วันที่ 6 มีนาคมเป็นวันมาฆบูชา ที่พุทธศาสนิกชนทราบดีว่ามีเป็นวันที่มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นพร้อมกันเป็นที่อัศจรรย์ 4 ประการ หรือที่เรียกว่า “จาตุรงคสันนิบาต” คือ
หนึ่ง มีการชุมนมกันของพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า จำนวน 1,250 รูป โดยไม่ได้นัดหมาย ซึ่งเป็นพระสงฆ์ที่พระพุทธองค์ส่งไปเผยแผ่พระพุทธศาสนายังแว่นแคว้นต่างๆ ได้กลับมาเฝ้าโดยพร้อมเพรียงกัน
สอง พระสงฆ์ทั้งหมดล้วนเป็นเอหิภิกขุที่พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ด้วยพระองค์เองทั้งสิ้น ซึ่งเรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา
สาม พระสงฆ์ทั้งหมดล้วนเป็นพระอรหันต์ คือผู้ได้อภิญญา 6 ข้อ
และสี่ วันที่พระสงฆ์ทั้งหมดมาชุมนุมนี้ตรงกับวันเพ็ญ 15 ค่ำ เดือน 3 หรือเดือนมาฆะ
สำหรับประเทศไทยเริ่มกำหนดพิธีปฏิบัติในวันมาฆบูชาเป็นครั้งแรก ในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งมีการประกอบพิธีในปี พ.ศ. 2394 ในพระบรมมหาราชวังก่อน โดยมีพิธีพระราชกุศลในเวลาเช้า นมัสการพระสงฆ์จากวัดบวรนิเวศราชวรวิหารและวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร จำนวน 30 รูป ฉันภัตตาหารในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
เมื่อถึงเวลาค่ำ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ทรงจุดธูปเทียนนมัสการ พระสงฆ์ทำวัตรเย็นและสวดคาถาโอวาทปาติโมกข์ เมื่อสวดจบทรงจุดเทียน 1,250 เล่ม รอบพระอุโบสถ มีการประโคมอีกครั้งหนึ่งแล้วจึงมีการเทศนาโอวาทปาติโมกข์ 1 กัณฑ์ เป็นทั้งเทศนาภาษาบาลี และภาษาไทย ส่วนเครื่องกัณฑ์ประกอบด้วยจีวรเนื้อดี 1 ผืน เงิน 3 ตำลึง และขนมต่าง ๆ เมื่อเทศนาจบ พระสงฆ์ 30 รูป สวดรับในสมัยรัชกาลที่ 4 นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จออกประกอบพิธีด้วยพระองค์เองทุกปี แต่มีการยกเว้นบ้าง ต่อเนื่องมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เนื่องจากบางครั้งวันมาฆบูชาตรงกับช่วงเสด็จประพาส จะทรงประกอบพิธีมาฆบูชาในสถานที่นั้น ๆ ขึ้นอีกแห่ง นอกเหนือจากภายในพระบรมมหาราชวังต่อมาการประกอบพิธีมาฆบูชาได้แพร่หลายออกไปภายนอกพระบรมมหาราชวัง และประกอบพิธีกันทั่วราชอาณาจักร ทางรัฐบาลจึงประกาศให้เป็นวันหยุดทางราชการด้วย เพื่อให้ประชาชนจากทุกสาขาอาชีพได้ไปวัด เพื่อทำบุญกุศลและประกอบกิจกรรมทางศาสนา
นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2549 รัฐบาลไทยประกาศให้วันมาฆบูชา เป็นวันกตัญญูแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมให้คนไทยยึดความกตัญญู ทั้งต่อสถาบันครอบครัว สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์