ทวี สุรฤทธิกุล

เลือกตั้งสมัยนี้แม้มีเงินก็ใช้ยาก ยิ่งมีมากความยุ่งยากยิ่งมากมายพันทวี

ก่อน พ.ศ. 2540 การใช้เงินซื้อเสียงไม่มีความยุ่งยาก บางทีก็เดินแจกกันตามบ้านร้านตลาดอย่างโจ๋งครึ่ม อีกทั้งเจ้าหน้าที่ก็เกรงใจผู้มาแจก เพราะรู้ว่าเจ้าของเงินถ้าไม่มี “บารมี” คับฟ้าจริง ๆ ก็ไม่ใครกล้ารับจ้างกล้าที่จะมาเดินแจกเงินเป็นจำนวนมาก ๆ แก่คนมาก ๆ อย่างนั้น

พอมี กกต. และกฎหมายเลือกตั้งใหม่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 ที่ว่าเขียนขึ้นเพื่อปฏิรูปการเมืองและล้มระบบธนาธิปไตย ก็ยังมีคนกล้าลองของ ถึงขั้นเอาแบงก์ร้อยกับแบงก์ยี่สิบมาเย็บติดกับบัตรแนะนำตัวผู้สมัคร โดยลือกันว่าเจ้าของเงินนั้นริมฝีปากจะห้อย ๆ เลยเรียกเงินนั้นว่า “ยี้ห้อยร้อยยี่สิบ” แต่พอจับได้ ดำเนินคดีจนมีแพะมารับบาปแทนไป พวกนักเลือกตั้งก็เที่ยวหาวิธีซื้อเสียงกันแบบใหม่ ๆ

หัวคะแนนของผู้สมัครบางคน เที่ยวไปถามตามบ้านต่าง ๆ ว่าเลี้ยงเป็ดกี่ตัว ไก่กี่ตัว อันหมายถึงคนที่อยู่ในบ้านว่ามีสิทธิเลือกตั้งกันกี่คน ก็จะจ่ายเงินตามจำนวนเป็ดไก่นั้นตัวละแพง ๆ ปกติเป็ดไก่เป็นในตลาดอาจจะขายกันแค่ตัวละร้อยสองร้อยบาท แต่ที่หัวคะแนนมารับซื้อนี้จ่ายกันตัวละ 500 ถึง 1,000 บาท

บางทีบ้านนั้นไม่ได้เลี้ยงเป็ดหรือไก่ แต่ก็ได้รับเงิน เพียงแค่ไปหย่อนบัตรให้เบอร์โน้นเบอร์นี้ก็พอ

ความจริงเงินไม่ได้มีอิทธิพลมากมาย ลำพังแค่แจกเงินแต่ถ้าคนแจกไม่มีบารมี เงินนั้นก็ได้ผลน้อย

มูลเหตุจริง ๆ ที่ทำให้คนไปเลือกตั้งคือ “ความเกรงใจ” ไปจนถึง “ความเกรงกลัว”

ผู้เขียนเคยทำวิจัยเรื่องการเลือกตั้งมาหลายครั้งในช่วง พ.ศ.2535 – 2544 อันอยู่ในยุครอยต่อของการเลือกตั้งในสมัยธนาธิปไตย ต่อเนื่องกับสมัยปฏิรูปการเมือง เคยคุยกับหัวคะแนนตัวเป็นๆจำนวนหนึ่งในหลาย ๆ พื้นที่ บางคนบอกว่าไม่ได้ตั้งใจเป็นหัวคะแนน แต่ถูกบังคับหรือ “ขอร้อง” ให้เป็นก็มี

บางคนเป็นครู บางคนเป็นผู้ใหญ่บ้าน แม้กระทั่งหลวงพี่หลวงตา ก็ถูกขอร้องให้มาเป็นหัวคะแนน ส่วนใหญ่ต้องรับปากว่าจะช่วยหาเสียง รวมถึงช่วยแจกเงินให้ เพราะไม่อยากขัดใจคนที่มาขอร้องนั้น

ก็ทุกคนเห็นหน้ากันอยู่ทุกๆ วัน คะแนนเลือกตั้งออกมาเป็นเท่าไหร่ ใครเลือกใครก็พอรู้ ๆ กัน ถ้าไม่เป็นไปตามที่รับปากหรือขอร้อง ก็ยากที่จะมามองหน้ากัน หรือพูดคุยกันด้วยดีเหมือนเคย หลายคนจึงต้องเลยตามเลย ยอมตัวเป็นหัวคะแนนให้โดยดี

