ในลิ้นชักความทรงจำ / ยูร  กมลเสรีรัตน์

ยูจิโร อิวากิ(Yujiro Iwaki) เป็นชาวญี่ปุ่นที่แปลวรรณกรรมไทย ทั้งเรื่องสั้นและนวนิยาย รวมทั้งเพลงไทย เพราะเขามีความรักในภาษาไทยและสนใจวรรณกรรมไทย เขาสนใจภาษาไทยตั้งแต่เรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยTokyo University of Foreign Studies แผนกภาษาไทย เมื่อเรียนจบไปเป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนเตรียมอุดมของเทศบาลเมืองโตเกียวเป็นเวลา 10 ปี

เขาเดินทางมาเมืองไทยเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2507 ด้วยความประทับใจที่มีต่อเมืองไทยและคนไทย ยูจิโร อิวากิเดินทางมาเมืองไทยไทยครั้งที่ 2 เมื่อปี 2513 เข้าทำงานที่กรมวิเทศสหการ กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญภาษาญี่ปุ่นเป็นเวลา 3  ปี นอกจากนี้ยังสอนพิเศษภาษาญี่ปุ่นที่โรงเรียนบพิตรภิมุขและที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนกระทั่งปี 2516 เขาได้เป็นอาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นเวลา 4 ปี โดยกินเงินเดือนของรัฐบาลญี่ปุ่น  

“เมื่อมนุษย์มีวัฒนธรรม ก็ต้องมีวรรณคดี ผมจึงหาซื้อหนังสือตามร้านหนังสือ เริ่มศึกษาวรรณกรรมไทยอย่างจริงจัง เพื่อจะหาความรู้เกี่ยวกับเมืองไทย ถ้าไม่มีความรู้เกี่ยวกับเมืองไทย ก็แปลไม่ได้ แล้วไปหานักเขียนด้วยตัวเอง”เขาบอกเล่าให้ผมฟังด้วยใบหน้ายิ้มแย้มที่โรงแรมศรีกรุง ย่านหัวลำโพง

เวลา 7 ปีที่ยูจิโร อิวากิอยู่เมืองไทย เขาศึกษาวรรณกรรมไทยอย่างจริงจัง  แล้วไปทำความรู้จักนักเขียน เพื่อสนทนาและแลกเปลี่ยนด้านวรรณกรรมได้แก่ เสนีย์  เสาวพงศ์  ลาว คำหอม  สุชาติ  สวัสดิ์ศรี  วิทยากร  เชียงกูล เป็นอาทิ เขาเทียวไปหานักเขียนแต่ละคนครั้งแรกครั้งเล่า จนมิตรภาพน้ำหมึกงอกงาม สำหรับสุชาติ สวัสดิ์ศรีนั้นรู้จักกันมาก่อนครั้งเกิดเหตุการณ์เดือนตุลา

หลังจากยูจิโร อิวากิเดินทางกลับญี่ปุ่นเมื่อปี 2521 เขาได้สอนวิชาวรรณกรรมไทยที่มหาวิทยาลัยโตเกียว แผนกภาษาไทยที่เขาเคยเรียนและเป็นอาจารย์พิเศษอีก 3 แห่ง ในเวลาต่อมา เขาได้ขอลาออก เพราะเป็นคนรักอิสระและจะได้มีเวลาแปลวรรณกรรมไทยอย่างเต็มที่ ถึงกับละทิ้งงานที่ทำทุกอย่างเพื่อจะได้ทุ่มเทให้กับงานแปล

“ผมงดเขียนหนังสือยี่สิบปี เพราะอยากเผยแพร่วรรณกรรมไทย ผมสนใจแปลวรรณกรรมไทย เพราะไม่มีใครตั้งใจแปล แปลออกมาก็ไม่ดี”

ยูจิโร อิวากิ เคยเขียนเรื่องสั้น 5-6 ตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาและเขียนบทกวีด้วย แต่ก็ต้องหยุดเขียนเพื่ออุทิศตัวให้กับการแปลวรรณกรรมไทยดังที่กล่าวข้างต้น เขามีผลงานกวีรวมเล่มแปลเป็นภาษาไทยชื่อว่า เธอชื่อวรรณกรรมไทยและฉันคือไทยแลนด์ ส่วนนวนิยายมี 3  เรื่องคือ “ผมก็ไปสยาม” เป็นนวนิยายยั่วล้อประเทศไทยในสายตานักเขียนญี่ปุ่น พิมพ์ซ้ำ 2 ครั้งโดยสำนักพิมพ์ดวงกมล สุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็นบรรณาธิการ แปลเป็นภาษาไทยโดยละอองดาวและเรื่อง ยามาด้า(ออกญาเสนาภิมุข) นวนิยายเรื่องที่ 3 คือ เมนามึ  โนะ ซังเงะสึ(Menamu no zangetsu) ตีพิมพ์เในหนังสือบางกอกชูโฮ เป็นหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ที่พิมพ์เผยแพร่ในไทย นวนิยายเรื่องนี้ มีความยาว 135 ตอน แปลเป็นไทยว่า พระจันทร์ตกน้ำหรือเงาจันทร์ในน้ำ 

