รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์

ประธานที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

ปฏิทินเลือกตั้งทั่วไป 2566 ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เคาะไว้คือวันอาทิตย์ที่ 7 พ.ค. 2566 นักการเมือง ผู้ประสงค์จะลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. มีเงื่อนไขว่าต้องสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองภายใน 30 วัน ส่วนกรอบเวลาที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมืองจะแข่งขันหาเสียงเลือกตั้งกันอย่างดุเดือดเข้มข้นก็คงเป็นช่วงเดือนมี.ค. เป็นต้นไปถึงเดือนเม.ย.  

ปัจจัยใดบ้างที่มีอิทธิพลต่อคะแนนนิยม/คะแนนเสียงที่สามารถชี้ชะตาการตัดสินใจเลือก ส.ส.

ตัวผู้สมัคร นอกจากภูมิหลังที่เป็นคุณสมบัติด้านการศึกษา ฐานะ อาชีพ/หน้าที่การงาน ประสบการณ์ อายุ เพศสภาพ และบุคลิกส่วนตัวแล้ว ภูมิหลังครอบครัวก็ถือว่าสำคัญมาก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากว่าเป็นนักการเมืองที่มาจากทายาททางการเมืองตระกูลดังก็จะมีผลสำคัญต่อชัยชนะในการเลือกตั้ง

ความเป็นทายาททางการเมืองกลายเป็นความได้เปรียบเสียเปรียบในเกมเลือกตั้งของการเมืองไทยที่ห้ามมองข้าม เพราะนักการเมืองแม้ว่าจะเป็นหน้าใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่สนามการเมือง แต่ถ้ามาจากทายาทตระกูลการเมืองดังก็สามารถ “ล้มคว่ำ” นักการเมืองหน้าเก่า ๆ ก็มีให้เห็นกันอยู่

เมื่อตัวผู้สมัครมีผลต่อพื้นที่นั่งในสภาทำให้สถานการณ์การแย่งตัวผู้สมัครเข้าสังกัดพรรคการเมืองเกิดขึ้น การตัดแบ่งเกรดนักการเมืองออกเป็นกลุ่ม A+ A B และ C ก็กลายเป็นข่าวที่เห็นกันถี่ ๆ รัว ๆ ยิ่งก่อนที่จะถึงวันปิดรับสมัครเลือกตั้ง ดังเช่นพาดหัวข่าวของกรุงเทพธุรกิจเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา “2 ตระกูลใหญ่ การเมืองระอุ ศึกเลือกตั้ง 2566 จ.เลย มวยสดกับมวยเก๋า”

พรรคการเมืองที่สังกัด พรรคการเมืองมีหน้าที่เป็น “ผู้จัดการ” คอยเสนอชื่อและจัดรายชื่อผู้ลงสมัคร ส.ส. กำหนดอุดมการณ์ จุดยืน และนโยบายหาเสียง วางแนวทางการหาเสียงในนามของผู้สมัครรับเลือกตั้ง การหาพันธมิตรหรือแนวร่วมทางการเมือง การระบุตัวตนของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง และการตรวจสอบการเลือกตั้ง กิจกรรมที่พรรคการเมืองทำส่งอิทธิพลต่อการเลือกตั้ง และนโยบายที่ออกโดยรัฐบาล ทำให้ช่วงก่อนการเลือกตั้งจะได้เห็นข่าวทั้งข่าวจริงและข่าวลวงเกี่ยวกับการย้ายพรรคการเมืองและการดูดนักการเมืองกันเป็นว่าเล่น

วิธีการรณรงค์หาเสียง การหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. ในประเทศไทยมีอิทธิพลต่อการเลือกตั้งสูง เพราะการรณรงค์หาเสียงทำให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการเลือกตั้งยิ่งขึ้น ให้ความสนใจต่อนโยบายหาเสียงและตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งมากขึ้น นอกจากนี้การหาเสียงยังส่งผลต่อการให้ความช่วยเหลือหรือเงินสนับสนุนของผู้สนับสนุนพรรค การเปลี่ยนกระแสความคิดเห็นที่มาจากผลโพล การรายงานข่าวของสื่อ และชัยชนะที่จะได้เป็น ส.ส.ดังหวังหรือไม่

