ในช่วงเวลาที่จะต้องมีการเสียภาษีของเราๆท่านๆ มีความเคลือนไหวที่สำคัญที่เสาชิงช้า ของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือกทม. ในการจัดการจัดเก็บภาษี ทั้งการแก้ไขปัญหาการหลบเลี่ยงภาษี และการขยายอำนาจในการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ กทม.ตั้งเป้าเก็บภาษีปีนี้ให้ได้มากกว่าปี 2565 โดยมีการตั้งคณะกรรมการจัดหารายได้ช่องทางอื่นเพิ่มเติม ซึ่งเป็นเรื่องที่คนกรุงเทพฯต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ดังนี้
-ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีดังกล่าวถือเป็นรายได้หลักของกทม. ปัจจุบันเก็บข้อมูลพื้นฐานสิ่งปลูกสร้างได้ 96% แบ่งเป็นที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง รวมถึงคอนโดมิเนียม และเก็บข้อมูลเข้าระบบจัดเก็บภาษีแล้ว 100% อยู่ระหว่างเร่งรัดในการเก็บภาษี เนื่องจากปัญหาที่พบคือ การลดภาษีตามนโยบายของรัฐบาล มีผลกระทบต่อรายได้กทม. ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่เขตราชเทวี พบว่า มีที่ดินแห่งหนึ่งขนาด 7 ไร่ จากการคำนวณกทม.สามารถจัดเก็บภาษีที่ดินได้ 4,000,000 บาท แต่ที่ดินดังกล่าวมีการปลูกต้นไม้เพื่อดัดแปลงให้เป็นพื้นที่การเกษตรเพื่อเลี่ยงภาษี ไม่ใช่พื้นที่การเกษตรโดยเกษตรกรตัวจริง ทำให้ กทม.จัดเก็บภาษีได้เพียง 300,000 บาทจึงมอบหมายให้รองผู้ว่าฯกทม.ที่รับผิดชอบเรื่องจัดเก็บรายได้ ประเมินที่ดินที่มีการดัดแปลงเป็นพื้นที่การเกษตรเพื่อหลบเลี่ยงภาษีทั้งหมด ตรวจสอบว่ามีการทำเกษตรจริงหรือไม่ และมีทั้งหมดกี่ไร่ รวมถึงทำให้ กทม.ขาดรายได้เท่าไหรเพื่อนำตัวเลขแจ้งต่อรัฐบาลต่อไป โดยคาดว่าจะมีมูลค่าถึงหลัก 100 ล้านบาท
-ภาษีป้ายและค่าธรรมเนียมรถยนต์ กรมขนส่งทางบกเป็นผู้จัดเก็บให้ กทม. ซึ่งเคยจัดเก็บได้สูงสุดประมาณ 13,000 ล้านบาท แต่ในช่วงโควิดที่ผ่านมาจัดเก็บได้ลดลงเหลือ 12,000 ล้านบาท จึงจะทำ MOU ร่วมกับกรมขนส่งทางบกเพื่อ กทม.จะช่วยติดตามทวงถามผู้ที่ไม่ยอมเสียภาษีป้ายฯ ดังนั้น กทม.จะขอข้อมูลจากกรมการขนส่งทางบก เพื่อออกจดหมายติดตามทวงถามต่อไป
นอกจากนี้ จะมีการแก้กฎหมายเพื่อให้กทม.มีอำนาจการเก็บภาษีเพิ่มขึ้น เช่น ภาษียาสูบ ภาษีโรงแรม และภาษีน้ำมันซึ่งภาษีน้ำมัน กทม.มีการจัดเก็บอยู่แล้วแต่อยู่ในอัตราต่ำ ต้องมีการปรับให้สอดคล้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ตามกฎหมาย พ.ร.บ.กระจายอำนาจ รวมถึง มีแนวทางเรื่องการจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่าง ภาษีสำหรับผู้ที่สร้างมลพิษ ตามโมเดลของกรุงลอนดอน ซึ่งมีการจำกัดโซนมลพิษต่ำ โดยรถยนต์ที่สร้างมลพิษเกินกำหนดต้องเสียภาษีหรือค่าธรรมเนียมเพิ่ม ในการเข้าพื้นที่มลพิษต่ำตามโซนที่กำหนดไว้ เพื่อควบคุมฝุ่น PM2.5
ถือเป็นเรื่องที่คนกรุงเทพฯต้องสนใจ ติดตาม ทั้งผู้ที่มีหน้าที่ต้องจ่ายภาษีและผู้ที่ได้รับสวัสดิการ บริการและสิทธิประโยชน์ต่างๆในฐานะคนกรุงเทพฯ เพื่อยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ในทุกมิติ