลือกตั้งมากขึ้นเท่าไหร่ จะเห็นพรรคการเมืองแต่ละพรรคต่างก็ออกมาสาดโคลนกันไปมาอย่างเผ็ดร้อนหวังฉุดให้คะแนนนิยมฝ่ายตรงข้ามตกลง เช่น พาดหัวข่าวนสพ.เดลินิวส์ “ศึกสาดโคลนใกล้เลือกตั้ง น่าเบื่อก็ได้เอาสนุกก็ได้พอใกล้เลือกตั้งมันก็มีศึกสาดโคลนแบบนี้ บางเรื่องก็ตลกโปกฮาเป็นสีสันดี มุมน่าสนใจก็มีว่าแต่ละพรรคทำอะไรมา เสนอโครงการอะไร เพื่อเป็นข้อมูลให้คนพื้นที่ตัดสินใจ (ที่มา - https://www.dailynews.co.th/articles/1416145/)

ระบบหัวคะแนน หัวคะแนนเป็นบุคคลที่ช่วยหาเสียงให้กับผู้สมัครรับเลือกตั้ง จะคอยชักจูงผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปให้เลือกผู้สมัครที่เขาสนับสนุนจนได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง หัวคะแนนเป็นกลไกที่สําคัญในกระบวนการหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้ง เปรียบเสมือนแขนขาที่สําคัญในการประสานงาน ติดต่อ เร่งเร้า และกระตุ้นให้ประชาชนเห็นความสําคัญของผู้สมัครที่เขาสนับสนุน

หัวคะแนนจะได้รับผลประโยชน์เป็นการตอบแทนจากผู้สมัครรับเลือกตั้งต่างกับ “ผู้สนับสนุน” ที่คอยช่วยผู้สมัครหาเสียโดยไม่หวังผลตอบแทนเป็นตัวเงินหรือสินจ้างรางวัล แต่ทั้ง “ผู้สนับสนุน” หรือ “หัวคะแนน” ต่างก็สำคัญไม่น้อยกว่ากัน เพราะเป็นผู้ที่สามารถหาและเพิ่มคะแนนเสียงให้กับผู้สมัครรับเลือกตั้งได้

การโฆษณาชวนเชื่อ การเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จเกี่ยวกับผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือปัญหาต่าง ๆ ผ่านการการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อโน้มน้าวความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งกระทำผ่านโซเชียลมีเดีย การโฆษณา การประชาสัมพันธ์ หรือรูปแบบการสื่อสารอื่น ๆ โดยอาศัยหลักการตลาดและการประชาสัมพันธ์โน้มน้าวใจคนและระดมมวลชนโดยอาศัยหลักจิตวิทยามวลชน

นอกจากวิธีทางการเมืองบนเกมการเลือกตั้งทั่วไปที่กล่าวแล้ว ยังมีรูปแบบอื่น ๆ อีกที่นักการเมืองเอามาใช้เพื่อโกยคะแนนเสียงเลือกตั้ง เช่น การข่มขู่และการใช้ความรุนแรง การฉ้อโกงการเลือกตั้ง การกีดกันตัดสิทธิ์คนบางกลุ่ม เป็นต้น หรือไม่เว้นแม้แต่การใช้ผลโพลเพื่อประโยชน์ของตนเองและพรรคที่สังกัด โดยพยายามเกาะแสโพลทุกสำนักถ้าหากฝ่ายตนได้เปรียบ แต่ถ้าเป็นฝ่ายเสียเปรียบก็จะไม่เอ่ยถึงแต่อย่างใด

การเมืองไทยตั้งแต่ปี 2475 ถึง ปี 2566 กินเวลารวมแล้วถึง 91 ปี แต่ถนนประชาธิปไตยของไทยก็ยังไม่ “สตรอง” การเลือกตั้งยังถูกมองว่าเป็นพิธีกรรมทางการเมือง ถนนสายการเมืองเต็มไปด้วย ‘นักเลือกตั้ง’ หรือผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ไร้อุดมการณ์ ไร้จุดยืนด้อยจริยธรรรมและคุณธรรม แต่พยายามสร้างภาพว่าตนเองมีฐานะเป็นตัวแทนของประชาชน

การเลือกตั้งทั่วไปในปี 2566 ครั้งที่ 27 ของประเทศ ผู้อ่านทุกท่านก็คงต้องติดตามกันต่อไปกับการเมืองเกมอำนาจที่ไม่เข้าใครออกใคร ไร้ซึ่งมิตร และศัตรูที่ถาวร !!!