ต่อมาในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2548 ระบบหัวคะแนนได้ “พลิกโฉม” ไปอีกแบบหนึ่ง คือเกิดระบบ “หัวคะแนนอาชีพ” ขึ้นมาทั่วประเทศ แบบว่าไหน ๆ ก็ต้องถูกบังคับให้ช่วยหาเสียงและช่วยซื้อเสียงแล้ว ก็ร่วมมือกับผู้สมัครและร่วมทำเป็นธุรกิจเสียเลย

หัวคะแนนเหล่านั้นจะมี “บัญชีรายชื่อ” ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นจำนวนมากน้อยต่าง ๆ กัน บางคนมีเอกสารเป็นสำเนาบัตรประชาชนหรือทะเบียนบ้านของผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้นพร้อมสรรพ ดังที่มีข่าวว่าในหลาย ๆ พื้นที่มีการกว้านซื้อบัตรประชาชนก็เพราะเหตุนี้ เพื่อเอาไปประกอบการเบิกจ่ายเงินจากผู้สมัคร แต่ที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือเพื่อข่มขู่ผู้เลือกตั้งว่า “อย่าเบี้ยวนะ” เพราะมีบัตรประชาชนที่ให้มาอยู่ในมือ

ระบบนี้เรียกว่า “การรับเงินภาคบังคับ” คือบังคับให้ไปเลือกตั้ง และบังคับให้ซื่อสัตย์ต่อผู้สมัคร

ที่บอกว่าการนับคะแนนแบบเอาบัตรมารวมกันที่ส่วนกลาง เช่น ที่อำเภอ จะทำให้ไม่รู้ว่าใครในหน่วยไหนเลือกใคร แล้วผู้เลือกก็จะได้ไม่เกรงกลัวผู้สมัคร หรือตามตรงนั้นก็คือหัวคะแนนของผู้สมัคร ก็ไม่เป็นความจริง

ผู้เลือกตั้งต้องมีความซื่อสัตย์หย่อนบัตรตามเบอร์ที่เขามาขอร้อง เพราะถ้าผลการเลือกตั้งไม่ออกมาตามนั้น ผู้ที่ไปหย่อนบัตรนั้นก็ “อยู่ยาก” จนถึงขั้น “อยู่ร่วมโลกกันไม่ได้”

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่การเลือกตั้งใน พ.ศ. 2550 ระบบการเลือกตั้งแบบ “ต้องเลือกโดยไม่มีทางเลือก” นี้กลับยิ่งพัฒนาไปมากขึ้น

นั่นก็คือการเข้ามาเสริมแรงของเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ ทั้งโซเชียลมีเดียไปจนถึงระบบธุรกรรมทางด้านการเงิน

นักเลือกตั้งได้ใช้โซเชียลมีเดียสร้างกลุ่มคนที่ “จงรักภักดี” กับผู้สมัครหรือพรรคของผู้สมัครได้อย่างแนบแน่น โดยเฉพาะในหมู่พวก “นิวโหวตเตอร์” หรือคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งมีสิทธิลงคะแนนเสียงเป็นครั้งแรก ๆ ด้วยการหล่อหลอมอุดมการณ์บางอย่าง ที่มีอานุภาพไม่น้อยกว่าการซื้อเสียงด้วยเงินระบบเก่า

พูดตามตรง คนรุ่นใหม่ใช้เงินซื้อยาก เพราะต้องซื้อด้วย “เป้าหมาย” ทางสังคมบางอย่างเท่านั้น

ทว่าคนรุ่นใหม่ก็ยังไม่ใช่กลุ่มคนที่เป็นเสียงข้างมาก เมื่อเทียบกับคนที่มีอายุเกินกว่า 30 ปี พวกนิวโหวตเตอร์ที่มีอายุน้อยลงมานี้ ก็มีแค่สิบกว่าเปอร์เซ็นต์ ดังนั้นการใช้เงินกับคนรุ่นเก่าก็ยังมีบทบาทสำคัญอยู่ต่อไป โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่เลือกตั้งที่มีการใช้การเลือกตั้งในระบบนั้นมาอย่างยาวนาน

เพราะคนไทยยังเป็นคนที่ขี้เกรงใจมาก ๆ รวมถึงที่ไม่อยากมีเรื่องกับใคร อย่างที่พูดกันว่า “รักสงบจบที่ลุง” เอ๊ย “รักสงบต้องคบกับทุกคน”

สัปดาห์หน้าจะมาดูว่า การเลือกตั้งครั้งที่จะมาถึง ผู้เลือกตั้งจะใช้ระบบ “บังคับเลือก” กับผู้เลือกตั้งในรูปแบบใด โดยเฉพาะการที่มีการสร้างประเด็นว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายอนุรักษนิยมกับฝ่ายประชาธิปไตย

ที่ถ้าใครเรียนรัฐศาสตร์มา ก็ต้องร้องว่า “นี่มันเฟคทั้งคู่”