“คุณสุชาติ(สวัสดิ์ศรี) ตั้งชื่อเป็นไทยให้ว่า “คู่เวร” จะได้คู่กับ “คู่กรรม”ของทมยันตี”เขาเล่าให้ฟังระคนหัวเราะชอบใจ

เขาเล่าถึงนวนิยายเรื่องนี้ว่า เป็นความรักของทหารญี่ปุ่นกับสาวไทยในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นเรื่องราวของความรักและมีหลายรสชาติ มีสุข ทุกข์ โรมานซ์และประวัติศาสตร์แบบเดียวกับเรื่อง “คู่กรรม”ก็จริง แต่รายละเอียดไม่เหมือนกัน ที่สำคัญ มีฉากในประเทศญี่ปุ่นด้วย  จุดมุ่งหมายคือต้องการสะท้อนชีวิตหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นรุ่นลูก ส่วนผลงานที่ไม่ใช่วรรณกรรมก็คือ วัฒนธรรมเปรียบเทียบไทยกับญี่ปุ่น พิมพ์ซ้ำ 4 ครั้ง เรียนพูดภาษาญี่ปุ่นภายใน 48 ชั่วโมง พิมพ์ซ้ำ 13ครั้ง พูดญี่ปุ่นคล่องไวได้ถูกต้อง พิมพ้ำ 4 ครั้งและสารานุกรมวรรณกรรมทั่วโลก

สำหรับงานแปลวรรณกรรมไทย เป็น“โครงการรู้จักเพื่อนบ้าน”ของมูลนิธิโตโยต้า ก็คือรวมเรื่องสั้นมี 2 เล่ม โดยมีสุชาติ  สวัสดิ์ศรี รับหน้าที่บรรณาธิการ มีเรื่องสั้นประมาณ 50 เรื่อง ได้แก่ เทพเจ้าของ สุวัฒน์ วรดิลก รถไฟเด็กเล่นของ  สุชาติ  สวัสดิ์ศรี เหมือนอย่างไม่เคยของ วิทยากร  เชียงกูล คนดายหญ้าของศรีดาวเรือง เป็นอาทิและรวมเรื่องสั้น “ฟ้าบ่กั้น” ของ ลาว  คำหอม  ยูจิโร อิวากิเป็นคนแรกที่แปลเรื่องสั้นของศรีดาวเรืองเป็นภาษาญี่ปุ่นหลายเรื่องด้วยกันเช่น ชายผ้าเหลือง พ่อ คนดายหญ้า แม่สาลู ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ลูกชายคนสุดท้อง ลูกฉันยังไม่กลับจากในเมือง ฯลฯ

 นวนิยายที่แปลคือเรื่อง “ปีศาจ” ของ เสนีย์  เสาวพงศ์ ซึ่งแปลเป็นเรื่องแรก  “เขาชื่อกานต์” ของสุวรรณี  สุคนธา “สี่แผ่นดิน”ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์  ปราโมช  ส่วนบทกวีแปลออกมาจำนวน 100 ชิ้นของกวี 22 คน ได้แก่บทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์  นายผี  อุชเชนี  อังคาร  กัลยาณพงศ์ เนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์ เป็นอาทิ และแปล พระเวสสันดรชาดกฉบับย่อและนิทานพื้นบ้านไทยจำนวน 20 เรื่อง นอกจากนึ้ยูจิโร อิวากิยังได้เขียนบทความเกี่ยวกับประวัติวรรณกรรมไทยและวัฒนธรรมไทยใน

แง่มุมต่าง ๆ ลงในหนังสือหลายฉบับของญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม วรรณกรรมไทยที่แปลในช่วงแรกไม่ประสบความสำเร็จในการขาย ดังที่เขาบอกเล่า...

“ส่วนใหญ่ขายไม่ดีอย่างเรื่อง ปีศาจ แปลปี 2524 พิมพ์ 2 พันเล่ม ขายไม่ดี คิดว่าเป็นเพราะสมัยก่อนคนญี่ปุ่นยังไม่รู้จักเมืองไทย อีกหลายปีแปล เขาชื่อกานต์ ถึงขายได้และขายดี พิมพ์ซ้ำ 4

ครั้ง  สี่แผ่นดิน พิมพ์ 2 ครั้ง จดหมายจากเมืองไทย พิมพ์ 3 ครั้ง ฟ้าบ่กั้นพิมพ์ 2 ครั้ง ส่วนเรื่อง เวลา  ไม่ได้ขาย บริษัทไดโดเซเม(The Dido Life Foundation) เป็นบริษัทประกันชีวิต เขาพิมพ์แจกมหาวิทยาลัยทุกแห่งและให้ห้องสมุดสำคัญในญี่ปุ่น”

