ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 มีมติเห็นชอบนโยบายกำกับการนำเข้าเศษพลาสติกตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและราคาเศษพลาสติกในประเทศ และเพื่อมิให้ประเทศไทยเป็นที่รองรับเศษขยะจากประเทศอื่น โดยให้กรมศุลกากร กรมการค้าต่างประเทศ และกระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายดังกล่าว
ต่อมาพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กในเรื่องดังกล่าวระบุถึงแนวทางในการดำเนินการตามมติครม.บางช่วงบางตอนระบุว่า“ผมมีเรื่องที่น่ายินดี แจ้งให้ทราบว่าประเทศไทยจะไม่ถูกมองว่าเป็น "ถังขยะโลก" จากการนำเข้าขยะพลาสติกจากประเทศอื่นอีกต่อไป โดยในช่วง 2 ปีนับจากนี้ จนถึงสิ้นปี 2567 รัฐบาลจะคุมเข้ม และห้ามนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศ แล้วหันมาส่งเสริมการรีไซเคิลขยะพลาสติกในประเทศมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแทน เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนชาวไทย ที่เป็นปัญหามาอย่างยาวนาน
โดยรัฐบาลได้ใช้ความพยายามแก้ปัญหานี้ มาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การบูรณาการกัน อย่างน้อยจาก 4 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงมหาดไทย ในการจัดทำ Roadmap การจัดการขยะพลาสติกอย่างครบวงจร และเป็นขั้นเป็นตอน โดยยึดหลักความจำเป็น - เหมาะสม - คุ้มค่า ควบคู่กับการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเป็นสำคัญ แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 ช่วงปี 2562-2563 เป็นการปรับลดการนำเข้าขยะพลาสติกจากต่างประเทศ สำหรับป้อนเป็นวัตถุดิบโรงงานอุตสาหกรรมใน "พื้นที่ทั่วไป" เพื่อการผลิต-แปรรูป แล้วส่งออกเท่านั้น ส่งผลให้ตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 จนถึงปัจจุบัน การนำเข้าขยะพลาสติกจากต่างประเทศ เข้ามาในพื้นที่ทั่วไปนี้เป็น "ศูนย์" และมุ่งส่งเสริมให้ใช้พลาสติกรีไซเคิลในประเทศแทน
ระยะที่ 2 ช่วงปี 2566-2567 เป็นการต่อยอด การจำกัดการนำเข้าขยะพลาสติกจากต่างประเทศ เพื่อเป็นวัตถุดิบสำหรับ 14 โรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับอนุญาตมาก่อนแล้ว ใน "พื้นที่เขตปลอดอากร" เพื่อการผลิตแล้วส่งออกเท่านั้น และเมื่อถึงสิ้นปี 2567 ก็จะไม่มีการนำเข้าขยะพลาสติกจากนอกประเทศอีกต่อไป
ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ รัฐบาลได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำกับดูแลในส่วนที่รับผิดชอบอย่างเคร่งครัด ได้แก่
(1) การกวดขัน-ตรวจสอบการลักลอบนำเข้าขยะพลาสติกผิดกฎหมาย
(2) การควบคุมปริมาณการนำเข้าจากต่างประเทศ ให้สมดุลกับการรีไซเคิลขยะพลาสติกในประเทศ
(3) การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนากระบวนการรีไซเคิล
(4) การส่งเสริมการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง รวมทั้งการสร้างเครือข่ายร้านรับซื้อของเก่า-ซาเล้งให้เข้าสู่วงจรการใช้ประโยชน์ขยะรีไซเคิลให้มีประสิทธิภาพ
(5) การกำกับดูแลกระบวนการผลิต-แปรรูปขยะพลาสติกเพื่อการส่งออก ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อชุมชนและประชาชน…”
ถือเป็นก้าวสำคัญในการควบคุมมลพิษ หากทำได้ตามกระบวนการก็น่าจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในประเทศ อย่างไรก็ตามฝากรัฐบาลใหม่ เข้ามาควบคุมขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีการเผากันในเขตเมืองอุตสาหกรรม เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมให้คนรุ่นเราและรุ่นถัดไป