หัวคะแนน หัวคะแนนมีความสำคัญต่อการเมืองและการเลือกตั้ง ส.ส. ของบ้านเรา เพราะหัวคะแนนเป็นคนในท้องถิ่น ที่มีความคุ้นเคยกันดี เป็นที่เคารพรักและไว้วางใจของคนในชุมชน ยิ่งไปกว่านั้นหัวคะแนนยังมีอิทธิพลสูงมากในกลุ่มผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่ยังไม่ตัดสินใจโดยสามารถใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวโน้มน้าวใจให้ไปเลือก ส.ส. ที่หัวคะแนนให้การสนับสนุนอยู่ ไม่เป็นการกล่าวเกินจริงแต่อย่างใดว่า “หัวคะแนน” เป็นส่วนหนึ่งของการชี้เป็นชี้ตายของการเลือกตั้งไทยทุกครั้งก็ว่าได้

แฟนคลับการเมือง อิทธิพลของแฟนคลับการเมืองโดยเฉพาะบนโซเชียลมีเดียเป็นสิ่งที่นักการเมืองทุกรุ่นห้ามมองข้ามเช่นกัน เพราะการมีส่วนร่วมทางการเมืองแบบเจาะกลุ่มเข้าถึงตัวต่อตัวทำให้สถานการณ์การเมืองพลิกผันง่ายมาก การแชร์ข้อมูลที่ทำได้เร็ว กว้าง และไกลไม่ว่าจะเป็นข้อมูลตัวผู้สมัคร นโยบาย หรือการช่วยหาเสียงทำให้การเมืองอ่อนไหวง่ายอยู่แล้วยิ่งหนักกว่าเก่า สำหรับแพลตฟอร์มที่นิยมของแฟนคลับก็แตกต่างไปตามช่วงอายุจึงต้องรู้และเล่นให้เป็นทุกแพลตฟอร์ม

การรายงานข่าวของสื่อ การรายงานข่าวเกี่ยวกับผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมืองมีอิทธิพลต่อกระบวนการตัดสินใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในประเทศไทยอย่างแน่นอน หากนักการเมืองหรือพรรคการเมืองใดเป็นข่าวมาก สื่อก็ทำข่าวมาก ประชาชนก็จะรู้จักมาก การรายงานข่าวไม่ว่าจะเชิงบวกหรือเชิงลบมีผลต่อการรับรู้เกี่ยวกับตัวผู้สมัคร พรรค และนโยบาย ยิ่งช่วงหลายปีที่ผ่านมาการเมืองไทยแตกขั้วกันชัดเจน สื่อก็มักถูกหาว่าเลือกข้าง ไม่เป็นกลาง ดังนั้นประชาชนผู้เสพข่าวก็ต้องรู้เท่าทันสื่อ

ผลโพล ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ส.ส. ก็ต้องมีการทำโพลเลือกตั้งเพื่อทำนายว่าใครจะได้เป็น ส.ส. แต่การทำโพลหลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมาในระยะหลังแม้ว่าจะอิงกับหลักการทางวิทยาศาสตร์ แต่ผลโพลจากสำนักโพลต่าง ๆ ถึงกลับต้องม้วนเสื่อไปหลายรอบ เพราะผลโพลพลิกไม่ตรง คะแนนนิยมกับคะแนนเสียงเลือกตั้งจริงสวนทางกัน อดีตผลโพลอาจมีอิทธิพลชี้นำการเลือกตั้ง แต่ ณ วันนี้ คงไม่ใช่

ทุกวันนี้การเมืองไม่ใช่แค่การซื้อเสียง แต่มีปัจจัยแทรกอื่น ๆ ที่มีอิทธิพลต่อคะแนนนิยมและคะแนนเสียง ประชาชนต้องรู้เท่าทันเกมการเมืองที่ก้าวหน้าไปหลายขั้น การเมืองในการเลือกตั้งทั่วไป 2566 ต้องไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง ต้องไม่ใช่แค่การยุบสภา และการเมืองต้องไม่บูมเพียงเพื่อการเลือกตั้ง แต่การเมืองต้องมีอะไรมากกว่านั้น...