นอกจากงานวรรณกรรมแล้ว การที่ยูจิโร อิวากิมีความรักในภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยมาก เขาได้แปลเพลงไทยในฐานะที่บทเพลงก็คือบทกวี เพื่อให้คนญี่ปุ่นได้เข้าใจในเนื้อหาและวัฒนธรรมไทย เพลงที่แปลก็คือ เพลงชาติ   รักคุณเข้าแล้ว เหล้าจ๋าและ ลอยกระทง จากผลงานแปลของเขาที่เผยแพร่ให้คนญี่ปุ่นได้รู้จักเมืองไทยและวัฒนธรรมไทย อันเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ  มูลนิธิเสถียรโกเศศ-นาคะประทีปได้มอบรางวัลให้กับเขา ในฐานะทูตทางวัฒนธรรม ผู้เผยแพร่ภาษาและวรรณกรรมไทย เมื่อปี 2537

ยูจิโร อิวากิสามารถเดินทางมาเมืองไทยได้ปีละ 3 ครั้ง โดยพักที่โรงแรมศรีกรุง จนเป็นขาประจำ เพราะเขามีรายได้จากการเขียนบทความให้กับหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ รวมทั้งการบรรยายเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทย ถ้าเป็นสถาบันของเอกชนจะได้ชั่วโมงละ 6 พันบาท ส่วนค่าเรื่องนั้น ขึ้นกับว่าเป็นหนังสือฉบับไหน อย่างเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์Asahi shimbuw ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ จะให้ค่าเรื่อง 16,000 บาท  แต่บางฉบับก็ได้น้อยเช่น เรื่อง “เมนามึ  โนะ ซังเงะสึ” ที่สุชาติ สวัสดิ์ศรี ตั้งชื่อไทยให้ว่า“คู่เวร” ได้ค่าเรื่องตอนละ 500 บาท โดยความยาวแต่ละตอนเทียบได้กับ 2 หน้าพ็อกเก็ตบุ้ค

 นอกจากยูจิโร อิวากิ รักภาษาไทยแล้ว เขายังชอบเมรัยของไทย เขาจะดื่มเบียร์ตราสิงห์ 1 ขวดในตอนกลางวัน พอตกกลางคืนดื่มรีเจนซี่ครึ่งแบน แต่ไม่สูบบุหรี่ ทุก ๆ วันมีเขาความสุขกับการทำงาน เหนื่อยก็พักผ่อน ครั้งที่พบกันตอนเขาอายุ 71 ปี แม้จะอายุมาก แต่สุขภาพดีเยี่ยม เพราะเขาออกกำลังกายด้วยการเดินในตอนเช้าวันละ 5-6 กิโลเมตร แล้วกลับไปวิดพื้นอีกเซ็ทละ 30 ครั้ง 7  เซ็ท

ยูจิโร อิวากิ มีชื่อเป็นภาษาไทยว่า“วีรชัย ณโตเกียว”โดยสุชาติ  สวัสดิ์ศรี เป็นคนตั้งชื่อ “วีรชัย”ให้ ครั้งที่เป็นบรรณาธิการสังคมศาสตร์ปริทัศน์  ซึ่งรู้จักกันครั้งเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เพื่อเล่นคำให้พ้องกับคำว่า “วีรชน”ในห้วงเวลานั้น ส่วนนามสกุล“ณ โตเกียว”เขาเป็นคนตั้งเอง

ก่อนไหว้อำลาที่โรงแรมศรีกรุง ยูจิโร อิวากิ ให้หนังสือผมพร้อมเหล้าสาเก ผมให้เขาเซ็นชื่อในหนังสือและที่ขวดเหล้าสาเกด้วย เขาให้ผมชิมดู บอกว่าไม่เมาหรอก เหล้าสาเกมีแอลกอฮอล์น้อยแค่ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ ผมจึงชิมดู รสหอมอร่อยมาก

อีกไม่กี่ปีต่อมา วัฒน์  วรรลยางกูรส่งข่าวบอกว่า นัดกับยูจิโร อิวากิ ที่ร้านสิงห์สาโท ซึ่งเป็นร้านของน้องชาย ย่านอรุณอัมรินทร์ ในเวลานั้นเป็นร้านยอดนิยมของนักเขียนและศิลปิน เขาเอาเหล้าสาเกมาฝากด้วย  ผมรินไวน์แดงยี่ห้อริเวอร์แควร์ ไวน์ต้อนรับเขา เขาออกปากชมว่าอร่อย

เมื่อประมาณ 5-6 ปีก่อนได้ข่าวว่ายูจิโร อิวากิในวัย 80 มีสุขภาพไม่ดีนัก มีอาการเกี่ยวกับหัวใจ ก็เป็นธรรมดาของคนเรา สังขารย่อมเสื่อมถอยไปตามวัย  หากแม้วันเวลาจะผ่านไปเนิ่นนานแค่ไหน ผมยังจำภาพชายชาวญี่ปุ่น ใบหน้าอิ่มรอยยิ้ม ผู้ที่รักภาษาไทยและวรรณกรรมไทยยิ่งกว่าคนไทยบางคน ดังสสโลแกนของเขา...

“ฉันรักวรรณกรรมไทย ฉันรักภาษาไทย ฉันชื่อวีรชัย   ณ โตเกียว”

“มีดเล่มเล็ก ๆ ปักคาอก”(ภาษิตญี่ปุ่น)”