เข้าสู่ช่วงช่วงการเสียภาษีเงินได้ประจำปี ที่จะสิ้นสุดในเดือนมีนาคม จึงมีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับภาษีมาสะท้อนให้เราๆท่านๆ ได้ทัศนา โดยตัวเลขการจัดเก็บภาษี เป็นตัวเลขที่รัฐบาลหยิบยกเป็นมาเป็นตัวเลขสะท้อนเศรษฐกิจ นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยกรายงานจากกระทรวงการคลัง ถึงตัวเลขการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรในระยะเวลา 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 ตั้งแต่ ตุลาคม 2565 ถึง มกราคม 2566 สามารถจัดเก็บภาษีเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้กว่า 6 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่จะมาจากการเก็บภาษีนิติบุคคล และมูลค่าเพิ่มเป็นหลัก ซึ่งสะท้อนการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ และการบริโภคในประเทศ
ทั้งนี้ในส่วนช่วง 3 เดือน ของไตรมาสแรกประจำปีงบประมาณ 2566 (ตุลาคม-ธันวาคม 2565) รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิ เป็นจำนวนถึง 6.33 แสนล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ถึง 13.2% ซึ่งเฉพาะกรมสรรพากรสามารถจัดเก็บรายได้ได้มากถึง 4.46 แสนล้านบาท โดยเกินจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ถึง 10% สะท้อนให้เห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศไทย ทั้งจากภาคธุรกิจ การท่องเที่ยว อุตสาหกรรม การจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ ทำให้มีเงินสะพัดหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ทั้งนี้ กระทรวงการคลังคาดการณ์ว่า ในปี 2566 ระบบเศรษฐกิจจะขยายตัวเพิ่มขึ้นที่ 3.8% จากอุปสงค์ภายในประเทศ รวมถึงภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว
สำหรับในปีงบประมาณ 2566 นี้ หน่วยงานต่าง ๆ ที่เก็บภาษี กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และ กรมศุลกากร ได้ดำเนินการตามแผนนโยบายของรัฐบาล และติดตามสถานการณ์การจัดเก็บภาษีอย่างต่อเนื่อง โดยภายในปีงบประมาณ 2566 รัฐบาลตั้งเป้าการเก็บภาษีไว้ที่ 2.49 ล้านล้านบาท ซึ่งจากปริมาณการเก็บภาษีในไตรมาสแรกที่เกินเป้า คาดว่าในปีนี้ทั้งปีจะสามารถจัดเก็บภาษีได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้ และกรมสรรพากรดำเนินการตามแนวทางของนายกรัฐมนตรี ให้มีแผนการที่จะเพิ่มการจัดเก็บภาษี โดยการดึงธุรกิจเกิดใหม่หลายๆประเภท เช่น การค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์อินฟลูเอนเซอร์ เข้าสู่ระบบภาษี เพื่อให้สามารถจัดเก็บรายได้ได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย
นายลวรรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า กรมสรรพากรได้จัดตั้งกองสำรวจและติดตามธุรกิจนอกระบบ เพื่อทำหน้าที่ในการตรวจสอบคนหรือธุรกิจที่อยู่นอกระบบภาษีให้เข้ามาอยู่ในระบบภาษีอย่างถูกต้องมากขึ้นจากภาพรวมปีงบประมาณ 2565 พบว่า มีจำนวนผู้ประกอบการด้านค้าขายออนไลน์เข้าสู่ระบบ มากถึง 2 แสนราย โดยกลุ่มธุรกิจนอกระบบเป็นกลุ่มที่มีรายได้ค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะเป็น แม่ค้าออนไลน์ การไลฟ์สดขายของ อินฟลูเอนเซอร์ ยูทูบเบอร์ เป็นต้น บุคคลเหล่านี้ถือว่ามีส่วนช่วยให้รายได้ภาษีขยายตัวตามสิ่งที่ควรจะเป็น
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือไปจากการติดตามธุรกิจนอกระบบแล้ว สิ่งที่ต้องติดตามอย่างจริงจังของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ การป้องกันและติดตามการซุกทรัพยสิน เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีของบรรดาเศรษฐีบางคน ทั้งในและนอกประเทศ ที่จะต้องตามเส้นทางเงินกลับคืนสู่ประเทศชาติ เพื่อที่จะได้นำเงินเหล่านั้นมาช่วยเสริมสร้างสวัสดิการให้ประชาชน